พระราชาคณะ (บาลีวันละคำ 1,302)
พระราชาคณะ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ราชาคณะ : (คำนาม) สมณศักดิ์ชั้นสูงกว่าพระครูสัญญาบัตรขึ้นไป ใช้ว่า พระราชาคณะ.”
(๑) “พระ”
มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” แปลง ว เป็น พ ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พระ” ไว้ 13 อย่าง ในที่นี้คำว่า “พระ” เป็นคำใช้ประกอบสมณศักดิ์ชั้นราชาคณะ
(๒) “ราชา”
รากศัพท์มาจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี, พอใจ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ลบ ญฺ, ยืดเสียง ร เป็น รา
: รญฺช + ณ = รญฺชณ > รญฺช > รช > ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังผู้คนให้ยินดีในตน” หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)
“ราชา” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง
(๓) “คณะ”
บาลีเขียน “คณ” (คะ-นะ) รากศัพท์มาจาก คณฺ (ธาตุ = นับ) + อ ปัจจัย
: คณฺ + อ = คณ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนย่อยที่นับรวมกัน”
(1) เมื่อใช้คำเดียว หมายถึง กลุ่มคน, ฝูงชน, คนจำนวนมากมาย (a crowd, a multitude, a great many)
(2) เมื่อใช้เป็นส่วนท้ายคำสมาส หมายถึงการรวมเป็นหมู่ของสิ่งนั้นๆ (a collection of) กล่าวคือ กลุ่ม, ฝูงชน, มวล; ฝูง, ฝูงสัตว์; โขลง, หมู่, การรวมกันเป็นหมู่ (a multitude, mass; flock, herd; host, group, cluster)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “คณ-, คณะ” ไว้ดังนี้ –
(1) หมู่, พวก, (ซึ่งแยกมาจากส่วนใหญ่).
(2) กลุ่มคนผู้ร่วมกันเพื่อการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น คณะกรรมการ คณะสงฆ์ คณะนักท่องเที่ยว.
(3) หน่วยงานในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่เทียบเท่าซึ่งรวมภาควิชาต่าง ๆ ที่จัดการเรียนการสอนวิชาในสายเดียวกัน เช่น คณะนิติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์.
(4) จำนวนคำที่กำหนดไว้ในการแต่งร้อยกรองแต่ละประเภท โดยแบ่งเป็นบท บาท และวรรค เช่น คณะของกลอนแปด ๑ บท มี ๒ บาท แต่ละบาทมี ๒ วรรค แต่ละวรรคมี ๖ ถึง ๙ คำ.
พระ + ราชา + คณะ = พระราชาคณะ
สันนิษฐานกันว่า คำว่า “ราชาคณะ” น่าจะกร่อนมาจาก “สังฆราชาคณะ”
“สังฆราชา” แปลว่า “ราชาแห่งสงฆ์” หมายถึงพระภิกษุที่ได้รับสถาปนาให้เป็นประมุขสงฆ์ คือที่เรียกในปัจจุบันว่า สมเด็จพระสังฆราช
“สังฆราชาคณะ” แปลว่า “คณะของสังฆราชา” คือพระสงฆ์ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ช่วยปฏิบัติกิจของพระสังฆราชทำนองเดียวกับอำมาตย์ของพระราชา
ต่อมาคำว่า “สังฆ” กร่อนหายไป คงเรียกกันแต่ “ราชาคณะ”
“พระราชาคณะ” เป็นสมณศักดิ์ที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่พระสงฆ์
พระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะจะมีราชทินนามต่างๆ กันไป ขึ้นต้นด้วยคำว่า “พระ-”
ภาษาปากเรียกพระราชาคณะว่า “เจ้าคุณ”
พระราชาคณะแบ่งเป็นชั้นต่างๆ และอาจได้รับพระราชทานเลื่อนชั้นขึ้นไปตามลำดับ ที่ยุติในปัจจุบันมีลำดับดังนี้ –
(1) พระราชาคณะชั้นสามัญ อันเป็นชั้นต้นของพระราชาคณะ ราชทินนามเช่น พระศรีวิสุทธิวงศ์ พระเมธีวราภรณ์
(2) พระราชาคณะชั้นราช เช่น พระราชสุธี พระราชโมลี
(3) พระราชาคณะชั้นเทพ เช่น พระเทพโมลี พระเทพเวที
(4) พระราชาคณะชั้นธรรม เช่น พระธรรมปิฎก พระธรรมปัญญาภรณ์
(5) พระราชาคณะเจ้าคณะรอง (ชั้นหิรัญบัฏ) นิยมเรียกกันว่า “ชั้นพรหม” เช่น พระพรหมคุณาภรณ์ พระพรหมมุนี
(6) สมเด็จพระราชาคณะ (ชั้นสุพรรณบัฏ) คือที่นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า “สมเด็จ” เช่น สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ สมเด็จพระวันรัต
ต่อจากชั้นสมเด็จก็จะเป็น “สมเด็จพระสังฆราช”
……….
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ !
อันว่าสมณศักดิ์ “พระราชาคณะ” นั้น >
: จงเป็นเถิด เพื่อจะได้ทำประโยชน์ส่วนรวมให้มากขึ้น
: แต่อย่าทำประโยชน์ให้มากขึ้นเพื่อจะได้เป็น
22-12-58