กองสถิติคณะสงฆ์-ผ่านลมพัดใบไม้ไหว
กองสถิติคณะสงฆ์-ผ่านลมพัดใบไม้ไหว
———————————–
มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้สอบบาลีศึกษามาเล่าสู่กันฟังครับ
“บาลีศึกษา” หมายถึงการเรียน-การสอน-การสอบบาลีสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระภิกษุสามเณร
การเรียน-การสอน-การสอบบาลีสำหรับพระภิกษุสามเณร เรียกว่า “เปรียญธรรม” ใช้คำย่อว่า “ป.ธ.”
“บาลีศึกษา” ใช้คำย่อว่า “บ.ศ.”
เรียก “เปรียญธรรม” เป็นที่เข้าใจกันว่า คือหน่วยการศึกษาบาลีสำหรับพระภิกษุสามเณร แต่ไม่เรียกว่า “บาลีศึกษา”
เรียก “บาลีศึกษา” เป็นที่เข้าใจกันว่า คือหน่วยการศึกษาบาลีสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระภิกษุสามเณร แต่ไม่เรียกว่า “เปรียญธรรม”
ทั้ง “เปรียญธรรม” และ “บาลีศึกษา” ทำสิ่งเดียวกันคือ “เรียนบาลี” ซึ่งปัจจุบันนี้การจัดสอบและการประกาศผลอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานคณะสงฆ์ที่เรียกว่า “กองบาลีสนามหลวง”
ขอย้ำว่า กองบาลีสนามหลวงรับผิดชอบเฉพาะการจัดสอบและการประกาศผลเท่านั้น ไม่ได้รับผิดชอบไปถึงกระบวนการเรียนการสอน
กระบวนการเรียนการสอนบาลี วัดต่างๆ จัดทำกันไปเอง (นักเรียนมี นักเรียนไม่มี ครูมี ครูไม่มี ฯลฯ มีปัญหาอะไรบ้าง วัดที่เป็นสำนักเรียนแก้ปัญหาเอาเอง)
แม้ทุกวันนี้จะมีพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.๒๕๖๒ กำหนดให้มีคณะกรรมการรับผิดชอบ แต่ในการปฏิบัติจริง วัดต่างๆ ก็ยังต้องรับผิดชอบจัดทำกันไปเองอยู่นั่นเอง
ตัดมาที่ “บาลีศึกษา”
แต่เดิมนั้นการเรียนบาลีทำกันในหมู่พระภิกษุสามเณรเท่านั้น ฆราวาสญาติโยมไม่ได้เรียน ฆราวาสที่เรียนบาลีจนถึงได้รับการรับรองภูมิบาลีก็มี แต่เป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล ยังไม่เป็นระบบ
ต่อมาก็มีแม่ชีเรียนบาลีตามระบบ ไม่ได้เรียก “เปรียญธรรม” เหมือนพระภิกษุสามเณร แต่เรียกว่า “บาลีศึกษา”
ที่เรียกว่า “บาลีศึกษา” นั้น เข้าใจว่าล้อมาจาก “ธรรมศึกษา”
การศึกษาพระปริยัติธรรมที่คณะสงฆ์จัดให้มีขึ้นมี ๒ แผนก คือ การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม การจัดสอบและการประกาศผลอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานคณะสงฆ์ที่เรียกว่า “กองธรรมสนามหลวง” และการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีที่กำลังกล่าวถึงนี้
การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมสำหรับพระภิกษุสามเณร เรียกว่า “นักธรรม” (คำย่อ น.ธ.) การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระภิกษุสามเณร เรียกว่า “ธรรมศึกษา” (คำย่อ ธ.ศ.)
การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีสำหรับพระภิกษุสามเณร เรียกว่า “เปรียญธรรม” เมื่อมีการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระภิกษุสามเณร จึงเรียกว่า “บาลีศึกษา” – ล้อ “ธรรมศึกษา”
“แม่ชี” เรียกได้ว่าเป็น “ผู้ที่ไม่ใช่พระภิกษุสามเณร” กลุ่มแรกที่เป็นนักเรียนบาลี ที่แม่ชีเป็นกลุ่มแรกน่าจะเป็นเพราะแม่ชีอยู่ในวัด มีฐานะเป็น “ชาววัด” อยู่แล้ว เมื่อพระภิกษุสามเณรซึ่งเป็นชาววัดเรียนบาลีกันอยู่ทั่วไป แม่ชีจึงเป็นบุคคลที่ไม่ใช่พระภิกษุสามเณรแต่อยู่ใกล้บรรยากาศของการเรียนบาลีมากที่สุด โอกาสที่จะจูงใจให้เรียนบาลีจึงมีมากกว่ากลุ่มอื่น
ระยะแรกที่แม่ชีเรียนบาลี การเรียน-การสอน-การจัดสอบ ดำเนินการโดยสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย คือที่เราเรียกรู้กันในบัดนี้ว่า มมร ต่อมาจึงโอนการจัดสอบและประกาศผลมาอยู่ในความรับผิดชอบของกองบาลีสนามหลวงเช่นเดียวกับเปรียญธรรม
ปัจจุบันนี้ นักเรียนบาลีที่ไม่ใช่พระภิกษุสามเณร ขยายตัวจากแม่ชีออกไปถึงชาวบ้านทั่วไปด้วยแล้ว
สรุปว่า ในเมืองไทยเรานี้ ทั้งชาววัดและชาวบ้านเรียนบาลี สอบบาลี ได้รับวุฒิการศึกษาทางบาลีเสมอหน้ากันหมดแล้ว
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องที่ผมตั้งใจจะบอกกล่าว นั่นก็คือ ผมเข้าใจผิดมาตลอดว่า ผู้ที่สอบบาลีศึกษา ๙ ได้เป็นคนแรกคือ แม่ชีสุมน อยู่ยอด
จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้มีการกล่าวถึงผู้สอบบาลีศึกษา ๙ ได้เป็นคนแรก แต่ไม่ได้เอ่ยถึงแม่ชีสุมน อยู่ยอด ผมก็ชักเอะใจ ใจหนึ่งก็ยังเชื่อว่าที่ผมจำได้ว่าคือแม่ชีสุมน อยู่ยอด นั้นถูกต้อง แต่อีกใจหนึ่งก็ชักลังเล
ผมก็ลงมือหาข่าว+ตรวจสอบเท่าที่จะทำได้ แหล่งข่าวของผมก็คือสำนักประชุมนารี วัดมหาธาตุราชบุรี อันเป็นสำนักแม่ชีในความปกครองของวัดมหาธาตุ
สำนักประชุมนารี วัดมหาธาตุราชบุรีมีแม่ชีเรียนบาลีและสอบได้หลายท่าน มีท่านหนึ่งชื่อแม่ชีประสิทธิ์ เรืองฤทธิ์ สอบได้ บ.ศ.๙ ปัจจุบันก็ยังอยู่ที่สำนักประชุมนารี
ผมส่งสายข่าวเข้าไปหาข่าวเนื่องจากไม่สะดวกที่จะเข้าไปยุ่มย่ามด้วยตัวเอง ได้ข่าวที่แน่นอนว่า ผู้สอบบาลีศึกษา ๙ ได้เป็นคนแรกเป็นแม่ชี ชื่อ สมจิต นามสกุล จัน… อะไรสักอย่าง อยู่สำนักวัดไหน สอบได้ปีไหน สายข่าวของผมทำตกหล่นก่อนที่จะมาถึงมือผม พูดง่ายๆ ว่า จำไม่ได้และลืมถาม แต่ไม่เป็นไร เดี๋ยวค่อยหาข่าวเพิ่มเติมได้อีก
สายข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า แม่ชีสุมน อยู่ยอด สอบได้เพียงชั้น บ.ศ.๖ แล้วไปเรียนต่อที่อินเดีย จบ ดร. กลับมาได้ไม่นานก็ถึงแก่กรรม
เป็นไปได้ว่า แม่ชีสุมน อยู่ยอด เป็นแม่ชีคนแรกที่จบ ดร. (ควรสืบข้อมูลต่อไป) แต่ผมไปจำสับสนว่าเป็นแม่ชีคนแรกที่จบ บ.ศ.๙
ผมก็จัดการลบข้อมูลเก่า บันทึกข้อมูลใหม่ – นักเรียนบาลีที่ไม่ใช่พระภิกษุสามเณร และสอบ บ.ศ. ๙ ได้เป็นคนแรกเป็นแม่ชี ชื่อแม่ชีสมจิต จัน…
มีข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า แม่ชีประสิทธิ์ เรืองฤทธิ์ สำนักประชุมนารี วัดมหาธาตุราชบุรี สอบ บ.ศ.๙ ได้เป็นคนที่ ๔ ของประเทศไทย
คนที่ ๑ แม่ชีสมจิต จัน… นามสกุล จัน..อะไร สำนักวัดไหน สอบได้ปีไหน สืบหากันต่อไป
คนที่ ๒ สืบหากันต่อไป
คนที่ ๓ สืบหากันต่อไป
คนที่ ๔ แม่ชีประสิทธิ์ เรืองฤทธิ์ สำนักประชุมนารี วัดมหาธาตุราชบุรี สอบได้ปีไหน สืบหากันต่อไป
คนที่ ๕ และคนต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน … สืบหากันต่อไป
………………
นี่ถ้าเรามี “กองสถิติคณะสงฆ์” เราก็จะมีแหล่งที่จะแสวงหาข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างสะดวกสบาย
ใครอยากรู้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับคณะสงฆ์ คลิกไปที่กองสถิติคณะสงฆ์ ได้ครบ จบทุกเรื่อง
วันนี้ …
– พระภิกษุสามเณรที่ติดโควิดมีเท่าไร
– พระภิกษุสามเณรที่อาพาธติดเตียงทั่วประเทศมีเท่าไร
– ผู้ที่สอบประโยค ๙ ได้ทั้งประเทศมีเท่าไร พระภิกษุเท่าไร สามเณรเท่าไร แม่ชีเท่าไร บุคคลทั่วไปเท่าไร
– แม้กระทั่งสถิติสัพเพเหระเหมือนเรื่องตลก เช่นหมาวัดทั่วประเทศมีกี่ตัว
คลิกไปที่กองสถิติคณะสงฆ์ ได้ครบ จบทุกเรื่อง
………………
เสนอแนะอะไรไป คณะสงฆ์ท่านก็ไม่ไหวติง ท่านนั่งนิ่งอยู่ท่าเดียว
แต่ผมก็ไม่เคยหมดกำลังใจ
ได้ยินใครก็ไม่รู้เคยกล่าวไว้ว่า “ลมพัด ใบไม้ไหว”
หมายความว่า พูดอะไรออกไปก็ต้องมีคนได้ยินเข้าบ้างจนได้
คงมีสักคนหนึ่งที่ได้ยิน แล้วสามารถไปทำให้ใบไม้ไหวได้
ไม่วันไหนก็วันไหน-สักวันหนึ่ง
กองวิชาการคณะสงฆ์ก็ดี
กองสถิติคณะสงฆ์ก็ดี
สักวันหนึ่ง-สักวันหนึ่งเถอะ ต้องเกิดได้จริงๆ
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑ มีนาคม ๒๕๖๕
๑๕:๒๓
…………………………………………..
กองสถิติคณะสงฆ์-ผ่านลมพัดใบไม้ไหว
…………………………………………..