บาลีวันละคำ

นิติรัฐ (บาลีวันละคำ 3,549)

นิติรัฐ

มัดมือกันด้วยกฎหมาย

อ่านว่า นิ-ติ-รัด

ประกอบด้วยคำว่า นิติ + รัฐ 

(๑) “นิติ” 

บาลีเป็น “นีติ” (นี-ติ, โปรดสังเกตว่า บาลีเป็น นี- ไม่ใช่ นิ-) รากศัพท์มาจาก นี (ธาตุ = บรรลุ, ถึง) + ติ ปัจจัย

: นี + ติ = นีติ แปลตามศัพท์ว่า “ข้อบัญญัติเป็นเครื่องบรรลุ” “เครื่องนำไปให้บรรลุ” หมายถึง กฎหมาย, กฎ, แบบแผน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นีติ” ว่า guidance, practice, conduct, right conduct, propriety; statesmanship, polity (การนำทาง, การปฏิบัติ, ความประพฤติ, ความประพฤติที่ถูกต้อง, การทำที่เหมาะที่ควร; การใช้วิธีปกครอง, การปกครองประชาชน)

โปรดสังเกตว่า ฝรั่งไม่ได้แปล นีติ ว่า law อย่างที่เรานิยมแปลกัน

บาลี “นีติ” สันสกฤตก็เป็น “นีติ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

นีติ : (คำนาม) การนำ, การจัด; การได้, การบันลุถึง; ราชนีติ, ราชรีติ, ราชยศาสนศาสตร์, ราชการยาณิ, ‘รัฐประศาสน์’ ก็ใช้โดยมตินิยม – เปนวิทยาอันกล่าวว่าด้วยการปกครอง, รวมทั้งประโยคจรรยามรรยาททั่วไป, ทั้งพระผู้เปนเจ้าเปนใหญ่และไพร่ฟ้าประชาราษฎร์; guiding, directing; obtaining, acquirement or acquisition; polity, politics or political science – a science treating of the administration of government, including the practice of morality in private life, both by the sovereign and his subjects.”

บาลี “นีติ” ภาษาไทยใช้เป็น “นิติ” (บาลี นี– ไทย นิ-)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นิติ : (คำนาม) นีติ, กฎหมาย, กฎปฏิบัติ, แบบแผน, เยี่ยงอย่าง, ขนบธรรมเนียม, ประเพณี, วิธีปกครอง, เครื่องแนะนํา, อุบายอันดี. (ป., ส. นีติ).”

(๒) “รัฐ

บาลีเป็น “รฏฺฐ” อ่านว่า รัด-ถะ รากศัพท์มาจาก –

(1) รฐฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง ฐต (คือ ที่ ร + ปัจจัย)เป็น ฏฐ ( –ฐต > –ฏฺฐ)

: รฐฺ + = รฐต > รฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นที่เป็นไปแห่งชาวเมือง” 

(2) รชิ (ธาตุ = เจาะ, ทำลาย) + ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ (รชิ > รช), แปลง ชต เป็น ฏฐ

: รชิ > รช + = รชต > รฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นเหตุให้พระราชาทั้งหลายทำลายป้อมค่ายกัน” (ในการเข้ายื้อแย่งเพื่อยึดครองดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง)

รฏฺฐ” ความหมายที่เข้าใจกันก็คือ ดินแดน, อาณาจักร, ประเทศ, แผ่นดิน, บ้านเมือง 

ในภาษาไทย ท่านให้ตัด ปฏัก ออก “รฏฺฐ” จึงเขียนเป็น“รัฐ” ถ้าอยู่ท้ายคำ อ่านว่า รัด (เคยมีนิยมพูดกันเป็น รัด-ถะ อยู่บ้าง) ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า รัด-ถะ- เช่นในคำว่า “รัฐบาล” อ่านว่า รัด-ถะ-บาน 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “รฏฺฐ” ว่า reign, kingdom, empire; country, realm (รัฐ, อาณาจักร, จักรวรรดิ; ประเทศ, แผ่นดิน) 

นิติ + รัฐ = นิติรัฐ ถ้าแปลงกลับเป็นบาลีก็จะเป็น “นีติรฏฺฐ” อ่านว่า นี-ติ-รัด-ถะ ยังไม่พบรูปศัพท์เช่นนี้ในคัมภีร์

นิติรัฐ” แปลตามศัพท์ว่า “ประเทศ (ที่ปกครองโดยยึด) หลักกฎหมาย” 

ขยายความ :

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อ่านเมื่อ 1 มีนาคม 2565 เวลา 20:30) มีคำว่า “นิติรัฐ” บรรยายความตอนหนึ่ง ดังนี้

…………..

นิติรัฐ (เยอรมัน: Rechtsstaat) เป็นถ้อยคำที่ใช้กันในประเทศที่ใช้ระบบ ประมวลกฎหมาย ซึ่งถือกำเนิดในยุโรปภาคพื้นทวีป โดยมีกฎหมายโรมัน Jus Civileเป็นแม่แบบ หมายถึงการบริหารปกครองรัฐหรือสังคมซึ่งถือกฎหมายเป็นใหญ่ เป็น “การปกครอง” โดยกฎหมาย มิใช่แล้วแต่อำเภอใจของผู้ใช้อำนาจหรือ “ผู้ปกครอง” ส่วนประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ ซึ่งมีประเทศอังกฤษเป็นแม่แบบนั้นจะอ้างถึงหลัก “นิติธรรม” หรือ Rule of Law ซึ่งโดยสรุปก็มีความหมายแบบเดียวกันนั่นคือ ถือกฎหมายเป็นใหญ่ในการบริหารจัดการรัฐ

แนวความคิดของหลักนิติรัฐ

รองศาสตราจารย์ ดร. วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ให้คำอธิบายแนวความคิดของหลักนิติรัฐ ว่าหมายถึง

รัฐเสรีประชาธิปไตยยอมรับรองและให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นมูลฐานของราษฎรไว้ในรัฐธรรมนูญโดยอาจจำแนกสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวได้เป็น 3 ประเภท คือ.-

1. สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลโดยแท้ อันได้แก่ สิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกาย สิทธิเสรีภาพในเคหสถาน สิทธิเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันและกัน สิทธิเสรีภาพในการเดินทางการเลือกถิ่นที่อยู่ สิทธิในการนับถือศาสนา และสิทธิเสรีภาพในครอบครัว

2. สิทธิเสรีภาพในทางเศรษฐกิจ อันได้แก่ สิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ สิทธิเสรีภาพในการมีและใช้ทรัพย์สิน และสิทธิเสรีภาพในการทำสัญญา

3. สิทธิและเสรีภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมือง อันได้แก่ สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสมาคมหรือพรรคการเมือง และสิทธิเสรีภาพในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดี รัฐจะต้องธำรงรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์สาธารณะ ซึ่งในบางกรณีรัฐจำต้องบังคับให้ราษฎรกระทำการหรือละเว้นไม่กระทำการบางอย่าง โดยองค์กรหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถล่วงล้ำเข้าไปในแดนสิทธิเสรีภาพของราษฎรได้ แต่รัฐให้คำมั่นต่อราษฎรว่าองค์กรเจ้าหน้าที่ของรัฐจะกล้ำกรายสิทธิเสรีภาพของราษฎรได้ ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งและเป็นการทั่วไปว่าให้องค์กรหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกล้ำกรายสิทธิเสรีภาพของราษฎรได้ในกรณีใดและภายในขอบเขตอย่างไร 

…………

…………

ที่มา:

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90

…………..

แถม :

แนวความคิดเกี่ยวกับ “นิติรัฐ” ที่อาจจะยังไม่มีใครเคยชี้ให้ดู ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอเป็นข้อควรคิด นั่นก็คือ ในบ้านเมืองที่ใช้หลักปกครองแบบนิติรัฐ ใครต้องการให้อะไรเป็นอะไร ทางลัดที่ช่วยให้สำเร็จสมความต้องการก็คือ หาวิธีให้รัฐออกเป็นกฎหมาย

อยากให้อะไรเป็นอะไร ออกเป็นกฎหมายได้ ก็สำเร็จทันที

เมื่อออกเป็นกฎหมาย (หมายรวมถึงระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ ฯลฯ บรรดาที่ออกโดยทางราชการ) ได้แล้ว ใครจะชอบหรือไม่ชอบ อยากให้เป็นหรือไม่อยากให้เป็น อยากทำหรือไม่อยากทำ หรือใครจะว่าอะไร ก็ไม่สำคัญอีกต่อไป เพราะอ้างได้ทันทีว่ากฎหมายเขียนไว้อย่างนั้น ก็ต้องทำตามนั้น ต้องเป็นตามนั้น

ถ้าเอาแนวความคิดนี้มาจับเข้าที่กิจการพระศาสนา ก็อาจกล่าวได้ว่า ชาวพุทธผู้มีหน้าที่รับผิดชอบบริหารการพระศาสนาบ้านเรา แทบจะไม่เคยมองหรือเคยคิดในมุมนี้เลย รวมทั้งไม่มีประสบการณ์กับการปฏิบัติตามแนวคิดนี้กันเลย 

ดังที่ครั้งหนึ่ง-เมื่อมีการรณรงค์ให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ประเทศไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ผู้คนจำนวนมาก-รวมทั้งผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในการบริหารการพระศาสนาพากันออกมาแสดงคิดเห็นว่า สังคมไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติอยู่แล้ว จะต้องไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ยุ่งยากวุ่นวายอีกทำไม 

แม้จนถึงวันนี้คนที่คิดแบบนี้ก็ยังมีอยู่มาก นั่นเพราะลืมไปว่า-หรือไม่ทันคิดว่า บ้านเมืองเราใช้หลักปกครองแบบ “นิติรัฐ” > มัดมือกันด้วยกฎหมาย

ยกตัวอย่างให้ขบขันเล่น แต่อย่านึกว่าจะเป็นจริงไม่ได้ ก็อย่างเช่น ในขณะที่ผู้บริหารการพระศาสนาของเรายังคงมั่นใจสุดๆ ว่าพระพุทธศาสนาในบ้านเรามั่นคงที่สุดนั่นเอง ท่านตื่นขึ้นมาในเช้าวันหนึ่งก็ได้ยินประกาศว่า รัฐบาลออกกฎหมายยุบวัดทั้งหมดแล้ว …

…………..

ดูก่อนภราดา!

: กฎหมายห้ามคนไม่ให้ตายไม่ได้

: แต่สั่งให้คนตายได้

#บาลีวันละคำ (3,549)

1-3-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *