บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

จากฟืนถึงดอกไม้จันทน์

จากฟืนถึงดอกไม้จันทน์

————————-

แล้วต่อไปจะเป็นอะไร

ภาษาไทยเรามีคำว่า “ฌาปนสถาน” เป็นที่รู้กันว่าคือเมรุเผาศพ

ในภาษาบาลี “ฌาปน” (ชา-ปะ-นะ) แปลว่า การเผา ถ้าจะให้หมายถึงการเผาศพ จะต้องเติมคำว่า “สรีร” (สะ-รี-ระ, = ร่างกาย) เข้าข้างหน้าเป็น “สรีรชฺฌาปน” (สะ-รี-รัด-ชา-ปะ-นะ) แปลว่า “การเผาสรีระ” ถ้าอย่างนี้ก็ชัดเจนว่าเป็นการเผาศพ

ในภาษาบาลี ไม่ว่าจะเป็นศพของคนชั้นไหนก็ใช้คำว่า “สรีรชฺฌาปน” เหมือนกันหมด แม้แต่ถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า ในคัมภีร์ก็ใช้คำว่า “สรีรชฺฌาปน” คำเดียวกัน

ราชาศัพท์ว่า “ถวายพระเพลิงพระบรมศพ” แปลเป็นภาษาบาลีว่า “สรีรชฺฌาปน” ตรงตามสำนวนบาลี

เมื่อครั้งมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ (วันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีที่เรียกกันทั่วไปว่า “ถวายดอกไม้จันทน์” ขึ้นพร้อมกันในวันนั้นทั่วประเทศ 

ตอนนั้นมีผู้ตั้งประเด็นว่า ไม่ควรพูดว่า “ถวายดอกไม้จันทน์” แต่ควรใช้คำว่า “วางดอกไม้จันทน์ถวาย”

………………….

ข้อที่ควรเข้าใจก็คือ ธรรมเนียมการศพของไทยเราใช้วิธีเผา คนโบราณไปช่วยงานเผาศพจะแบกฟืนไปด้วย คือเอาฟืนไปเผาศพกันจริงๆ 

การเผาศพสมัยก่อนใช้ฟืนเผาจริงๆ ผมเป็นเด็กวัดยังทันเห็นคนสมัยเก่าถือฟืนจริงๆ ไปงานเผาศพ 

คำว่า “ไปเผาศพ” หรือ “ไปจุดศพ” ก็ยังมีคนพูดกันติดปากอยู่

ต่อมา เมื่อวิธีเผาศพพัฒนาขึ้น ไม่ต้องใช้ฟืน คนไปงานศพก็เปลี่ยนจากถือฟืนมาเป็นถือธูปไปเผาศพ โดยเจตนาให้ธูปแทนฟืนนั่นเอง 

ปัจจุบัน บางพื้นที่ในจังหวัดราชบุรี คนเก่าๆ ไปเผาศพยังนิยมถือธูปไปจากบ้านด้วย

ต่อมา จึงเกิดมีความนิยมทำดอกไม้จันทน์แทนธูป โปรดสังเกตว่าตัวดอกไม้จันทน์ก็ยังมีธูปเทียน แต่ย่อส่วนเป็นธูปเทียนเล็กจิ๋วจนแทบไม่รู้สึกว่ามีธูปเทียนอยู่ด้วย เห็นแต่ดอกไม้จันทน์เป็นจุดเด่น

โปรดทราบว่า ธูปเทียนเล็กจิ๋วนั้นก็คือสิ่งที่กลายมาจากฟืน

จากฟืนจริง กลายมาเป็นธูป 

จากธูป กลายมาเป็นดอกไม้จันทน์

ปัจจุบันเมื่อขึ้นไป “เผาศพ” บนเมรุ ก็ไม่ได้เห็นไฟที่กำลังเผาศพจริง เป็นแต่เอาดอกไม้จันทน์ไปวางใต้หีบศพเป็นกิริยา “เผาศพ” 

ถ้าจะเห็นไฟเผาศพจริงก็ต้องเป็นเวลาที่เรียกกันว่า “เผาจริง” ซึ่งนิยมทำเฉพาะในหมู่วงศ์ญาติ

คนสมัยใหม่จับเอากิริยาที่เอาดอกไม้จันทน์ไปวางนั่นเองมาเป็นหลักคิด เกิดเป็นคำว่า “ถวายดอกไม้จันทน์” หรือ “วางดอกไม้จันทน์ถวาย” ในครั้งนั้น

ถ้าคิดเพียงแค่นั้น ก็อาจจะพลาดจากธรรมเนียมไทยที่นิยม “เผาศพ” เพราะความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะ “ถวายดอกไม้จันทน์” หรือ “วางดอกไม้จันทน์ถวาย” ก็ต้องตั้งเจตนาไว้ที่ “เผาศพ” 

ไม่ใช่ “ถวาย” หรือ “วาง” ไว้เฉยๆ เป็นเครื่องระลึกถึงเหมือนธรรมเนียมของบางชาติเช่นฝรั่งเป็นต้นที่นิยมฝังศพ และเอาดอกไม้ไปวางเป็นเครื่องระลึกถึงตามโอกาส

อะไรที่เราทำกันในทุกวันนี้ ถ้าไม่ศึกษาสืบสวนให้เข้าใจไปถึงรากเหง้าเค้าเดิม เราก็จะเห็นแต่สิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็จินตนาการกันไปแล้วแต่ใครจะคิด แล้วก็เกิดเป็นค่านิยมแบบใหม่ที่งอกออกมาจากจินตนาการนั้นซึ่งห่างไกลจากเหตุผลต้นเค้า อาจกลายเป็นคนละเรื่องหรือไปคนละโลกไปเลยก็ได้

ดังเช่นงานเผาศพ

ธรรมเนียมเดิม เอาฟืนไปใส่ไฟเผาศพ

กลายมาเป็น เอาดอกไม้จันทน์ไปวาง

จากกิริยา-เอาดอกไม้จันทน์ไปวาง ก็เกิดจินตนาการกันไปต่างๆ ซึ่งล้วนแต่ห่างไกลจาก-เอาฟืนไปใส่ไฟเผาศพ

เห็นความจำเป็นและคุณค่าของการศึกษารากเหง้าของตัวเองกันบ้างหรือยังเจ้าข้า?

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

๑๑:๓๐

……………………………………

จากฟืนถึงดอกไม้จันทน์

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *