อัปปมาณาภา (บาลีวันละคำ 3,518)
อัปปมาณาภา
รูปพรหมชั้นที่ห้า
อ่านว่า อับ-ปะ-มา-นา-พา เขียนแบบบาลีเป็น “อปฺปมาณาภา” แยกศัพท์เป็น อปฺปมาณ + อาภา
(๑) “อปฺปมาณ”
อ่านว่า อับ-ปะ-มา-นะ ประกอบด้วย อ + ปมาณ
(ก) “อ” บาลีอ่านว่า อะ (ไม่ใช่ ออ) คำเดิมคือ “น” (นะ) เป็นคำจำพวก “นิบาต” คำจำพวกนี้ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คือคงรูปเดิมเสมอ อาจเปลี่ยนรูปโดยวิธีสนธิกับคำอื่นบ้าง แต่คงถือว่าเป็นคำเดิมเพราะเวลาแปลต้องแยกคำออกเป็นคำเดิมเสมอ
นักเรียนบาลีมักท่องจำรวมกับคำอื่นในกลุ่มเดียวกันว่า “น ไม่ โน ไม่ มา อย่า ว เทียว” (น [นะ] = ไม่, โน = ไม่, มา = อย่า, ว [วะ] = เทียว)
“น” เป็นนิบาตบอกความปฏิเสธ แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)
(ข) “ปมาณ” บาลีอ่านว่า ปะ-มา-นะ รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + มา (ธาตุ = นับ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ
: ป + มา = ปมา + ยุ > อน = ปมาน > ปมาณ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การนับ” “วิธีอันเขานับ”
“ปมาณ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เครื่องวัด, ขนาด, จำนวน (measure, size, amount)
(2) เครื่องวัดเวลา, เข็มทิศ, ความยาว, ระยะเวลา (measure of time, compass, length, duration)
(3) อายุ = “โลกิยลักษณะ” (age = “worldly characteristic”)
(4) ขอบเขต (limit)
(5) มาตรฐาน, บทนิยาม, คำบรรยายลักษณะ, มิติ (standard, definition, description, dimension)
บาลี “ปมาณ” สันสกฤตเป็น “ปฺรมาณ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปฺรมาณ : (คำนาม) ‘ประมาณ,’ มูล, เหตุ; เขตต์; พิสูจน์, หลักฐาน, อธิการหรือศักติ์; ปริมาณ, กำหนดมากน้อย; เวทหรือธรรมศาสตร์; ผู้กล่าวความจริง; นามพระวิษณุ; cause, motive; limit; proof, testimony, authority; measure, quantity; a scripture or work of sacred authority; speaker of the truth; a title of Vishṇu; – ค. นิตย์, นิรันดร; มุขย์, มหัตหรือมหันต์; eternal; principal, capital.”
บาลี “ปมาณ” ในภาษาไทยใช้เป็น “ประมาณ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ประมาณ : (คำกริยา) กะหรือคะเนให้ใกล้เคียงจำนวนจริงหรือให้พอเหมาะพอควร เช่น เขาประมาณราคาค่าก่อสร้างบ้านไว้ ๓ ล้านบาท. (คำวิเศษณ์) ราว ๆ เช่น ประมาณ ๓-๔ เดือน. (ส. ปฺรมาณ; ป. ปมาณ).”
พจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บคำว่า “ปมาณ” ไว้ เป็นอันว่าคำนี้ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ประมาณ”
ในที่นี้ใช้ตามรูปบาลีเป็น “ปมาณ”
การประสมคำ :
น + ปมาณ
ตามกฎไวยากรณ์บาลี :
(1) ถ้าพยางค์แรกของคำที่ “น” ไปประสมด้วย ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ท่านให้แปลง “น” เป็น “อ” (อะ)
(2) ถ้าพยางค์แรกของคำที่ “น” ไปประสมด้วย ขึ้นต้นด้วยสระ คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ท่านให้แปลง “น” เป็น “อน” (อะ-นะ)
ในที่นี้ “ปมาณ” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ดังนั้นจึงต้องแปลง “น” เป็น “อ”
: น + ปมาณ = อปมาณ ซ้อน ปฺ ระหว่างนิบาตกับคำนาม
: น > อ + ปฺ + ปมาณ = อปฺปมาณ (อับ-ปะ-มา-นะ) แปลว่า “สิ่งที่นับไม่ได้”
“อปฺปมาณ” ในบาลี ใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) “ประมาณไม่ได้”, วัดไม่ได้, ไม่มีที่สิ้นสุด, ไม่มีขอบเขต, ไม่มีวงจำกัด, แผ่ไปทั่ว (“without measure”, immeasurable, endless, boundless, unlimited, unrestricted all-permeating)
(2) “ไม่มีความแตกต่างกัน”, ไม่อยู่ในประเด็น, โดยทั่ว ๆ ไป (“without difference”, irrelevant, in general)
(๒) “อาภา”
อ่านว่า อา-พา รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ภา (ธาตุ = รุ่งเรือง) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ
: อา + ภา = อาภา + กฺวิ = อาภากฺวิ > อาภา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่รุ่งเรืองอย่างยิ่ง” หมายถึง การส่องแสง, ความงดงาม, ความรุ่งโรจน์, แสงสว่าง (shine, splendour, lustre, light)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาภา : (คำนาม) แสง, รัศมี, ความสว่าง. (ป., ส.).”
อปฺปมาณ + อาภา = อปฺปมาณาภา แปลว่า “ผู้มีความรุ่งโรจน์นับไม่ได้”
ในภาษาบาลี “อปฺปมาณาภา” รูปคำเดิมเป็น “อปฺปมาณาภ” ใช้เป็นคุณศัพท์ขยายคำว่า “เทวา” (เทวดาทั้งหลาย) เปลี่ยนรูปเป็น “อปฺปมาณาภา”
“อปฺปมาณาภา” ในที่นี้ใช้ในภาษาไทยเป็น “อัปปมาณาภา” คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
อภิปรายขยายความ :
“อัปปมาณาภา” เป็นชื่อของพรหมชั้นที่ 5 ในรูปาวจรภูมิซึ่งมีทั้งหมด 16 ชั้น พรหม “อัปปมาณาภา” เป็นพรหมระดับทุติยฌาน กล่าวคือผู้บำเพ็ญฌานถึงระดับทุติยฌานดับขันธ์แล้วไปเกิดเป็นพรหมระดับนี้ ซึ่งมีอยู่ 3 จำพวก คือ พรหมปริตตาภา พรหมอัปปมาณาภา และ พรหมอาภัสระ หรือจะเรียกว่า ปริตตาภาพรหม อัปปมาณาภาพรหม และ อาภัสรพรหม ก็ได้
…………..
คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย ตอนอธิบายมหานิทานสูตร อธิบายเรื่องพรหม 3 จำพวกที่เกิดด้วยอำนาจทุติยฌานเหมือนกัน คือ พรหมปริตตาภา พรหมอัปปมาณาภา และ พรหมอาภัสระ เปรียบเทียบกันดังนี้ –
…………..
เตสุ จตุกฺกปญฺจกนเยสุ ทุติยตติยชฺฌานทฺวยํ ปริตฺตํ ภาเวตฺวา อุปปนฺนา ปริตฺตาภา นาม โหนฺติ ฯ
บรรดาพรหมเหล่านั้น ผู้เจริญฌานนิดหน่อย คือทุติยฌานและตติยฌานในจตุกนัยและปัญจกนัยมาเกิด ชื่อว่าพรหมปริตตาภา
เตสํ เทฺว กปฺปา อายุปฺปมาณํ ฯ
พรหมปริตตาภานั้นมีกำหนดอายุ 2 กัป
มชฺฌิมํ ภาเวตฺวา อุปปนฺนา อปฺปมาณาภา นาม โหนฺติ ฯ
ผู้เจริญทุติยฌานระดับปานกลางมาเกิด ชื่อว่าพรหมอัปปมาณาภา
เตสํ จตฺตาโร กปฺปา อายุปฺปมาณํ ฯ
พรหมอัปปมาณาภานั้นมีกำหนดอายุ 4 กัป
ปณีตํว ภาเวตฺวา อุปปนฺนา อาภสฺสรา นาม โหนฺติ ฯ
ผู้เจริญทุติยฌานระดับประณีตแท้มาเกิด ชื่อพรหมอาภัสระ
เตสํ อฏฺฐ กปฺปา อายุปฺปมาณํ ฯ
พรหมอาภัสระนั้นมีกำหนดอายุ 8 กัป
สพฺเพสํปิ เตสํ กาโย เอกวิปฺผาโรว โหติ ฯ
รูปร่างของพรหมทั้ง 3 ชั้นเหล่านั้นมีความผึ่งผายเป็นอย่างเดียวกันแท้
สญฺญา ปน อวิตกฺกวิจารมตฺตา วา อวิตกฺกาวิจารา วาติ นานา ฯ
แต่ที่ต่างกันคือวิตกและวิจารอันเป็นองค์ฌานที่บำเพ็ญมา คือบางพวกไม่มีวิตก แต่มีวิจาร บางพวกไม่มีทั้งวิตกทั้งวิจาร
ที่มา: สุมังคลวิลาสินี ภาค 2 หน้า 178-179
…………..
คัมภีร์ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย ตอนอธิบายมูลปริยายสูตร ขยายความไว้ว่า –
…………..
เอกตลวาสิโน เอว เจเต สพฺเพปิ ปริตฺตาภา อปฺปมาณาภา อาภสฺสราติ เวทิตพฺพา ฯ
พึงทราบว่า ปริตตาภาพรหม อัปปมาณาภาพรหม อาภัสรพรหม ทั้งหมดนี้สถิตอยู่ในชั้นเดียวกันนั่นเอง
ที่มา: ปปัญจสูทนี ภาค 1 หน้า 58
…………..
ดูก่อนภราดา!
: รัศมีไม่มีประมาณ ดี
: ความดีไม่มีประมาณด้วย ยิ่งดี
#บาลีวันละคำ (3,518)
29-1-65
…………………………….