บาลีวันละคำ

ยามา (บาลีวันละคำ 3,510)

ยามา

สวรรค์ชั้นที่สาม

อ่านตรงตัวว่า ยา-มา

ยามา” รูปคำเดิมเป็น “ยาม” อ่านว่า ยา-มะ รากศัพท์มาจาก ยา (ธาตุ ไป; ถึง, บรรลุ) + ปัจจัย

: ยา + = ยาม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “เทพผู้ไปจากทุกข์” (2) “เทพผู้ถึงสุขทิพย์” หมายถึง สวรรค์ชั้นยามา, เทพชั้นยามา

ยาม” เป็นคุณศัพท์ขยายคำว่า “เทวา” (เทวดาทั้งหลาย) เปลี่ยนรูปเป็น “ยามา” (ยา-มา)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำว่า “ยามา” ว่า inhabitants of Yamaloka (ผู้อยู่ในยมโลก) 

และอธิบายไว้ว่า one who belongs to Yama or the ruler of the Underworld; a subject of Yama; the realm of Yama (ผู้เป็นพญายม หรือผู้ปกครองยมโลก; คนในบังคับของพระยม, อาณาจักรพระยม)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า – 

ยามา : (คำนาม) ชื่อสวรรค์ชั้นที่ ๓ แห่งสวรรค์ ๖ ชั้น ได้แก่ จาตุมหาราชหรือจาตุมหาราชิกหรือจาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี, มีท้าวสุยามเป็นผู้ครอง.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็นดังนี้ – 

ยามา : (คำนาม) ชื่อสวรรค์ชั้นที่ ๓ แห่งสวรรค์ ๖ ชั้น มีท้าวสุยามเป็นใหญ่ในชั้นนี้. (ดู ฉกามาพจร ประกอบ).”

โปรดสังเกตและเปรียบเทียบคำนิยามของพจนานุกรมฯ ทั้ง 2 ฉบับ แล้วศึกษาวิธีคิดของคณะกรรมการผู้จัดทำ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า 

ยามะ, ยามา : สวรรค์ชั้นที่ ๓ มีท้าวสุยามเทพบุตรปกครอง.”

ขยายความ :

คัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี (อรรถกถาแห่งคัมภีร์พุทธวงศ์) หน้า 521 ตอนอธิบายโคตมพุทฺธวงศ์ บรรยายความตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เมื่อเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาเป็นเวลา 3 เดือนในพรรษาที่ 7 นับจากตรัสรู้ มีความตอนหนึ่งกล่าวถึงสุยามเทพบุตร ดังนี้

…………..

ตสฺมึ  สมเย  สกฺโก  เทวราชา  วิชยุตฺตรํ  นาม  สงฺขํ  ธมมาโน อฏฺฐาสิ  ฯ  โส  กิร  สงฺโข  วีสหตฺถสติโก  อโหสิ  ฯ  

กาลครั้งนั้น ท้าวสักเทวราชทรงยืนเป่าสังข์วิชยุดร ว่ากันว่าสังข์นั้นยาวสองพันศอก.

ปญฺจสิโข  คนฺธพฺพเทวปุตฺโต  ติคาวุตายตํ  เพฬุวปณฺฑุวีณํ  อาทาย  วาทยมาโน  มงฺคลยุตฺตานิ  คีตานิ  คายมาโน  อฏฺฐาสิ  ฯ  

ปัญจสิขคนธรรพ์เทพบุตรถือพิณสีเหลืองดังผลมะตูมยาวสามคาวุต ยืนบรรเลงขับร้องมงคลคีตา

สุยาโม  เทวราชา  ติคาวุตายตํ  สรทสมยรชนิกรสสฺสิริกํ  ทิพฺพจามรํ  คเหตฺวา  มนฺทํ  มนฺทํ  พีชยมาโน  อฏฺฐาสิ  ฯ 

ท้าวสุยามเทวราชทรงถือทิพยจามรอันมีสิริดังดวงจันทร์ในสรทฤดูยาวสามคาวุต ยืนถวายงานพัดรำเพยลมอ่อนๆ

พฺรหฺมา  จ  สหมฺปติ  ติโยชนวิตฺถตํ  ทุติยมิว  ปุณฺณจนฺทํ  เสตจฺฉตฺตํ  ภควโต  อุทฺธํ  ธาเรตฺวา  อฏฺฐาสิ  ฯ

ส่วนท้าวสหัมบดีพรหมยืนกั้นฉัตรดังจันทร์ดวงที่สองกว้างสามโยชน์ไว้เบื้องบนพระผู้มีพระภาคเจ้า

…………..

ประวัติท้าวสุยามและบทบาทอื่นๆ ยังไม่พบในคัมภีร์

แถม :

พึงระวัง สวรรค์ชั้นนี้ชื่อ “ยามา” อย่าเข้าใจผิดเป็น “มายา

บาลี 2 คำนี้ สลับเสียงสลับคำเหมือนจะล้อกัน แต่เป็นคนละคำกัน และมีความหมายคนละอย่าง

มายา” เป็นคำบาลีที่เราค่อนข้างคุ้น มีความหมายว่า การลวง, การแสร้งทํา, เล่ห์กล

ผู้ที่ไม่คุ้นกับชื่อ “ยามา” มักเข้าใจผิดว่าสวรรค์ชั้นนี้ชื่อ “มายา” ซ้ำยังอธิบายว่า เป็นสวรรค์ชั้นที่มีความสวยงามชวนพิศวงหลงใหลราวกับมนตร์เสน่ห์มายา

น่าเชื่อ แต่โปรดทราบว่า ไม่ใช่

ยามา” ไม่ใช่ “มายา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เรียนคำ จบ

: เรียนคน ไม่จบ

#บาลีวันละคำ (3,510)

21-1-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *