บาลีวันละคำ

สังกมทรัพย์ (บาลีวันละคำ 3,537)

สังกมทรัพย์

“ไม่ใช่แฟนก็ทำแทนกันได้”!?

อ่านว่า สัง-กะ-มะ-ซับ

ประกอบด้วยคำว่า สังกม + ทรัพย์

(๑) “สังกม” 

เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺกม” อ่านว่า สัง-กะ-มะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + กมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง; ก้าวไป) + (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ

: สํ + กมฺ = สํกมฺ + = สํกม > สงฺกม แปลตามศัพท์ว่า “การก้าวไปพร้อมกัน” หมายถึง ทางผ่าน, สะพาน (a passage, bridge)

เพื่อให้เห็นความหมายกว้างขวางขึ้น ขอให้ดูคำกริยาสามัญ (ปัจจุบันกาล เอกวจนะ ปฐมบุรุษ กัตตุวาจก) ของ “สงฺกม” นั่นคือ “สงฺกมติ” (สัง-กะ-มะ-ติ) มีคำแปลดังนี้ –

(1) ดำเนินต่อไป, ผ่านไป, เข้าร่วม (to go on, to pass over to, to join)

(2) อพยพไป (to transmigrate)

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “สงฺกม” ตามศัพท์ว่า “ทางเป็นเหตุให้พยายาม” หมายถึง ทางลำบาก, การไปมาที่ลำบาก

บาลี “สงฺกม” สันสกฤตเป็น “สงฺกฺรม” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สงฺกฺรม : (คำนาม) ‘สังกรม,’ ทุรคติ, คติอันลำบาก, ดุจการปีนภูเขา, การลุยน้ำ, การบุกฝ่าอคัมยมารค, ฯลฯ.; การไป, การเดิร, การเดิรทาง; คติของดาวพระเคราะห์ฝ่าภูจักร์; คติหรือยาตราจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง; difficult progress, as clambering up rocks, fording torrents, making way through inaccessible passes, &c.; going, moving, travelling; the passage of a planetary body through the zodiac; passage from one place to another.”

(๒) “ทรัพย์” 

บาลีเป็น “ทพฺพ” อ่านว่า ทับ-พะ รากศัพท์มาจาก ทุ (ธาตุ = รู้, เจริญ; ไป, เป็นไป) + อพฺพ ปัจจัย, แปลง อุ ที่ ทุ เป็น (ทุ > )

: ทุ > + อพฺพ = ทพฺพ (นปุงสกลิงค์; คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้” “ผู้เจริญ” “สิ่งที่เป็นไป” (คือของธรรมดาที่มีทั่วไป)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทพฺพ” ไว้ดังนี้ –

(1) material, substance, property; something substantial, a worthy object (วัสดุ, สิ่งของ, สมบัติ; ของที่มีแก่นสาร, สิ่งที่มีคุณค่า)

(2) a tree, shrub, wood (ต้นไม้, พุ่มไม้, ไม้)

(3) tree-like, wooden (เหมือนต้นไม้, ทำด้วยไม้)

(4) fit for, able, worthy, good (เหมาะสำหรับ, สามารถ, ทรงคุณค่า, ดี)

ในที่นี้ “ทพฺพ” ใช้ในความหมายตามข้อ (1) 

บาลี “ทพฺพ” สันสกฤตเป็น “ทฺรวฺย” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ทฺรวฺย” ไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) (คำนาม) ‘ทรัพย์,’ สมบัติ, พัสดุ, สิ่งของ; มูลธาตุ, อันท่านพึงนับว่ามีอยู่เก้าอย่าง, คือ ดิน, น้ำ, ไฟ, ลม, อากาศ, เวลา, ทิคัมพร, อาตมัน, พุทธิหรือโพธ; ทองเหลือง; เดิมภัณฑ์; เภสัช, ยา; การฉาบทาหรือเจิมจุรณ์; ครั่ง; สรรชรส, ยางไม้; สุรา, เหล้า; ความสุภาพเรียบร้อยหรืออหังการ; wealth, property, substance, thing; elementary substance, nine kinds of which are reckoned, viz. earth, water, fire, air, ether, time, space, soul and intellect; brass; a stake or wager; a drug or medicament; anointing or plastering; lac, the animal dye; gum, resin; spirituous liquor; modesty or propriety;

(2) (คำคุณศัพท์) เหมาะ, งาม, ควร, สม, ชอบ; อันเนื่องจากหรือเป็นสัมพันธินแก่ต้นพฤกษ์; fit, proper, becoming, suitable, right; derived from or relating to a tree.

บาลี “ทพฺพ” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ทรัพย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ทรัพย-, ทรัพย์ : (คำนาม) เงินตรา เช่น ไม่มีทรัพย์ติดตัว, สมบัติพัสถาน เช่น เขาเป็นคนมีทรัพย์; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) วัตถุมีรูปร่าง; โดยปริยายหมายถึงสิ่งที่ถือว่ามีค่า อาจไม่มีรูปร่างก็ได้ เช่น มีปัญญาเป็นทรัพย์ อริยทรัพย์. (ส. ทฺรวฺย).”

สังกม + ทรัพย์ = สังกมทรัพย์ (สัง-กะ-มะ-ซับ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สังกมทรัพย์ : (คำที่ใช้ในกฎหมาย; คำเลิกใช้) (คำนาม) สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปรกติอาจใช้ของอื่นอันเป็นประเภทและชนิดเดียวกันมีปริมาณเท่ากันแทนได้, คู่กับ อสังกมทรัพย์.”

ที่คำว่า “อสังกมทรัพย์” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –

อสังกมทรัพย์ : (คำที่ใช้ในกฎหมาย; คำเลิกใช้) (คำนาม) สังหาริมทรัพย์ซึ่งไม่อาจใช้ของอื่นที่เป็นประเภทและชนิดเดียวกัน มีปริมาณเท่ากันแทนได้, คู่กับ สังกมทรัพย์.”

ขยายความ :

สังกมทรัพย์” เป็นศัพท์บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า fungible

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล fungible เป็นไทยว่า (ทรัพย์) ซึ่งแลกเปลี่ยนกันได้ เพื่อการชำระหนี้ เช่น ข้าวเปลือก

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล fungible เป็นบาลีว่า –

parivaṭṭanakkhama ปริวฏฺฏนกฺขม (ปะ-ริ-วัด-ตะ-นัก-ขะ-มะ) = “-อันเหมาะแก่การแลกเปลี่ยนกัน” คือของที่ใช้ของชนิดเดียวกันชิ้นอื่นมาเปลี่ยนกันได้

…………..

ขยายความตามพจนานุกรมฯ เช่น –

ก ยืมแว่นตา ข ไปใช้แล้วทำหาย ก จึงซื้อแว่นตาอันใหม่แบบเดียวกันมาใช้คืน แว่นตาอันที่หายอยู่ในฐานะเป็น “สังกมทรัพย์” คือเอาอันใหม่มาแทนอันเก่าได้

ก ยืมพระสมเด็จวัดระฆังรุ่น 1 ของแท้ซึ่งมีอยู่องค์เดียว จาก ข แล้วทำหาย พระสมเด็จวัดระฆังรุ่น 1 ของแท้อยู่ในฐานะเป็น “อสังกมทรัพย์” คือจะเอาพระสมเด็จรุ่นไหนมาใช้คืนแทนก็ไม่ได้ เพราะเป็นคนละองค์คนละรุ่นกัน และคุณค่าทางใจก็ต่างกัน

ตามตัวอย่างนี้ ถ้าไม่ถูกต้อง ขอผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายโปรดทักท้วงแก้ไขด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

ปัญหาธรรม –

: ทำบุญให้ทาน

: เมื่อบุญให้ผล ขอเปลี่ยนเป็นผลบุญถือศีล ได้หรือไม่?

#บาลีวันละคำ (3,537)

17-2-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *