บาลีวันละคำ

-ธิคุณ (บาลีวันละคำ 374)

-ธิคุณ

(ท้ายคำเรียกพระพุทธคุณทั้งสาม)

ผู้รู้ประมวลพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้เป็น 3 ส่วน คือ พระปัญญา พระวิสุทธิ และ พระกรุณา

มีผู้ใช้คำเรียกพระคุณทั้งสามว่า พระปัญญาธิคุณ พระวิสุทธิคุณ พระกรุณาธิคุณ (ลำดับก่อนหลังอาจต่างกันไป)

ปัญหาคือ “-ธิคุณ” ท้ายคำทั้งสามนี้ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ?

พิจารณาตามหลักภาษาบาลี

1. “ปัญญาธิคุณ” แยกเป็น ปัญญา + อธิคุณ = พระคุณอันยิ่งคือปัญญา

2. “วิสุทธิคุณ” แยกเป็น วิสุทธิ + คุณ = พระคุณคือวิสุทธิ

3. “กรุณาธิคุณ” แยกเป็น กรุณา + อธิคุณ = พระคุณอันยิ่งคือกรุณา

ดูเผินๆ ลงท้ายว่า “-ธิคุณ” เหมือนกัน ก็น่าจะถูกต้องแล้ว แต่เมื่อแยกศัพท์จะเห็นได้ว่า “ปัญญา” และ “กรุณา” + “อธิคุณ” แต่ “วิสุทธิ” + “คุณ” (ไม่ใช่ “อธิคุณ”) น้ำหนักของคำจึงไม่สมเสมอกัน

ถ้าจะให้สมเสมอกับอีกสองคำ คือ –

ปัญญา + อธิคุณ = ปัญญาธิคุณ

กรุณา + อธิคุณ = กรุณาธิคุณ

วิสุทธิ + อธิคุณ รูปสำเร็จจะไม่ใช่ = วิสุทธิคุณ แต่จะต้องเป็น วิสุทธาธิคุณ ซึ่งไม่มีคำที่ใช้เช่นนี้

นั่นคือ “-ธิคุณ” ท้ายคำ “วิสุทธิคุณ” ไม่ได้มาจาก “อธิคุณ” เหมือนอีกสองคำ

แปลว่า เราใช้คำผิดชุดกันมาจนผิดจะกลายเป็นถูกไปแล้ว

คำในชุดนี้ที่ถูกต้องจึงควรเป็น –

พระปัญญาคุณ” = ปัญญา + คุณ พระคุณคือปัญญา

พระวิสุทธิคุณ” = วิสุทธิ + คุณ พระคุณคือวิสุทธิ (ความบริสุทธิ์หมดจด)

พระมหากรุณาคุณ” = มหากรุณา + คุณ พระคุณคือมหากรุณา

ถ้ายังสงสัยว่า ปัญญา- กับ กรุณา- ทำไมจึงไม่เป็น “-ธิคุณ” และจะให้เป็น “-ธิคุณ” ได้หรือไม่ ก็ขอให้ย้อนไปอ่านตั้งแต่ต้นอีกเที่ยว

เพราะคำบางคำ เรื่องบางเรื่อง : มองผ่านไม่ผิด แต่มองพิศไม่ผ่าน

บาลีวันละคำ (374)

23-5-56

พีร์ บีพีเค 24-5-56

บาลีมีหลักไวยากรณ์ชัดเจน แต่เมื่อนำบาลีมาใช้อย่างไทยก็จะมีวิธีให้สะดวกขึ้นทั้งรูปคำ เสียงและความหมาย จึงมีทั้งคงไว้อย่างเดิมและเปลี่ยนไป

ที่ต้องขอสนทนาต่อเพราะการตัดคำ คือ วิสุทธาธิคุณ ตัดเสียง ธา เป็น วิสุทธิคุณ เหตุใดไม่ตัด ธิ เป็น วิสุทธาคุณ

ไทยมีรูปคำใช้เป็น วิสุทธ์, วิสุทธิ์ เหตุผลอย่างไทยจึงพิจารณาจากรูปคำได้ว่า

-วิสุทธ์>วิสุทธ+อธิคุณ (ไม่ได้ใช้รูปคำ วิสุทธิ์(วิสุทธิ)+อธิคุณ) จึงเป็น วิสุทธาธิคุณ ซึ่งจริงๆไม่มีใช้ แต่เส้นทางที่มาของคำมาได้ และเมื่อตัดเสียง ธา > วิสุทธิคุณ

-วิสุทธิ์>วิสุทธิ+คุณ เป็น วิสุทธิคุณ

เมื่อไทยใช้ วิสุทธิคุณ จึงอาจมาจากสองทาง คือ วิสุทธ+อธิคุณ หรือ วิสุทธิ+คุณ แต่เมื่อกล่าวถึงพุทธคุณ ไทยใช้อย่างคำสมาสแบบไทย –คุณ จึงเป็น ปัญญาคุณ(พระปัญญาคุณ), วิสุทธิคุณ(พระวิสุทธิคุณ), กรุณาคุณ(พระมหากรุณาคุณ)

-ไม่ตัด ธิ เพื่อจะให้เป็น วิสุทธาคุณ เพราะเมื่อใช้คำที่กล่าวถึงพุทธคุณ ไม่ได้ใช้คำว่า วิสุทธาคุณ จึงไม่มีการตัดคำ ธิ ให้เป็น วิสุทธาคุณ แต่ถ้าใช้ในกรณีอื่นเป็นการเฉพาะ เช่นให้สัมผัสในคำประพันธ์ก็สามารถใช้ได้

จากที่ได้สนทนาถึงคำที่ใช้ –อธิคุณ ตามเส้นทางที่มาของคำย่อมมาได้ แต่ไม่ได้ใช้ เพราะใช้เส้นทางของ –คุณ ตามอย่างคำสมาสแบบไทย

ผมเข้าใจตามแบบการใช้ในภาษาไทย และไม่ได้แย้งเส้นทางของบาลีนะครับ

ขออนุญาตโฟกัสคำที่เป็นหลัก เพื่อที่ว่าเมื่ออภิปรายจะได้ถูกตรงคำหลัก

คำหลักในคำชุดนี้ก็คือ ปัญญา วิสุทธิ กรุณา

จะเห็นได้ว่า เนื้อตัวของ ปัญญา และ กรุณา ไม่มี “ธิ” อยู่ด้วย

แต่ วิสุทธิ มี “ธิ”

“ธิ” ที่อยู่ท้ายพยางค์ของ “วิสุทธิ” นี้ ไม่ใช่ “ธิ” ที่มาจาก “อธิ” (ดังในคำว่า “อธิคุณ”) แต่เป็นส่วนหนึ่งของคำ คือ วิ-สุท-ธิ มีสถานะเท่ากับ “ญา” ในคำว่า “ปัญญา” หรือ “ณา” ในคำว่า “กรุณา” นั่นเอง

ถ้าเอาแต่พยางค์ท้ายของแต่ละคำเป็นตัวตั้ง ก็คือ

-ญา

-ธิ

-ณา

คราวนี้ คำที่เอามาต่อ ตามหลักก็คือ ควรเป็นคำที่มีน้ำหนักเท่ากัน หรือที่เรียกว่า “สมเสมอ” กล่าวคือ ถ้าเป็นคำว่า “อธิคุณ” ก็ต้องเป็น “อธิคุณ” ทั้งสามคำ นั่นคือ

ปัญญา + อธิคุณ

วิสุทธิ + อธิคุณ

กรุณา + อธิคุณ

ที่นี้ดูรูปสำเร็จเมื่อต่อกันแล้ว

ทั้งสามคำใช้สูตร “ลบสระหน้า ทีฆะสระหลัง” (= ลบสระที่ท้ายคำหน้า ทีฆะสระที่ต้นคำหลัง)

ปัญญา + อธิคุณ สระที่ท้ายคำหน้า (ปัญญา) ก็คือ อา

ลบ อา ก็เป็น “ปัญญ”

สระที่ต้นคำหลัง (อธิคุณ) ก็คือ อ (อะ)

ทีฆะ อ เป็น อา “อธิคุณ” ก็เป็น “อาธิคุณ”

ต่อไปก็ประสมคำ ปัญญ + อาธิคุณ รูปสำเร็จก็เป็น “ปัญญาธิคุณ” (“ธิ” ในที่นี้ก็คือ “ธิ” ที่มาจาก “อธิคุณ – อาธิคุณ”)

ข้ามไปดู กรุณา + อธิคุณ ก่อน เพราะสระที่ท้ายคำหน้าเป็น อา เหมือนกัน ใช้สูตรเดียวกัน กรุณา เป็น กรุณ อธิคุณ เป็น อาธิคุณ  กรุณ + อาธิคุณ ก็จึงเป็น “กรุณาธิคุณ”

คราวนี้ดู วิสุทธิ + อธิคุณ ใช้สูตรเดียวกัน

ลบสระที่ท้ายคำหน้า คือ “ธิ” เป็น “ธ” วิสุทธิ ก็เป็น วิสุทธ

วิสุทธ + อาธิคุณ (เช่นเดียวกับสองคำที่ว่ามา คือไม่ใช่ + คุณ) ก็จึงเป็น “วิสุทธาธิคุณ”

จะเห็นได้ว่า “ธิ” ในที่นี้ก็คือ “ธิ” ที่มาจาก “อธิคุณ – อาธิคุณ” เช่นเดียวกับ “ปัญญาธิคุณ” และ “กรุณาธิคุณ” นั่นเอง ไม่ใช่ “ธิ” ที่เป็นพยางค์ท้ายคำ วิสุทธิ” เพราะ ธิ ท้ายคำนั้นลบเป็น ธ ไปแล้ว ก็คือที่เป็น วิสุทธ +าธิคุณ เป็น “วิสุทธาธิคุณ”

ถามว่า ทำไมคำนี้จึงมีทั้ง ธา ทั้ง ธิ ในขณะที่สองคำโน้นมีแต่ ธิ คำเดียว และทำไมจึงไม่ทำให้มีแต่ ธิ คำเดียวเหมือนสองคำโน้น

ตอบว่า ทำเช่นนั้นก็ผิดกฎ คือถ้าเป็น “วิสุทธิคุณ” (มี ธิ คำเดียว ไม่มี ธา จะได้เหมือนกับสองคำนั้น) จะแยกศัพท์ว่าอย่างไร ?

(ยังไม่จบนะครับ)

ถ้าแยกเป็น วิสุทธิ + คุณ ก็ไม่สมเสมอกับอีกสองคำ เพราะสองคำนั้น + อธิคุณ ไม่ใช่ + คุณ

ถ้าแยกเป็น วิสุท + อธิคุณ ก็ผิดอีก เพราะเนื้อตัวของคำนี้ คือ “วิสุทธิ” ไม่ใช่ “วิสุท” เอา ธิ ไปทิ้งที่ไหนเสีย ?

และถ้าเป็น วิสุท + อธิคุณ จริงๆ รูปสำเร็จก็ต้องเป็น “วิสุทาธิคุณ” รูปคำอย่างนี้ก็ไม่มี

ถ้าแยกเป็น วิสุทธ + คุณ ก็ผิดอีก เพราะเนื้อตัวของคำนี้คือ “วิสุทธิ” ไม่ใช่ “วิสุทธ” เอาอำนาจอะไรมาทำให้ ธิ เป็น ธ ?

และถ้าเป็น “วิสุทธ” รูปสำเร็จก็ต้องเป็น “วิสุทธคุณ” จะเป็น “วิสุทธิคุณ” ไม่ได้

ถามว่า เอา อิ มาจากไหนจึงจะเป็น “วิสุทธิคุณ” ?

ถ้าอธิบายว่า ก็ วิสุทธิ + อธิคุณ นั่นแหละ (สมเสมอกับอีกสองคำ) แต่ลบ “อธิ” ออกเสีย ก็เป็น “วิสุทธิคุณ” ได้

ถ้าเช่นนี้ก็ต้องลบ “อธิ” ที่สองคำโน้นด้วยจึงจะสมเสมอกัน

ก็คือ ปัญญา + คุณ (เพราะลบ “อธิ” ออกแล้ว) ก็เป็น “ปัญญาธิคุณ” ไม่ได้ แต่ต้องเป็น “ปัญญาคุณ”

กรุณา + คุณ (เพราะลบ “อธิ” ออกแล้ว) ก็เป็น “กรุณาธิคุณ” ไม่ได้ แต่ต้องเป็น “กรุณาคุณ”

แต่ วิสุทธิ + คุณ (แม้จะลบ “อธิ” (= อธิคุณ) ออกแล้วเหมือนสองคำโน้น) ก็ต้องเป็น “วิสุทธิคุณ” คือยังมี “ธิ” อยู่ได้ เพราะ “ธิ” คำนี้เป็น ธิ ที่มาจากท้ายพยางค์ วิสุทธิ ไม่ใช่ ธิ ที่มาจาก อธิ (ซึ่งลบออกไปแล้ว) ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น

ถามว่า แล้วทำไมไม่เป็น “วิสุทธาคุณ” เหมือน “ปัญญาคุณ” “มหากรุณาคุณ” ที่ไม่มี “ธิ” เหมือนกัน

คำตอบก็เป็นไปตามหลัก คือ จะลบสระที่ท้ายคำหน้า คือ “ธิ” เป็น “ธ” ก็ต่อเมื่อมีสระ อ ที่ต้นคำหลังอันจะต้องทีฆะเป็น อา (คือ อธิคุณ เป็น อาธิคุณ)

แต่ในที่นี้อ้างว่า ลบ “อธิ” ออกเสียแล้ว ก็จึงเหลือแต่ “-คุณ” จึงไม่มี อ ให้ทีฆะเป็น อา

จึงเท่ากับ วิสุทธ + คุณ ก็ต้องเป็น “วิสุทธคุณ” จะเป็น “วิสุทธาคุณ” ไม่ได้

เพราะ “วิสุทธาธิคุณ” ไม่มี หรือไม่นิยม “วิสุทธาคุณ” ก็ไม่มี มีแต่ “วิสุทธิคุณ”

จึงต้องยึด “วิสุทธิคุณ” เป็นตัวหลัก นั่นคือ วิสุทธิ + คุณ (ไม่ใช่ วิสุทธิ + อธิคุณ)

ดังนั้น “ปัญญา” จึงต้อง + คุณ (สมเสมอกับ วิสุทธิ + คุณ) เป็น “ปัญญาคุณ” (ไม่ใช่ “ปัญญาธิคุณ”)

“กรุณา” (หรือ “มหากรุณา”) ก็ต้อง + คุณ เป็น “กรุณาคุณ” (ไม่ใช่ “กรุณาธิคุณ”)

ถ้ารักที่จะให้เป็น “ปัญญาธิคุณ” “กรุณาธิคุณ” ก็ต้องยอมให้เป็น “วิสุทธาธิคุณ” จึงจะสมเสมอกัน

แต่เมื่อ “วิสุทธาธิคุณ” ไม่มี “วิสุทธาคุณ” ก็ไม่มี แต่มี “วิสุทธิคุณ” ที่ยอมรับกันลงตัวแล้ว สองคำนั้นก็ต้องเป็น “ปัญญาคุณ” “กรุณาคุณ” (คือไม่มี “ธิ”) เพื่อให้สมเสมอกัน

ที่ว่ามานี้เอาบาลีเป็นหลัก ภาษาไทยก็ควรคล้อยตามหลักบาลี โดยเฉพาะคำทั้งสามในชุดนี้ควรอิงหลักบาลี

(ก็ยังไม่จบอยู่นั่นแหละ)

เป็นไปได้ที่จะอธิบายว่า “วิสุทธิคุณ” ก็ตั้งใจจะให้หมายถึง วิสุทธิ + อธิคุณ เหมือนกับอีกสองคำนั่นแหละ แต่ว่าเมื่อบวกกันแล้ว ถ้าเป็นไปตามหลักบาลี ก็ต้องเป็น “วิสุทธาธิคุณ”

เสียง “วิสุทธิ-” หายไป กลายเป็น “วิสุทธา-”

เราไม่ชอบ เพราะติดใจอยู่กับ “วิสุทธิ”

วิสุทธา ดูจะไม่สื่อความหมายถึงความบริสุทธิ์หมดจด เราต้องการจะให้คงเสียง “วิสุทธิ” เอาไว้

ครั้นคงเสียง “วิสุทธิ” เอาไว้ วิสุทธิ + อธิคุณ สมาสกันตามแบบไทย ไม่คำนึงว่าต้องลบหรือต้องทีฆะอะไรทั้งสิ้น ก็จะได้รูปเป็น “วิสุทธิธิคุณ” (ลบ “อ” ออกไปด้วยอำนาจอะไรสักอย่างหนึ่ง) มีเสียง “ธิ” ซ้อนกันสองคำ เราก็ไม่สะดวกปากอีก กับทั้งไม่สมเสมอกับอีกสองคำที่มีเสียง “ธิ” คำเดียว

เราก็เลยตัดเสียง “ธิ” ออกเสียตัวหนึ่งตามสะดวกลิ้น และตามความพอใจของเรา ให้เป็น “วิสุทธิคุณ” แล้วเล็งความหมายไว้ในใจว่า “วิสุทธิคุณ คือ วิสุทธิ + อธิคุณ” ทั้งๆ ที่รูปร่างของคำที่ปรากฏมันเป็นเช่นนั้นไม่ได้

อุปมาคล้ายๆ เราไปงานสังคม เขากำหนดว่าให้สวมเสื้อแขนยาว แต่เราสวมเสื้อแขนสั้นไป แล้วอธิบายแก่คนที่พบเห็นว่า เสื้อที่เราสวมนี้เป็นเสื้อแขนยาว เพราะเราตั้งเจตนาให้เป็นแขนยาว

คนฟังเขาจะเข้าใจหรือ ?

อีกทางหนึ่ง อาจอธิบายว่า “วิสุทธิคุณ”คำนี้ เราเขียนเป็น “วิสุทธิ์” (หรือจะเป็น วิสุทธ์ ก็ตาม) ออกเสียงว่า “วิสุด” แล้วบวกด้วย “อธิคุณ” (สมเสมอกับอีกสองคำ) “วิสุทธิ์” (วิ-สุด) + อธิคุณ แล้วลบ “อะ” ออกเสีย (ด้วยอำนาจอะไรสักอย่างหนึ่ง) รูปคำก็จะเป็น “วิสุทธิ์ธิคุณ” ได้เสียงว่า วิ-สุด-ทิ-คุน ตรงกับความสะดวกปากของเรา แล้วอธิบายว่า ต่อมาเราก็เลยตัด “ธิ์” ออก เขียนเป็น “วิสุทธิคุณ” เสียเลย

เพราะฉะนั้น วิสุทธิคุณ (ของไทยเรา) = วิสุทธิ์ธิคุณ = วิสุทธิธิคุณ = วิสุทธิอธิคุณ = วิสุทธิ + อธิคุณ สมเสมอกับอีกสองคำ

หรือไม่ก็อธิบายแบบขำขันไปเลย คือเอาพยางค์ท้ายของคำหน้าเป็นพยางค์แรกของคำหลังไปด้วย

“วิสุท “ธิ” คุณ” ก็คือ วิสุท + “ธิ” + คุณ

คือ วิสุท + ธิ = วิสุทธิ

แล้วก็ “ธิ” ท้ายคำ วิสุทธิ นั่นแหละ ก็คือ (อ) ธิ (พยางค์แรกของคำหลัง) + คุณ = อธิคุณ

ถ้างง ก็ดูตัวอย่างคำไทย

เหมือนพูดว่า “ได้เงินเดือนละเก้าพัน” โดยตั้งใจจะให้หมายถึง “ได้เงินเดือน + เดือนละเก้าพัน”

หรือเหมือนคำว่า “คนละเรื่องเดียวกัน” มาจาก “คนละเรื่อง + เรื่องเดียวกัน” = คนละเรื่องเดียวกัน

จะเห็นได้ว่า อธิบายดังว่ามานี้ย่อมมีคติเป็น ๒ คือ –

๑ อธิบายผิดให้เป็นถูก พูดให้เป็นหลักวิชาก็คือ เอาปรากฏการณ์ที่ผิดปกติมาตั้งเป็นกฎเพื่อให้เป็นปกติ หรือไม่ก็-

๒ ทำเรื่องจริงให้เป็นเรื่องเล่น

ไม่ว่าจะเป็นคติแบบไหน ก็ล้วนแต่ยากแก่การอนุโมทนา

(ยังมีต่อครับ)

สรุปเป็นหลักว่า คำในชุดนี้ถ้าจะให้เข้าชุดสมเสมอกัน ต้องเป็น

๑-+ “อธิคุณ”

ปัญญาธิคุณ (ปัญญา + อธิคุณ)

วิสุทธาธิคุณ (วิสุทธิ + อธิคุณ)

มหากรุณาธิคุณ (มหากรุณา + อธิคุณ)

๒-+ “คุณ”

ปัญญาคุณ (ปัญญา + คุณ)

วิสุทธิคุณ (วิสุทธิ + คุณ)

มหากรุณาคุณ (มหากรุณา + คุณ)

หลักย่อมเป็นดั่งว่ามานี้

เพราะคนส่วนใหญ่ไม่รู้ตระหนึกถึงหลัก หรือไม่ต้องการเอาหลักเป็นเกณฑ์ แต่เอาเสียงเอาความสะดวกปากเป็นหลัก คำในชุดนี้ ที่มี “ธิ” ทั้งสามคำตามที่นิยมพูดกัน –

ปัญญาธิคุณ (ปัญญา + อธิคุณ)

วิสุทธิคุณ (ตามรูปคือ วิสุทธิ + คุณ แต่อธิบายให้เป็น วิสุทธิ + อธิคุณ)

มหากรุณาธิคุณ (มหากรุณา + อธิคุณ)

จึงลักลั่น จะว่า “ผิด แต่สวย” ก็ว่าได้

ก็เป็นปรากฏการณ์ปกติของภาษา ภาษาไหนๆ ก็มีก็เป็นกันแบบนี้ทั้งนั้น

จึงขึ้นอยู่กับว่า –

เราจะเอาถูกเป็นสวย

หรือจะเอาสวยเป็นถูก ?

๒๕ พ.ค.๕๖

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย