บาลีวันละคำ

อาสน์สงฆ์ (บาลีวันละคำ 376)

อาสน์สงฆ์

(บาลีแบบไทย)

อ่านว่า อาด-สง

อาสน์สงฆ์” คือ อาสน์ + สงฆ์

อาสน์” เขียนแบบไทย บาลีเป็น “อาสน” อ่านว่า อา-สะ-นะ แปลว่า การนั่ง, การนั่งลง, ที่นั่ง, เครื่องปูรองนั่ง, ตั่ง, บัลลังก์

สงฆ์” บาลีเป็น “สงฺฆ” (สัง-คะ) มีความหมายว่า ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง, คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร, กลุ่มใหญ่, ประชาคม; ในทางพระวินัย หมายถึงภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป

ในคำว่า “อาสน์สงฆ์” นี้ “สงฆ์” หมายถึงพระภิกษุสามเณร

อาสน์” รวมกับ “สงฆ์” แบบไทย เป็น “อาสน์สงฆ์” แปลว่า “ที่นั่งของพระสงฆ์” พจน.42 บอกความหมายเฉพาะว่า “ที่ยกพื้นสําหรับพระสงฆ์นั่ง

คำว่า “อาสน์สงฆ์” มีข้อควรสังเกตบางประการทางภาษาและวัฒนธรรม คือ

1. คำนี้ น์ การันต์ เพราะเป็นการประสมคำแบบไทย ถ้าไม่การันต์ เขียนเป็น “อาสนสงฆ์” (อ่านว่า อา-สะ-นะ-สง) จะเสียวัฒนธรรมทางภาษา เพราะ “ที่นั่งของพระสงฆ์” คำเก่าพูดว่า “อาด-สง” ไม่ใช่ อา-สะ-นะ-สง

2. อาสน์สงฆ์มักสร้างเป็นยกพื้นถาวรในศาลาการเปรียญ หรือศาลาบำเพ็ญกุศล เพราะเป็นธรรมเนียมที่พระสงฆ์เมื่ออยู่ในพิธีจะนั่งพับเพียบกับพื้น ในกรณีที่มีพิธีนอกศาลา จะต้องทำยกพื้นชั่วคราวเป็นอาสน์สงฆ์ (ไม่นั่งเก้าอี้)

3. ตามวัฒนธรรมไทย เราเคารพสงฆ์อย่างยิ่ง แม้แต่ที่นั่งของสงฆ์ ฆราวาสโดยเฉพาะสตรีเพศ จะไม่อาจเอื้อมขึ้นไปนั่งเด็ดขาด

: จะเปลี่ยนแปลงอะไร อย่าลืมเกรงใจวัฒนธรรม

บาลีวันละคำ (376)

25-5-56

อาสน นป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

อาสนะ, ตั่ง, ที่นั่ง

อาสน (บาลี-อังกฤษ)

การนั่ง, การนั่งลง, ที่นั่ง, บัลลังก์

สงฺฆ ป.

หมู่, สงฆ์, ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป.

สงฆ์

๑ ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง

๒ คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร the order, the priesthood, the clergy, Buddhist church

๓ กลุ่มใหญ่, ประชาคม

อาสน ๑

 [อา-สน] ก. ปรารถนา. (ปรัดเล); ขัดสน. (ข. อาสนฺน).

อาสน- ๒, อาสน์, อาสนะ

 [อาดสะนะ-, อาด] น. ที่นั่ง, เครื่องปูรองนั่ง, (ใช้เฉพาะพระภิกษุสามเณร). (ป., ส.).

อาสนศาลา

น. โรงฉันอาหาร (ใช้แก่พระสงฆ์).

อาสน์สงฆ์

น. ที่ยกพื้นสําหรับพระสงฆ์นั่ง.

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย