บาลีวันละคำ

รยางค์ (บาลีวันละคำ 3,550)

รยางค์

มาอย่างไร?

ในภาษาไทยมีคำว่า “ระโยงระยาง” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ระโยงระยาง : (คำนาม) สายที่โยงหรือผูกไว้ระเกะระกะ เช่น สายไฟระโยงระยางเต็มไปหมดน่ากลัวอันตราย.”

ภาษาไทยเขียนว่า “-ระยางระ– มีสระ อะ และ –ยาง ไม่มี ค์ การันต์

นอกจากนี้ยังมีคำว่า “ระโยง” คำเดียวอีกคำหนึ่ง พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –

ระโยง : (คำนาม) สายโยงเสากระโดงเรือ.”

เป็นอันว่า “ระโยง” และ “ระโยงระยาง” ในภาษาไทย หมายถึง สายไฟหรือเชือกที่ผูกขึงไว้ระเกะระกะ-ทำนองนั้น

แล้ว “รยางค์” มาอย่างไร?

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “รยางค์” บอกไว้ว่า –

รยางค์ : (คำนาม) ส่วนที่ยื่นออกจากส่วนหลักของอวัยวะของสิ่งมีชีวิต เช่น หนวดของแมลง ครีบปลา แขน ขา. (อ. appendage).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า คำนี้เทียบกับคำอังกฤษว่า appendage

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล appendage เป็นไทยว่า เพิ่มเติม, แนบท้าย, ห้อยท้าย, ติด, ประทับ (ตรา), สิ่งติดต่อ, สาขา, แขนขา

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล appendage เป็นบาลีว่า: 

anubandha อนุพนฺธ (อะ-นุ-พัน-ทะ) = “ตามผูก” “ตามติด” “ติดตาม” > ส่วนน้อยที่ติดอยู่กับส่วนใหญ่ 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุพนฺธ” ว่า bondage (ความผูกพัน)

อนุพนฺธ” คำกริยาสามัญเป็น “อนุพนฺธติ” (อะ-นุ-พัน-ทะ-ติ) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า to follow, run after, pursue (ติดตาม, วิ่งตาม, ไล่ตาม)

รยางค์ = appendage

appendage = อนุพนฺธ

อนุพนฺธ = bondage

bondage = ความผูกพัน

ยิ่งตามไป ก็ดูเหมือนจะยิ่งห่างไปจาก “รยางค์

พจนานุกรมฯ เทียบ “รยางค์” กับคำอังกฤษ แต่ไม่ได้บอกว่า “รยางค์” เป็นภาษาอะไรหรือมาจากภาษาอะไร ลักษณะการสะกดคำที่มี ค การันต์ ชวนให้เข้าใจว่ามาจากบาลีสันสกฤต

ถ้ามาจากบาลี “รยางค์” เทียบเป็นบาลีก็ควรจะเป็น “รยงฺค” อ่านว่า ระ-ยัง-คะ แยกศัพท์เป็น รย + องฺค

(๑) “รย

อ่านว่า ระ-ยะ รากศัพท์มาจาก รยฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย

: รยฺ + = รย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะเป็นเหตุให้ไปถึง

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “รย” ว่า ระยะ, ความเร็ว, ช่วงเวลา 

ตามคำแปลนี้แสดงว่า “ระยะ” ที่เราใช้กันในภาษาไทยมาจากคำบาลีว่า “รย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “รย” ว่า speed (ความเร็ว) และบอกว่า lit. current (ตามตัว. กระแส)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “รย” บอกไว้ดังนี้ –

รย : (คำนาม) ฝีเท้า, ความเร็ว; กระแสน้ำ; speed, velocity; the current of a river.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ระยะ : (คำนาม) ช่วง, ตอน, เช่น ระยะเวลา ระยะทาง ระยะนี้ฝนตกชุก.”

โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “ระยะ” มาจากคำบาลีสันสกฤตว่า “รย” และไม่ได้บอกว่ามาจากภาษาอะไร ดังจะให้เข้าใจว่า “ระยะ” เป็นคำไทย

(๒) “องฺค” 

อ่านว่า อัง-คะ รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + (อะ) ปัจจัย

: องฺคฺ + = องฺค แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” คือทำให้รู้ต้นกำเนิด (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นอวัยวะ” 

องฺค” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีหมายถึง ส่วนของร่างกาย, แขนขา, ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ, เหตุ, เครื่องหมาย (part of the body, a limb, part, member, cause, reason, status symbol); ส่วนประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือขององค์ (a constituent part of a whole or system or collection)

รย + องฺค = รยงฺค (ระ-ยัง-คะ) แปลตามศัพท์ว่า “องค์แห่งความเร็ว” 

ตามคำแปลนี้ ยังไม่เห็นวี่แววว่า “รยงฺค” จะไปเป็น “รยางค์” ที่หมายถึง “ส่วนที่ยื่นออกจากส่วนหลักของอวัยวะของสิ่งมีชีวิต” ตามคำนิยามในพจนานุกรมฯ ได้อย่างไร

คงต้องทิ้งให้เป็นปัญหาไว้แต่นี้ก่อน 

จะเห็นได้ว่า เรียนบาลีก็มีปัญหาให้ต้องแก้อยู่ตลอดเวลา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: การไม่ก่อปัญหา

: คือการช่วยแก้ปัญหา

(ดูเหมือนใครคนหนึ่งจะว่าไว้อย่างนั้น)

#บาลีวันละคำ (3,550)

2-3-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *