สัมมาสังกัปปะ (บาลีวันละคำ 3,558)
สัมมาสังกัปปะ
องค์ที่สองของมรรคมีองค์แปด
อ่านว่า สำ-มา-สัง-กับ-ปะ
ประกอบด้วยคำว่า สัมมา + สังกัปปะ
(๑) “สัมมา” บาลีเป็น “สมฺมา” (สำ-มา)
“สมฺมา” รากศัพท์มาจาก สมุ (ธาตุ = สงบ) + อ ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ, ซ้อน มฺ, ลง อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สมุ > สม + ม = สมฺม + อ = สมฺม + อา = สมฺมา แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นเครื่องสงบ”
หมายเหตุ :
“สมฺมา” ตามรากศัพท์นี้ หมายถึง สลักของแอก (a pin of the yoke)
“สมฺมา” ที่กำลังกล่าวถึงนี้น่าจะมีรากศัพท์เดียวกัน
——-
“สมฺมา” เป็นคำที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อัพยยศัพท์” คือคำที่คงรูป ไม่เปลี่ยนรูปไปตามวิธีแจกวิภัตติ แต่อาจเปลี่ยนตามวิธีสนธิได้บ้าง และทำหน้าที่เป็นคุณศัพท์ ขยายคำอื่น ไม่ใช้ตามลำพัง
“สมฺมา > สัมมา” แปลว่า โดยทั่วถึง, โดยสมควร, โดยถูกต้อง, โดยชอบ, ในทางดี, ตามสมควร, ดีที่สุด, โดยสมบูรณ์ (thoroughly, properly, rightly; in the right way, as it ought to be, best, perfectly)
คำที่ใช้ “สัมมา” นำหน้า ที่เราคุ้นกันดีก็เช่น สัมมาสัมพุทโธ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัมมาทิฐิ
คำที่ตรงกันข้ามกับ “สัมมา” ก็คือ “มิจฉา” (มิด-ฉา) แปลว่า ผิด, อย่างผิดๆ, ด้วยวิธีผิด, ไม่ถูก, เก๊, หลอกๆ (wrongly, in a wrong way, wrong–, false)
(๒) “สังกัปปะ”
เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺกปฺป” อ่านว่า สัง-กับ-ปะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + กปฺปฺ (ธาตุ = ตรึก) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ)
: สํ + กปฺป = สํกปฺปฺ + อ = สํกปฺป > สงฺกปฺปฺ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมเป็นเหตุดำริ” (2) “ธรรมเครื่องดำริ” หมายถึง ความคิด, ความจำนง, ความประสงค์, ความดำริ (thought, intention, purpose, plan)
เพื่อให้เข้าใจความหมายของ “สงฺกปฺปฺ” กว้างขวางขึ้น ควรศึกษาความหมายของ “สงฺกปฺเปติ” (สัง-กับ-เป-ติ) อันเป็นรูปคำกริยาสามัญของ “สงฺกปฺปฺ” ซึ่งมีคำแปลดังนี้ –
(1) ดำริ; ประสงค์ (to imagine; wish)
(2) ตกลงใจ, คิด, พยายาม (to determine, to think about, strive after)
สรุปความหมายของ “สงฺกปฺปฺ” แบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือ การตั้งเป้าหมาย กำหนดทิศทาง วางแผน ในการที่จะทำอะไรสักอย่างหรือในการที่จะเป็นอะไรสักอย่าง
อาจเทียบได้กับคำที่ผู้ใหญ่ถามเด็กว่า โตขึ้นจะทำงานอะไร หรือโตขึ้นอยากจะเป็นอะไร คำตอบของเด็กนั่นแหละคือ “สงฺกปฺปฺ” ของเด็ก
“สงฺกปฺปฺ” ในภาษาไทยใช้เป็น “สังกัปปะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สังกัปปะ : (คำนาม) ความดําริ. (ป.).”
อภิปรายแทรก :
ในภาษาไทยมีคำศัพท์ว่า “สังกัป” ซึ่งเป็นคำเดียวกับ “สงฺกปฺปฺ” ในบาลี พจนานุกรมบางฉบับบอกว่า “สังกัป” เป็นคำที่บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า concept
ศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถานมีคำว่า concept บัญญัติเป็นคำไทยว่า แนวคิด, แนวความคิด, มโนทัศน์, มโนภาพ
พจนานุกรมบางฉบับแปล concept ว่า ความคิดรวบยอด, มโนทัศน์, มโนมติ, สังกัป, แนวคิด
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล concept ว่า ความคิด, สิ่งที่คิดขึ้น
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล concept เป็นบาลีดังนี้ –
(1) saṅkappa สงฺกปฺป (สัง-กับ-ปะ) = ความดำริ, ความนึกคิด
(2) mati มติ (มะ-ติ) = ความคิด, ความรู้, ความเห็น
สมฺมา + สงฺกปฺป = สมฺมาสงฺกปฺป (สำ-มา-สัง-กับ-ปะ) ใช้ในภาษาไทยเป็น “สัมมาสังกัปปะ” แปลตามสำนวนนิยมว่า “ความดำริชอบ” หมายถึง ความดำริที่ถูกต้อง
“ชอบ” ในภาษาไทยมักหมายถึง ถูกใจ หรือ like
“ชอบ” ในภาษาบาลีหมายถึง ถูกต้อง หรือ right
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมฺมาสงฺกปฺปฺ” ว่า right thoughts or intentions (การดำริหรือความตั้งใจถูกต้อง)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “สัมมาสังกัปปะ” เป็นอังกฤษ ดังนี้ –
Sammāsaŋkappa : Right Thought; Right Mental Attitude; Right Motives; Right Aspiration.
…………..
“สัมมาสังกัปปะ” เป็นองค์หนึ่งในหลักธรรมที่เรียกว่า “มรรคมีองค์แปด” อันประกอบด้วย (1) สัมมาทิฏฐิ (2) สัมมาสังกัปปะ (3) สัมมาวาจา (4) สัมมากัมมันตะ (5) สัมมาอาชีวะ (6) สัมมาวายามะ (7) สัมมาสติ (8 ) สัมมาสมาธิ
ขยายความ :
ในพระไตรปิฎกท่านให้คำจำกัดความคำว่า “สัมมาสังกัปปะ” ไว้ดังนี้ –
…………..
กตโม จ ภิกฺขเว สมฺมาสงฺกปฺโป ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมมาสังกัปปะคืออย่างไร
เนกฺขมฺมสงฺกปฺโป
ความดำริในการออกจากกาม (ออกจากวิถีโลกสู่วิถีธรรม)
อพฺยาปาทสงฺกปฺโป
ความดำริในความไม่พยาบาท (ไม่ผูกใจเจ็บกับใครใด)
อวิหึสาสงฺกปฺโป
ความดำริในการไม่เบียดเบียน (ไม่ทำให้ใครใดเดือดร้อนแม้เพียงแค่ใจคิด)
อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว สมฺมาสงฺกปฺโป ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่าสัมมาสังกัปปะ
ที่มา: มหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค
พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 299
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [293] สรุปความหมายของ “สัมมาสังกัปปะ” ไว้ดังนี้ –
…………..
2. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ ได้แก่ เนกขัมมสังกัปป์ อพยาบาทสังกัปป์ อวิหิงสาสังกัปป์ — Sammāsaṅkappa: Right Thought)
…………..
และพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [69] กุศลวิตก 3 ขยายความลักษณะของ “สัมมาสังกัปปะ” ทั้ง 3 ข้อไว้ดังนี้ –
…………..
1. เนกขัมมวิตก (ความตรึกปลอดจากกาม, ความนึกคิดในทางเสียสละ ไม่ติดในการปรนปรือสนองความอยากของตน — Nekkhamma-vitakka: thought of renunciation; thought free from selfish desire)
2. อพยาบาทวิตก (ความตรึกปลอดจากพยาบาท, ความนึกคิดที่ประกอบด้วยเมตตา ไม่ขัดเคืองหรือเพ่งมองในแง่ร้าย — Abyāpāda-vitakka: thought free from hatred)
3. อวิหิงสาวิตก (ความตรึกปลอดจากการเบียดเบียน, ความนึกคิดที่ประกอบด้วยกรุณาไม่คิดร้ายหรือมุ่งทำลาย — Avihiṃsā-vitakka: thought of non-violence; thought free from cruelty)
…………..
สรุปว่า “สัมมาสังกัปปะ” หมายถึง การตั้งเป้าหมาย กำหนดทิศทาง วางแผน ในการที่จะทำอะไรสักอย่างหรือในการที่จะเป็นอะไรสักอย่าง-อย่างถูกต้อง ถูกทาง ถูกธรรม
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ตั้งเป้าหมายถูก สำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง
: แต่ถ้าไม่ลงมือทำ คือล้มเหลวทั้งหมด
#บาลีวันละคำ (3,558)
10-3-65
…………………………………..
…………………………………..