บาลีวันละคำ

สัมมาทิฏฐิ (บาลีวันละคำ 3,557)

สัมมาทิฏฐิ

องค์ที่หนึ่งของมรรคมีองค์แปด

อ่านว่า สำ-มา-ทิด-ถิ

ประกอบด้วยคำว่า สัมมา + ทิฏฐิ

(๑) “สัมมา” 

เขียนแบบบาลีเป็น “สมฺมา” (สำ-มา) รากศัพท์มาจาก สมุ (ธาตุ = สงบ) + (อะ) ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ, ซ้อน มฺ, ลง อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สมุ > สม + = สมฺม + = สมฺม + อา = สมฺมา แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นเครื่องสงบ

หมายเหตุ :

สมฺมา” ตามรากศัพท์นี้ หมายถึง สลักของแอก (a pin of the yoke)

สมฺมา” ที่กำลังกล่าวถึงนี้น่าจะมีรากศัพท์เดียวกัน

——-

สมฺมา” เป็นคำที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อัพยยศัพท์” คือคำที่คงรูป ไม่เปลี่ยนรูปไปตามวิธีแจกวิภัตติ แต่อาจเปลี่ยนตามวิธีสนธิได้บ้าง และทำหน้าที่เป็นคุณศัพท์ ขยายคำอื่น ไม่ใช้ตามลำพัง

สมฺมา > สัมมา” แปลว่า โดยทั่วถึง, โดยสมควร, โดยถูกต้อง, โดยชอบ, ในทางดี, ตามสมควร, ดีที่สุด, โดยสมบูรณ์ (thoroughly, properly, rightly; in the right way, as it ought to be, best, perfectly)

คำที่ใช้ “สัมมา” นำหน้า ที่เราคุ้นกันดีก็เช่น สัมมาสัมพุทโธ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัมมาทิฐิ

คำที่ตรงกันข้ามกับ “สัมมา” ก็คือ “มิจฉา” (มิด-ฉา) แปลว่า ผิด, อย่างผิดๆ, ด้วยวิธีผิด, ไม่ถูก, เก๊, หลอกๆ (wrongly, in a wrong way, wrong–, false)

(๒) “ทิฏฐิ” 

เขียนแบบบาลีเป็น “ทิฏฺฐิ” โปรดสังเกต “ทิฏฺฐิ” บาลีมีจุดใต้ ปฏัก อ่านว่าทิด-ถิ รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + ติ ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ, แปลง ติ เป็น ฏฺฐิ

: ทิสฺ + ติ = ทิสฺติ > ทิติ > ทิฏฺฐิ แปลตามศัพท์ว่า “ความเห็น” หมายถึง ความคิดเห็น, ความเชื่อ, หลักลัทธิ, ทฤษฎี, การเก็ง, ทฤษฎีที่ผิด, ความเห็นที่ปราศจากเหตุผลหรือมูลฐาน (view, belief, dogma, theory, speculation, false theory, groundless or unfounded opinion)

ในภาษาธรรม ถ้าพูดเฉพาะ “ทิฏฺฐิ” จะหมายถึง ความเห็นผิด

ถ้าต้องการชี้เฉพาะ จะมีคำบ่งชี้นำหน้า คือ “มิจฺฉาทิฏฺฐิ” = ความเห็นผิดสมฺมาทิฏฺฐิ” = ความเห็นถูก

บาลี “ทิฏฺฐิ” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกเขียนเป็น “ทิฐิ” แต่คงอ่านว่า ทิด-ถิ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทิฐิ : (คำนาม) ความเห็น เช่น สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ มิจฉาทิฐิ ความเห็นผิด; ความอวดดื้อถือดี เช่น เขามีทิฐิมาก. (ป. ทิฏฺฐิ; ส. ทฺฤษฺฏิ).”

คำนี้เมื่อใช้ในภาษาธรรมยังมีผู้นิยมสะกดตามรูปคำเดิม ไม่ตัดตัวสะกด คือเขียนเป็น “ทิฏฐิ” (ไม่มีจุดใต้ ปฏัก)

สมฺมา + ทิฏฺฐิ = สมฺมาทิฏฺฐิ (สำ-มา-ทิด-ถิ) ใช้ในภาษาไทยเป็น “สัมมาทิฏฐิ” แปลตามสำนวนนิยมว่า “ความเห็นชอบ” หมายถึง ความเห็นที่ถูกต้อง

“ชอบ” ในภาษาไทยมักหมายถึง ถูกใจ หรือ like

“ชอบ” ในภาษาบาลีหมายถึง ถูกต้อง หรือ right

สัมมาทิฏฐิ” เป็นองค์หนึ่งในหลักธรรมที่เรียกว่า “มรรคมีองค์แปด” อันประกอบด้วย (1) สัมมาทิฏฐิ (2) สัมมาสังกัปปะ (3) สัมมาวาจา (4) สัมมากัมมันตะ (5) สัมมาอาชีวะ (6) สัมมาวายามะ (7) สัมมาสติ (8 ) สัมมาสมาธิ

ขยายความ :

ในพระไตรปิฎกท่านให้คำจำกัดความคำว่า “สัมมาทิฏฐิ” ไว้ดังนี้ – 

…………..

กตมา  จ  ภิกฺขเว  สมฺมาทิฏฺฐิ  ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิคืออย่างไร

ยํ  โข  ภิกฺขเว  

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความรู้อันใดแล

ทุกฺเข  ญาณํ

คือความรู้ในทุกข์

ทุกฺขสมุทเย  ญาณํ

ความรู้ในเหตุให้เกิดทุกข์

ทุกฺขนิโรเธ  ญาณํ

ความรู้ในธรรมเป็นที่ดับทุกข์

ทุกฺขนิโรธคามินิยา  ปฏิปทาย  ญาณํ

ความรู้ในข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์

อยํ  วุจฺจติ  ภิกฺขเว  สมฺมาทิฏฺฐิ  ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ

ที่มา: มหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค 

พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 299

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [293] สรุปความหมายของ “สัมมาทิฏฐิ” ไว้ดังนี้ –

…………..

1. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ ได้แก่ ความรู้อริยสัจจ์ 4 หรือ เห็นไตรลักษณ์ หรือ รู้อกุศลและอกุศลมูลกับกุศลและกุศลมูล หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท — Sammādiṭṭhi: Right View; Right Understanding)

…………..

สรุปว่า “สัมมาทิฏฐิ” หมายถึง ความรู้ความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องในอริยสัจสี่

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าเห็นถูกต้องแล้วก็ไม่ยาก

: แต่ยากที่จะเห็นถูกต้อง

#บาลีวันละคำ (3,557)

9-3-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *