คณโสภก (บาลีวันละคำ 3,544)
คณโสภก
ผู้ทำให้หมู่คณะสวยงาม
อ่านว่า คะ-นะ-โส-พก
ประกอบด้วยคำว่า คณ + โสภก
(๑) “คณ”
บาลีอ่านว่า คะ-นะ รากศัพท์มาจาก คณฺ (ธาตุ = นับ) + อ (อะ) ปัจจัย
: คณฺ + อ = คณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนย่อยที่นับรวมกัน”
“คณ” ในบาลีมีความหมายดังนี้ –
(1) เมื่อใช้คำเดียว หมายถึง กลุ่มคน, ฝูงชน, คนจำนวนมากมาย (a crowd, a multitude, a great many)
(2) เมื่อใช้เป็นส่วนท้ายคำสมาส หมายถึงการรวมเป็นหมู่ของสิ่งนั้นๆ (a collection of) กล่าวคือ กลุ่ม, ฝูงชน, มวล; ฝูง, ฝูงสัตว์; โขลง, หมู่, การรวมกันเป็นหมู่ (a multitude, mass; flock, herd; host, group, cluster)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “คณ-, คณะ” ไว้ดังนี้ –
(1) หมู่, พวก, (ซึ่งแยกมาจากส่วนใหญ่).
(2) กลุ่มคนผู้ร่วมกันเพื่อการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น คณะกรรมการ คณะสงฆ์ คณะนักท่องเที่ยว.
(3) หน่วยงานในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่เทียบเท่าซึ่งรวมภาควิชาต่าง ๆ ที่จัดการเรียนการสอนวิชาในสายเดียวกัน เช่น คณะนิติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์.
(4) จำนวนคำที่กำหนดไว้ในการแต่งร้อยกรองแต่ละประเภท โดยแบ่งเป็นบท บาท และวรรค เช่น คณะของกลอนแปด ๑ บท มี ๒ บาท แต่ละบาทมี ๒ วรรค แต่ละวรรคมี ๖ ถึง ๙ คำ..
ในที่นี้ “คณะ” ใช้ในความหมายตามข้อ (1) และ (2)
(๒) “โสภก”
บาลีอ่านว่า โส-ภะ-กะ รากศัพท์มาจาก สุภฺ (ธาตุ = สวยงาม, รุ่งเรือง) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), แผลง อุ ต้นธาตุเป็น โอ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (สุภฺ > โสภ)
: สุภฺ + ณฺวุ > อก = สุภก > โสภก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำให้สวยงาม”
“โสภก” (คุณศัพท์) หมายถึง ผู้ประดับ, ส่องแสง, ทำให้สวยงาม (adorning, shining, embellishing)
คณ + โสภก = คณโสภก (คะ-นะ-โส-พะ-กะ) แปลว่า “ผู้ทำหมู่คณะให้สวยงาม”
อภิปรายขยายความ :
“คณโสภก” ถ้าเป็นบาลีอ่านว่า คะ-นะ-โส-พะ-กะ
ใช้ในคำไทย เขียนรูปเดียวกัน อ่านว่า คะ-นะ-โส-พก
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “โสธก” บอกคำอ่านว่า โส-ทก บอกความหมายไว้ดังนี้ –
“โสธก : (คำนาม) ผู้ชําระ, ผู้ทําให้สะอาด. (ป.; ส. โศธก).”
“โสธก” รูปคำมีที่มาอย่างเดียวกับ “โสภก”
“โสธก” อ่านว่า โส-ทก
“โสภก” อ่านว่า โส-พก
ดำเนินรอยเดียวกัน
อธิบายโยงถึงกันเผื่อใครสงสัยว่า “คณโสภก” ทำไมอ่านว่า คะ-นะ-โส-พก
คะ-นะ-โส-พก เสียงอาจจะไม่สนิทหู และคำนี้ก็ยังไม่มีใครใช้ในภาษาไทย ยังไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ผู้เขียนบาลีวันละคำผูกคำขึ้นเสนอไว้ในวงวรรณ ไม่มีใครใช้ก็ไม่เสียหรือไม่ขาดทุนอะไร แต่ควรนับว่าเป็นกำไรทางภาษา คือมีคำใหม่เพิ่มขึ้นในภาษาไทย และเป็นข้อคิดว่า เราอาจสร้างคำขึ้นใช้ในภาษาไทยของเราได้เอง ไม่ใช่ว่าจะต้องทับศัพท์เป็นคำฝรั่งไปเสียทุกคำไป
“คณโสภก” ผูกรูปคำคล้อยตามคำว่า “คณทูสก” ที่เสนอไปแล้วเพื่อให้เข้าชุดกัน คำในชุดนี้มี 3 คำ คือ “คณโสภก” “คณทูสก” และ “คณปรก”
คำในชุดนี้ที่มีปรากฏมาแต่เดิมใช้เป็น “คณโสภกะ” “คณทูสกะ” และ “คณปูรกะ” (ดูข้างหน้า) ในที่นี้ “คณทูสก” ไม่ได้เขียนเป็น “คณทูสกะ” แต่เขียนล้อตามคำว่า “กุลทูสก” ที่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ เมื่อมี “คณทูสก” อีก 2 คำก็เลยล้อตามกันเพื่อให้เข้าชุด จึงเป็น คือ “คณโสภก” “คณทูสก” และ “คณปรก”
“คณโสภก” แปลว่า “ผู้ทำหมู่คณะให้สวยงาม” หมายถึง ผู้มีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรม ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรม เป็นที่ยกย่องชื่นชมของคนทั่วไป ความดีงามมิใช่เกิดขึ้นเฉพาะตน หากแต่ทำให้หมู่คณะหรือสังคมที่ตนเป็นสมาชิกอยู่พลอยมีหน้ามีตา มีชื่อเสียง เป็นที่สรรเสริญไปด้วย
ผู้รู้ท่านว่า สมาชิกของคณะย่อมมี 3 จำพวก คือ –
(1) คณโสภกะ (คะ-นะ-โส-พะ-กะ) ผู้ทำคณะให้งดงาม (one who makes resplendent of the company)
: มีคนประเภทนี้มากๆ คณะเจริญ
(2) คณทูสกะ (คะ-นะ-ทู-สะ-กะ) ผู้ทำร้ายคณะ (one who spoils the reputation of the company)
: มีคนประเภทนี้มากๆ คณะเสื่อม
(3) คณปูรกะ (คะ-นะ-ปู-ระ-กะ) ผู้ทำให้ครบจำนวน (one who completes the quorum)
: มีคนประเภทนี้มากๆ คณะอยู่กันไปวันๆ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้ายังทำชื่อเสียงไม่ได้
: ก็อย่าทำให้เสียชื่อเสียง
#บาลีวันละคำ (3,544)
24-2-65
…………………………….
…………………………….