บาลีวันละคำ

จตุรภักตร์รังสฤษดิ์ (บาลีวันละคำ 3,555)

จตุรภักตร์รังสฤษดิ์

พรหมลิขิตตัวจริงคือมนุษย์

อ่านว่า จะ-ตุ-ระ-พัก-รัง-สะ-หฺริด

ประกอบด้วยคำว่า จตุรภักตร์ + รังสฤษดิ์ 

(๑) “จตุรภักตร์

อ่านว่า จะ-ตุ-ระ-พัก ประกอบด้วยคำว่า จตุร + ภักตร์ 

(ก) “จตุร” ศัพท์เดิมเป็น “จตุ” (จะ-ตุ) แปลว่า สี่ (จำนวนสี่) แปลงเป็น “จตุร” เมื่อเป็นส่วนหน้าของคำสมาส หรือจะว่าลง อาคมเมื่อมีศัพท์อื่นมาสมาสก็ได้

(ข) “ภักตร์” คำนี้อักขรวิธีปัจจุบันสะกดเป็น “พักตร์” มาจากรูปคำสันสกฤตว่า “วกฺตฺร” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

วกฺตฺร : (คำนาม) ‘พักตร์,’ หน้า; the face.”

สันสกฤต “วกฺตฺร” ใช้ในภาษาไทยเป็น “พักตร-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “พักตร์” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พักตร-, พักตร์ : (คำราชาศัพท์) (คำนาม) หน้า, ใช้ว่า พระพักตร์. (ส. วกฺตฺร).”

สันสกฤต “วกฺตฺร” ถ้าเทียบเป็นบาลีก็คือ “วตฺต” 

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) มีคำว่า “วตฺต” ๒ บอกรากศัพท์ว่า –

(1) วทฺ (ธาตุ = พูด) + ปัจจัย, แปลง ทฺ เป็น

: วทฺ + = วทฺตฺ > วตฺต แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องพูด” 

(2) วจฺ (ธาตุ = กล่าว, พูด) + ปัจจัย, แปลง จฺ เป็น

: วจฺ + = วจฺตฺ > วตฺต แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องกล่าววาจา” 

วตฺต” ตามรากศัพท์ที่แสดงมานี้ ท่านว่าหมายถึง ปาก, ผู้พูด (the mouth, speaker)

ในบาลีมีศัพท์ว่า “มุข” ซึ่งหมายถึง “ปาก” (the mouth) ก็ได้ หมายถึง “หน้า” (the face) ก็ได้ ถ้าใช้คำว่า “มุข” มาเทียบ “วตฺต” ที่หมายถึง “ปาก” ก็ควรจะหมายถึง “หน้า” ได้ด้วยเช่นกัน

นักเรียนบาลีพึงสืบค้นต่อไปว่า ในคัมภีร์มีศัพท์ว่า “วตฺต” ที่หมายถึง “หน้า” (the face) ใช้ด้วยหรือไม่

จตุร + พักตร์ = จตุรพักตร์ (จะ-ตุ-ระ-พัก) แปลว่า “ผู้มีสี่หน้า” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “จตุรพักตร์” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –

จตุรพักตร์ : (คำวิเศษณ์) ‘ผู้มี ๔ หน้า’ คือ พระพรหม.”

ในที่นี้สะกดตามอักขรวิธีเก่าเป็น “จตุรภักตร์” 

(๒) “รังสฤษดิ์

อ่านว่า รัง-สะ-หฺริด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

รังสฤษฏ์ : (คำกริยา) สร้าง, แต่งตั้ง.”

พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “รังสฤษฏ์” เป็นภาษาอะไรหรือมาจากภาษาอะไร

พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “สฤษฏ์” คำเดียว และสะกดเป็น “สฤษฎิ” และ “สฤษฎี” อีกด้วย บอกไว้ดังนี้ –

สฤษฎิ, สฤษฎี, สฤษฏ์ : (คำนาม) การทํา, การสร้าง, ใช้ว่า สฤษดิ์ ก็มี. (ส.).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “สฤษฏ์” เป็นรูปคำสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “สฤษฏ” บอกไว้ดังนี้ – 

(สะกดตามต้นฉบับ) 

สฤษฏ : (คำวิเศษณ์) อันสร้างหรือทำแล้ว; มาก; อันกำหนดหรือหมายรู้แล้ว; อันสนธาหรือต่อแล้ว; อันประดับหรือตกแต่งแล้ว; อันละหรือทิ้งแล้ว; created od made; much, many; ascertained; joined or connected; ornamented or adorned; left or abandoned.” 

และมีคำว่า “สฤษฏิ” บอกไว้ดังนี้ –

สฤษฏิ : (คำนาม) การสร้าง; ประกฤติ (หรือ ปรกฤติ), ‘ธรรมดาหรือธรรมชาติ’ ก็ใช้ตามมติไท; สวภาพหรือภาวะแห่งลักษณ, คำว่า ‘สวรูป, สวธรรม’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; creation or creating; nature, the existence of properties or qualities.”

เป็นอันว่า คำสันสกฤต “สฤษฏ” หรือ “สฤษฏิ” เราเอามาใช้ว่า “สฤษฏ์” และแผลงเป็น “รังสฤษฏ์” แปลว่า สร้างหรือทำ

รังสฤษฏ์” ในที่นี้สะกดเป็น “รังสฤษดิ์” ตามที่พจนานุกรมฯ ว่า “ใช้ว่า สฤษดิ์ ก็มี” 

นักเรียนบาลีพึงสืบค้นต่อไปว่า “สฤษฏ” และ “สฤษฏิ” ตามรูปสันสกฤตนี้ เทียบกับคำบาลีคือคำอะไร

จตุรภักตร์ + รังสฤษดิ์ = จตุรภักตร์รังสฤษดิ์ (จะ-ตุ-ระ-พัก-รัง-สะ-หฺริด) แปลว่า “พระพรหมสร้าง

ขยายความ :

จตุรภักตร์รังสฤษดิ์” เป็นชื่อสะพานแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ 

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อ่านเมื่อ 7 มีนาคม 2565 เวลา 20:30) มีคำว่า “จตุรภักตร์รังสฤษดิ์” บรรยายความตอนหนึ่ง ดังนี้ (วรรคตอนและสะกดตามต้นฉบับ)

…………..

สะพานจตุรภักตร์รังสฤษดิ์ หรือที่นิยมเรียกกันว่า สะพานขาว เป็นหนึ่งในสะพานที่สร้างข้ามคลองผดุงกรุงเกษม เชื่อมระหว่างถนนหลานหลวง ตั้งอยู่ในพื้นที่แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต กับแขวงคลองมหานาคและแขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ถือกำเนิดขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม หลังจากพื้นที่พระนครและประชาชนริมคลองมีการขยายตัวขึ้น โดยการสร้างขึ้นมาทั้งหมดห้าแห่ง และมีการพระราชทานนามอันเป็นมงคลที่คล้องจองกันทั้งหมด คือ สะพานเทเวศรนฤมิตร, สะพานวิศสุกรรมนฤมาณ, สะพานมัฆวานรังสรรค์, สะพานเทวกรรมรังรักษ์ และสะพานจตุรภักตร์รังสฤษดิ์ ซึ่งมีความหมายโดยรวมว่า “สะพานที่เทวดาเนรมิตร” และในส่วนของสะพานจตุรภักตร์รังสฤษดิ์มีความหมายว่า “สะพานที่พระพรหมเป็นผู้สรรค์สร้าง” ได้รับการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2496 รวมถึงมีการสร้างสะพานลักษณะแบบเดียวกันอีกสองแห่งขนานคู่กันอีกด้วย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ชื่อสะพานแปลว่าพระพรหมสร้างก็จริง

: แต่สะพานจริงมนุษย์สร้าง

#บาลีวันละคำ (3,555)

7-3-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *