เทวกรรม์รังรักษ์ (บาลีวันละคำ 3,554)
เทวกรรม์รังรักษ์
ช่วยกันทัก-กรรม์ ต้องมีการันต์ที่ ม
อ่านว่า เท-วะ-กัน-รัง-รัก
ประกอบด้วยคำว่า เทวกรรม์ + รังรักษ์
(๑) “เทวกรรม์”
โปรดสังเกตว่า ในที่นี้สะกดเป็น “เทวกรรม์” มีการันต์ที่ ม์ รูปคำปกติคือ “เทวกรรม” (ไม่มีการันต์ที่ ม์) ประกอบด้วยคำว่า เทว + กรรม
(ก) “เทว” บาลีอ่านว่า เท-วะ รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + อ (อะ) ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว)
: ทิวฺ + อ = ทิว > เทว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ”
ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา
แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังมีความหมายอีกหลายอย่าง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ –
(1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ)
(2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ)
(3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน)
(ข) “กรรม” บาลีเป็น “กมฺม” อ่านว่า กำ-มะ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ร ที่ต้นปัจจัย
: กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม
“กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมใช้ทับศัพท์อิงรูปสันสกฤตว่า “กรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กรรม ๑, กรรม– ๑ : (คำนาม) (๑) การ, การกระทำ, การงาน, กิจ, เช่น พลีกรรม ต่างกรรมต่างวาระ, เป็นการดีก็ได้ ชั่วก็ได้ เช่น กุศลกรรม อกุศลกรรม.(๒) การกระทำที่ส่งผลร้ายมายังปัจจุบัน หรือซึ่งจะส่งผลร้ายต่อไปในอนาคต เช่น บัดนี้กรรมตามทันแล้ว ระวังกรรมจะตามทันนะ.(๓) บาป, เคราะห์, เช่น คนมีกรรม กรรมของฉันแท้ ๆ.(๔) ความตาย ในคำว่า ถึงแก่กรรม.”
ในที่นี้ “กรรม” หมายถึง การงานทั่วไป
เทว + กมฺม = เทวกมฺม (เท-วะ-กำ-มะ) แปลว่า “งานของเทวดา”
“เทวกมฺม” ใช้ในภาษาไทยเป็น “เทวกรรม” ในที่นี้หมายถึง “เทวดาผู้ทำงาน” คือเทวดาผู้มีหน้าที่ในการก่อสร้าง ความหมายเช่นนี้ “เทวกรรม” ก็น่าจะหมายถึง พระวิษณุกรรม
สืบค้นเบื้องต้น พบว่ามีหนังสือเก่าต้นฉบับจากสมุดไทย ชื่อ “ตำราเทวรูปพระไสยศาสตร์” มีรูปเทพองค์หนึ่ง ลักษณะคล้ายคลึงกับพระพิฆเนศ สะกดชื่อว่า “พระเทวกรรม์” (มีเครื่องหมายทัณฑฆาตบน ม) ว่าเป็นเทพแห่งวิชาช้าง (คชศาสตร์) บ้างก็ว่าเป็นเทพแห่งการช่าง (ช้างกับช่าง ดูจะสับสนกันอยู่ชอบกล)
ถ้าลงมติตามชื่อสะพาน “พระเทวกรรม์” ก็น่าจะเป็นเทพแห่งช่าง คล้ายกับพระวิษณุกรรม ขอผู้ใฝ่รู้พึงศึกษาสืบสวนต่อไปเถิด และผู้ที่รู้แล้วพึงบอกกล่าวเพื่อบูรณาการเป็นองค์ความรู้ร่วมกันด้วยเถิด
คำว่า “เทวกรรม” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
โปรดสังเกตว่า ในที่นี้คำนี้สะกดเป็น “เทวกรรม์” (มีการันต์ที่ ม)
(๒) “รังรักษ์”
อ่านว่า รัง-รัก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “รัง” บอกไว้ว่า –
“รัง ๓ : (คำกริยา) แต่ง, สร้าง, ตั้ง.”
พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “รัง” เป็นภาษาอะไรหรือมาจากภาษาอะไร
คำว่า “รังรักษ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“รังรักษ์ : (คำกริยา) สร้าง; คุ้มครอง.”
ตามรูปคำและตามความหมายนี้ “-รักษ์” ก็คือ “รักษา”ที่เราคุ้นกันดี เขียนตามรูปคำสันสกฤตเป็น “รกฺษ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“รกฺษ : (คำนาม) การรักษา, การคุ้มครองป้องกัน; เท่าหรืออังคาร; preserving, protecting; ashes.”
“รักษ์” บาลีเป็น “รกฺข” (รัก-ขะ) รากศัพท์มาจาก รกฺข (ธาตุ = ดูแล, รักษา) + อ (อะ) ปัจจัย
: รกฺข + อ = รกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดูแล” “ผู้รักษา”
ในบาลีมีคำว่า “รกฺขก” (รัก-ขะ-กะ) อีกคำหนึ่ง รากศัพท์มาจาก รกฺข + อ + ก ปัจจัย หรือบางทีเรียก “ก สกรรถ” (กะ สะ-กัด) คือลง ก ปัจจัยความหมายเท่าเดิม
รกฺข > รกฺขก มีความหมายดังนี้ –
(1) คุ้มครอง, ป้องกัน, ระมัดระวัง, เอาใจใส่ (guarding, protecting, watching, taking care)
(2) ปฏิบัติ, รักษา (observing, keeping)
(3) ผู้เพาะปลูก (สติปัญญา) (a cultivator)
(4) ทหารยาม (a sentry, guard, guardian)
รกฺข > รกฺษ ในภาษาไทยใช้เป็น “รักษ์” “รักษา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“รักษ์, รักษา : (คำกริยา) ระวัง เช่น รักษาสุขภาพ, ดูแล เช่น รักษาทรัพย์สมบัติ, ป้องกัน เช่น รักษาบ้านเมือง, สงวนไว้ เช่น รักษาความสะอาด รักษาไมตรี; เยียวยา เช่น รักษาคนไข้. (ส.; ป. รกฺข).”
ดูตามความหมายจากพจนานุกรมฯ ที่ว่า “รัง” หมายถึง แต่ง, สร้าง, ตั้ง แต่เมื่อมาประสมกับ “รักษ์” เป็น “รังรักษ์” ความหมายก็ขยายไปเป็น สร้าง; คุ้มครอง ดังจะให้เข้าใจว่า “สร้าง” มาจาก “รัง” “คุ้มครอง” มาจาก “รักษ์”
เทวกรรม์ + รังรักษ์ = เทวกรรม์รังรักษ์ ตามชื่อคงมีความประสงค์จะให้มีความหมายว่า “สะพานที่พระเทวกรรมสร้าง” หรือ “สะพานที่พระเทวกรรมคุ้มครอง”
ขยายความ :
“สะพานเทวกรรม์รังรักษ์” เป็นชื่อสะพานแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อ่านเมื่อ 6 มีนาคม 2565 เวลา 20:30) มีคำว่า “สะพานเทวกรรมรังรักษ์” (ไม่มีการันต์ที่ ม) บรรยายความตอนหนึ่ง ดังนี้ (วรรคตอนและสะกดตามต้นฉบับ)
…………..
สะพานเทวกรรมรังรักษ์ เป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ในแขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กับแขวงสี่แยกมหานาค และแขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นสะพานที่เชื่อมถนนนครสวรรค์เข้าไว้ด้วยกันและตัดกับถนนกรุงเกษมที่เชิงสะพาน โดยเป็นสี่แยก เป็นสะพานที่อยู่ใกล้กับวัดโสมนัสวิหาร, ทำเนียบรัฐบาล และย่านนางเลิ้ง ชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร รวมถึงราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือสนามม้านางเลิ้ง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้สร้างและทรงเปิดสะพานนี้เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2443 เป็นสะพานที่มีความสวยงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกผสมไทย ได้รับการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2517
…………..
ข้อสังเกต :
ชื่อสะพานชุดนี้ ท่านตั้งให้มีคำสัมผัสคล้องจองกัน เริ่มตั้งแต่ –
เทเวศรนฤมิตร
วิศสุกรรมนฤมาน (วิศ– รับสัมผัสกับ –มิตร)
มัฆวานรังสรรค์ (-วาน รับสัมผัสกับ –มาณ)
ชื่อต่อไปคือ “เทวกรรม์รังรักษ์” จะต้องมีคำรับสัมผัสกับ “-สรรค์” คำนั้นก็คือ “-กรรม์” (มีการันต์ที่ ม์) อ่านว่า -กัน ไม่ใช่ “-กรรม” (ไม่มีการันต์ที่ ม์) ถ้าสะกดตามปกติเช่นนี้จะต้องอ่านว่า กำ ซึ่งจะไม่รับสัมผัสกับ “-สรรค์”
มัฆวานรังสรรค์ = มัก-คะ-วาน-รัง-สัน
เทวกรรม์รังรักษ์ = เท-วะ-กัน-รัง-รัก
โปรดสังเกตว่า ชื่อสะพาน “เทวกรรม์รังรักษ์” ตามที่ปรากฏ สะกดเป็น “เทวกรรมรังรักษ์” (ไม่มีการันต์ที่ ม์) เป็นการสะกดผิด อาจเนื่องมาจากผู้ตกลงใจให้สะกดเช่นนี้ (ไม่มีการันต์ที่ ม์) ไม่เข้าใจเหตุผลในทางอักขรวิธีที่ต้องการให้เป็นคำที่รับสัมผัสกัน อันที่จริงก็บอกกล่าวและรับรู้กันมาตั้งแต่ต้นว่า สะพานชุดนี้ท่านตั้งชื่อให้รับสัมผัสกัน ไฉนจึงไม่นึกถึงเจตนาข้อนี้ ถ้าเอาชื่อมาเรียงกันทั้งชุดก็จะเห็นว่ารับสัมผัสกันทุกชื่อ กล่าวคือ
เทเวศรนฤมิตร (ส่งสัมผัสด้วย –มิตร)
วิศสุกรรมนฤมาณ (วิศ– รับสัมผัสกับ –มิตร ส่งสัมผัสด้วย –มาณ)
มัฆวานรังสรรค์ (-วาน รับสัมผัสกับ –มาณ ส่งสัมผัสด้วย –สรรค์)
เทวกรรม์รังรักษ์ (-กรรม์ รับสัมผัสกับ –สรรค์ ส่งสัมผัสด้วย –รักษ์)
จตุรภักตร์รังสฤษดิ์ (-ภักตร์ รับสัมผัสกับ –รักษ์)
ลองอ่านดู จะเห็นว่ารับสัมผัสคล้องจองกันไปตลอดทุกชื่อ
…………..
คำทำนองนี้ที่อาจนำมาเทียบเพื่อให้เห็นชัดขึ้นก็คือ พระราชนิพนธ์ในลิลิตนิทราชาคริตที่เราคุ้นกันดี บทที่ว่า –
………………………………………..
บารมีพระมากพ้น………….รำพัน
พระพิทักษ์ยุติธรรม์……….ถ่องแท้
บริสุทธิ์ดุจดวงตะวัน………ส่องโลก ไซร้แฮ
ทวยราษฎร์รักบาทแม้…….ยิ่งด้วยบิตุรงค์
………………………………………..
คำว่า “ยุติธรรม์” ปกติที่ใช้กันสะกดเป็น “ยุติธรรม” อ่านว่า ยุด-ติ-ทำ แต่ในที่นี้ต้องการเสียงสัมผัสรับคำว่า “รำพัน” จึงสะกดเป็น “ยุติธรรม์” (มีการันต์ที่ ม์) อ่านว่า ยุด-ติ-ทัน
เสียง “ทัน” รับสัมผัสกับ “พัน” ตามฉันทลักษณ์ของโคลง
คำนี้ ถ้าไม่สังเกตและไม่รู้หลักฉันทลักษณ์ ก็จะมีคนสะกดตามปกติเป็น “พระพิทักษ์ยุติธรรม” และอ่านว่า –ยุด-ติ-ทำ โดยไม่รู้ว่าเป็นการผิดหลักฉันทลักษณ์
“พระพิทักษ์ยุติธรรม์” (–ยุด-ติ-ทัน) ฉันใด
“เทวกรรม์รังรักษ์” (เท-วะ-กัน–) ก็ฉันนั้น
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ใช้คำให้ถูกคำ
: ใช้คนให้ถูกคน
#บาลีวันละคำ (3,554)
6-3-65
…………………………….
…………………………………..