บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

พุทธ ๓ ระดับ

พุทธ ๓ ระดับ

————-

ในการปฏิบัติกิจทางพระศาสนา ผมใคร่ขอเชิญชวนให้ขบคิดถึงคำ ๓ คำ คือคำว่า กิจกรรม กิจวัตร และ วิถีชีวิต

……………………………………….

กิจกรรม = ทำตามโอกาส มีกำหนดเริ่มต้นและกำหนดจบ

กิจวัตร = ทำสม่ำเสมอ

วิถีชีวิต = ทำจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นเนื้อเป็นตัวของชีวิต

……………………………………….

ขออธิบายการนำไปใช้จริงด้วยตัวอย่าง 

เช่น การใส่บาตร (ภาษาที่ถูกแบบแผนว่า “ตักบาตร” ในที่นี้ขอใช้ว่า “ใส่บาตร” ตามภาษาพูด)

๑ ในขั้น “กิจกรรม” : มีการประกาศเชิญชวนนัดหมายให้ไปร่วมกิจกรรมใส่บาตร ณ สถานที่นั้น เวลาเช้าของวันนั้น ผู้สมัครใจไปหรืออยู่ในฐานะ “ต้องไป” ก็จะพากันไปร่วมกิจกรรม ใส่บาตรเสร็จแล้วก็แยกย้ายกันกลับ ถือว่าจบกิจกรรม

คนส่วนมากเข้าใจว่าตนได้ทำบุญใส่บาตรแล้ว แค่นั้นพอแล้ว ถ้ามีกิจกรรมเช่นนั้นอีกก็ค่อยทำอีก ไม่มีใครจัดกิจกรรมใส่บาตรอีก ก็ไม่ใส่ 

นี่คือทำความดีในระดับ “กิจกรรม” 

๒ ในขั้น “กิจวัตร” : บางคนใส่บาตรทุกเช้า ไม่ใช่ใส่เฉพาะวันที่มีการจัดกิจกรรม คือจะมีใครจัดกิจกรรมหรือไม่มีก็ใส่ทุกวันอยู่แล้ว ไม่ได้ใส่ตามกิจกรรมที่จัด แต่ใส่เป็นกิจวัตรประจำวัน

นี่คือทำความดีในระดับ “กิจวัตร” เป็นความดีที่สูงขึ้นมา 

แต่ก็ยังตกอยู่ในข้อจำกัด เช่น ทำได้เฉพาะวันที่สะดวก วันไหนไม่สะดวกก็อาจจะไม่ได้ทำ และทำเฉพาะเรื่องใส่บาตร เรื่องอื่นไม่ได้ทำ

๓ ในขั้น “วิถีชีวิต” : คือขั้น “ถอดความ” ออกมาได้ว่า “ใส่บาตร” ก็คือ “ทานมัย” คือทำความดีด้วยการให้ 

เมื่อถอดหัวใจออกมาจนเห็นชัดเช่นนั้น ก็พัฒนาจิตใจตัวเองให้เป็นคนชอบให้ ชอบเอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้อื่น ไม่ว่าจะด้วยวัตถุสิ่งของหรือโดยการช่วยอำนวยประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ตามกำลังสามารถ ไม่ใช่จำกัดทำเพียงใส่บาตรอย่างเดียว

นี่คือทำความดีในระดับ “วิถีชีวิต” ซึ่งเป็นระดับที่กว้างขวางที่สุด 

จะมีกิจกรรมใส่บาตรหรือไม่มีก็ไม่สำคัญ 

จะสะดวกใส่บาตรเป็นกิจวัตรทุกวันหรือไม่สะดวกก็ไม่เป็นปัญหา 

เพราะใช้ชีวิตทั้งชีวิตไปเพื่อเอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้อื่นตลอดเวลาอยู่แล้ว 

การทำความดีอื่นๆ เช่นการปฏิบัติสมถวิปัสสนาที่นิยมเรียกกันว่า “นั่งสมาธิ” หรือ “ปฏิบัติธรรม” ก็ใช้หลักการเดียวกันนี้ 

เช่น ที่ไหนประกาศจัดให้มีปฏิบัติธรรม ๓ วัน ๗ วัน ก็ไปปฏิบัติกับเขา ครบกำหนดแล้วก็เลิกปฏิบัติ 

อย่างนี้ก็ได้แค่ระดับ “กิจกรรม” ยังไม่ถึงขั้น “กิจวัตร” และยังห่างไกลขั้น “วิถีชีวิต” – อย่างนี้เป็นต้น

การปฏิบัติกิจทางพระศาสนาต้องถึงขั้น “วิถีชีวิต” จึงจะเป็นการปฏิบัติที่มั่นคงยั่งยืน

ญาติมิตรแต่ละท่านลองสำรวจตัวเองดูเถอะครับ

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๑ มกราคม ๒๕๖๕

๑๐:๓๐

…………………………………………….

พุทธ ๓ ระดับ

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *