นวารหาทิคุณ (บาลีวันละคำ 375)
นวารหาทิคุณ
อ่านว่า นะ-วา-ระ-หา-ทิ-คุน
ประกอบด้วยคำว่า นว (= เก้า) + อรห (= บทว่า อรหํ) + อาทิ (= เป็นต้น) + คุณ (= พระคุณ) แปลว่า “คุณพระพุทธเจ้า 9 ประการ มีบท อรหํ เป็นต้น”
พระพุทธคุณ 9 ประการ ที่เป็นภาษาบาลี เขียนแบบไทยดังนี้ –
อิติปิ โส ภควา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจรณสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ.
เขียนแบบบาลีและคำแปล ดังนี้ –
อิติปิ โส ภควา = แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
(อิติปิ โส อย่าเขียนติดกันเป็น อิติปิโส เพราะ อิติปิ กับ โส เป็นคนละคำ)
1. อรหํ = เป็นผู้ไกลจากกิเลส
2. สมฺมาสมฺพุทฺโธ = เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
(สมฺมา + สมฺพุทฺโธ เป็นคำเดียวกัน ไม่แยก)
3. วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน = เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
(วิชฺชา ช ช้างสองตัว, วิชฺชา + จรณ + สมฺปนฺโน เป็นคำเดียวกัน ไม่แยก)
4. สุคโต = เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี
5. โลกวิทู = เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง
(-วิทู ท ทหาร ไม่ใช่ ธ ธง)
6. อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ = เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า
(อนุตฺตโร กับ ปุริส- เป็นคนละคำ แยกกัน, –ทมฺม– ท ทหาร ไม่ใช่ ธมฺม ธ ธง แปลว่า “ผู้สมควรฝึกได้”)
7. สตฺถา เทวมนุสฺสานํ = เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
(สตฺถา กับ เทว- เป็นคนละคำ แยกกัน)
8. พุทฺโธ = เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม
9. ภควาติ (= ภควา + อิติ) = เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ ดังนี้
วิสาขบูชา : เจริญนวารหาทิคุณให้คล่อง
สวดหรือเขียนถูกต้อง และรู้ความหมาย
ถวายเป็นพุทธบูชา
บาลีวันละคำ (375)
24-5-56
นวอรหาทิคุณ, นวารหาทิคุณ
[นะวะอะระหาทิคุน, นะวาระหาทิคุน] น. คุณพระพุทธเจ้า ๙ ประการ มีบท อรหํ เป็นต้น. (พูดเลือนมาเป็น นวหรคุณ).