อย่าให้เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์
อย่าให้เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์
—————————–
ภาพประกอบเรื่องนี้ถ่ายไว้จากการร่วมมือกันปฏิบัติงานบุญธรรมทานที่บ้านผมเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ในการจัดส่งหนังสือ “พิธีกรควรรู้”
ในภาพเป็นการช่วยกันดำเนินกรรมวิธีเตรียม “จ่าหน้าซอง” บรรจุหนังสือเข้าซอง ประทับตราชื่อและที่อยู่ “ผู้ส่ง” ประทับตรา “สิ่งตีพิมพ์” ปิดแสตมป์
“พิธีกรควรรู้” พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ ล่าสุด ๑,๐๐๐ เล่ม หมดเกลี้ยงแล้วอย่างรวดเร็ว แต่ยังมีผู้แสดงความจำนงเข้ามาอยู่เรื่อยๆ
—————–
ขออนุญาตเล่าถึงบรรยากาศและความเป็นไปเล็กๆ น้อยๆ พอให้เห็นแนวคิด
ผมเขียนหนังสือมาหลายเล่ม ทุกเล่มตั้งใจพิมพ์เป็นธรรมทาน ไม่พิมพ์ขาย มีบางเล่มที่พรรคพวกซึ่งทำโรงพิมพ์เอาไปพิมพ์ขาย แต่น้อยอย่างยิ่ง
มีญาติมิตรเสนอแนะว่า ถ้าบริหารจัดการดีๆ หนังสือที่ผมเขียนก็จะเผยแพร่สู่ตลาดหนังสือได้ และยังคงแจกเป็นธรรมทานไปได้ด้วยพร้อมๆ กัน
อย่าง “พิธีกรควรรู้” นี่ ถ้าพิมพ์ขายน่าจะขายดีพอๆ กับหนังสือประเภท “มนต์พิธี” – อะไรประมาณนั้น
ฟังแล้วก็ครึ้มดี
อันที่จริงผมก็ค่อนข้างเห็นด้วย แต่ผมไม่มีพรสวรรค์ในทางทำตลาดหนังสือ คือไม่ถนัดพิมพ์ขาย แต่ถนัดพิมพ์แจกมากกว่า
ผมโชคดีอย่างหนึ่งคือ ได้รับพระราชทานบำนาญพอยังชีพอยู่ได้ จึงไม่มีปัญหาที่จะต้องทำงานหาเงินเลี้ยงชีพ
…………….
แวะตรงนี้นิดหนึ่ง
คำว่า “ได้รับพระราชทานบำนาญ” นี้ผมจำมาจากท่านอาจารย์แย้ม ประพัฒน์ทอง ท่านพูดให้ฟังตั้งแต่สมัยที่ท่านเกษียณอายุราชการ
ประมาณว่า-คงจะมีคนสงสัยว่า ข้าราชการทั่วไปได้รับเงินบำนาญหลังเกษียณ จะใช้คำว่า “ได้รับพระราชทาน…” ได้หรือ เพราะฟังดูชวนให้เข้าใจว่าพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านายผู้ใหญ่ “พระราชทาน” ลงมาโดยตรง ซึ่งก็รู้กันว่ามิใช่เช่นนั้น
ท่านอาจารย์แย้มอธิบายว่า
เงินบำนาญนั้นเป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน
เงินงบประมาณแผ่นดินที่เอามาจ่ายเป็นเงินบำนาญนั้นจะต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ
พระราชบัญญัตินั้นพระเจ้าแผ่นดินจะต้องทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วพระราชทานลงมา
เพราะฉะนั้น เงินบำนาญจึงเป็นเงินที่ “พระราชทาน” ลงมาอย่างแน่นอน
ใครจะถียงก็เชิญ
…………….
ตัวเลขเงินบำนาญนั้นเหมือนอายุของสุภาพสตรี คือเขาไม่นิยมบอกกัน
ผมเคยเล่าแล้วว่า เงินบำนาญผมนั้นถ้าใครรู้แล้วจะสังเวชใจ แต่ผมยืนยันได้ว่าพอกินและมากพอทำบุญได้ทุกวัน
เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องทำงานหาเงินเลี้ยงชีวิต ความคิดที่จะ “พิมพ์หนังสือขาย” จึงไม่เกิด
มองจากจุดนี้จะเห็นความจริงข้อหนึ่งที่สำคัญมาก นั่นคือ คนที่จะทำงานการกุศลได้อย่างเป็นอิสระนั้น ชีวิตควรจะต้องปลอดจากปัญหาการทำงานหาเลี้ยงชีพ
หรือถึงจะยังต้องทำงานหาเงินเลี้ยงชีพอยู่ก็จริง แต่ก็ปลอดจากปัญหาหาได้ไม่ค่อยพอกิน คือมีความมั่นคงในอาชีพ มีงานทำได้ตลอดไป ไม่ต้องกลัวอดตาย
เมื่อไม่ต้องห่วงเรื่องอดตาย ความคิดจิตใจก็มุ่งไปทางการกุศลได้เต็มกำลัง
คนที่หมดห่วงเรื่องหาเงินแล้ว ส่วนมากมักจะเริ่มหาความสุขใส่ตัว เช่น หาความสุขกับการเดินทางท่องเที่ยว เล่นสนุก กินสนุก หรือทำกิจกรรมอะไรสักอย่างหรือหลายอย่างเพื่อความเพลิดเพลิน
หรือไม่ก็สุดโต่งไปอีกด้านหนึ่ง คือมีเงินมากแล้วแต่ยังไม่รู้จักพอ ใช้เงินเป็นฐานแสวงหาตำแหน่งและอำนาจ เพื่อเป็นทางกอบโกยความมั่งคั่งให้ได้มากขึ้นไปอีก
มีเหตุผลมากมายในการทำเช่นนั้น
แต่จะมีสักกี่คนที่ความคิดจิตใจมุ่งไปทางการกุศล-โดยเฉพาะการทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนร่วมโลกโดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน
ความจริงของโลกก็คือ ความมั่งคั่ง ตำแหน่ง อำนาจ ไม่ว่าจะเลอเลิศขนาดไหน เราจะเสพเสวยได้อย่างมากก็แค่ตายเท่านั้น ประจักษ์พยานมีให้รู้เห็นกันมาแล้วนักต่อนัก
แต่การทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนร่วมโลกนั้นเป็นของทิพย์ เสพเสวยได้เลยตายไปอีกยาวไกล
และโลกเราจะร่มเย็นเป็นสุข อบอุ่นน่าอยู่ ก็เพราะเรามีแก่ใจที่จะทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนร่วมโลกนั่นแหละเป็นสำคัญ
อันที่จริง ความจริงข้อนี้เราก็ล้วนแต่รู้กันแล้วทั้งนั้น
แต่ความรู้นั้นมันยังไม่ทะลุเข้าไปถึงก้นบึ้งของหัวใจ จึงคิดไม่เป็น เห็นไม่ชัด ทำไม่เป็น พอไม่เป็น หยุดไม่เป็น
ใครพอมีเวลาว่าง ก็จงใคร่ครวญดูจงมากเถิด
…………….
ผมโชคดีอีกอย่างหนึ่งคือสุขภาพร่างกายเป็นปกติดี ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ต้องกินยาใดๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องนัดกับหมอกับโรงพยาบาล
ถ้าเป็นรถก็คือรถไม่เสีย
เสียเวลาเพียงปรนนิบัติบำรุงดูแลรักษาไปตามปกติเท่านั้น
ไม่ต้องเสียเวลาซ่อม
ซึ่งทำให้มีเวลาทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนร่วมโลกได้เต็มที่
ผมไม่รู้ว่าโชคดีข้อนี้จะหมดลงเมื่อไร เพราะฉะนั้น ก็ต้องไม่ประมาท
…………….
โชคดีอีกอย่างหนึ่งซึ่งสมควรจะต้องกล่าวถึงด้วยก็คือ ไม่มีปัญหาในครอบครัว
ลูกเต้าเติบโต ทำมาหากินเลี้ยงตัวเองได้ดีหมดแล้วทุกคน และสมัครสมานสามัคคีช่วยเหลือเกื้อกูลดูแลกันและกันเป็นอันดี ซึ่งนับเป็นน้ำเลี้ยงหัวใจที่วิเศษอย่างยิ่ง
คู่ครอง-ที่ผมเรียกให้รู้กันทั่วไปว่า “อาจารย์ผู้หญิงที่บ้าน”-ท่านก็มีน้ำใจโอนไปในทางเดียวกัน
ญาติมิตรดูภาพประกอบก็จะเห็นว่า ท่านเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันเหมือนเป็นงานของท่านเอง
เรื่องอย่างนี้ถ้า “แม่บ้าน” ไม่เอาด้วย ก็คงไม่สนุก
สรุปว่า
ไม่ต้องกังวลเรื่องอดตาย ๑
สุขภาพร่างกายไม่เป็นอุปสรรคขัดขวาง ๑
คนรอบข้างไม่มีปัญหา ๑
ใครมีคุณสมบัติอย่างน้อย ๓ ข้อนี้ ย่อมสมควรแท้ที่จะคิดอ่านทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนร่วมโลกในทางใดทางหนึ่งที่ตนถนัด
จะได้ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๑
๑๐:๔๐
———–