คิดให้แนบเนียนก่อนจะเหน็บแนม
คิดให้แนบเนียนก่อนจะเหน็บแนม
———————————–
เมื่อกล่าวถึงคำสัตย์ เรานิยมอ้างภาษิต “สจฺจํ เว อมตา วาจา” แปลว่า “คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย”
แล้วก็จะได้ยินคำเหน็บแนมว่า คำจริงไม่ตาย แต่คนพูดความจริงมักตาย
ความคิดเช่นนี้นับเป็นการบั่นทอนกำลังใจอย่างหนึ่ง ทำให้คนไม่อยากพูดความจริง ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้คนพูดความเท็จไปในตัว
“คำสัตย์” ในภาษิตนั้นท่านหมายถึง “สัจธรรม” คือหลักธรรมอันแสดงข้อปฏิบัติที่ถูกต้องแท้จริง เมื่อนำมาแสดงแล้วมีผู้ปฏิบัติดำเนินตามก็จะเป็นเหตุให้บรรลุอมตธรรมคือพระนฤพานอันไม่มีภพใหม่ คือไม่ต้องเกิดอีก เมื่อไม่มีเกิด ก็เป็นอันไม่มีแก่เจ็บตาย อันเป็นความหมายของ “อมตะ” ที่แปลว่า “ไม่ตาย”
“สจฺจํ เว อมตา วาจา” มีความหมายเช่นนี้
แต่เพราะไม่ศึกษาสำเหนียก จึงไม่รู้ เมื่อไม่รู้แล้วเอาไปพูดตามที่เข้าใจเอาเอง ความหมายของภาษิตจึงผิดเพี้ยนไป
คนควรพูดคำสัตย์ นี่คือหลักปฏิบัติของคนที่เจริญแล้ว
พระพุทธศาสนาไม่ได้หลับตาสอนให้พูดแต่คำสัตย์ แต่สอนองค์ประกอบของการพูดที่ถูกต้องควบคู่ไว้ด้วยเสมอ กล่าวคือ –
๑ กาเลน ภาสิตา = รู้กาลเทศะที่จะพูด
๒ สจฺจา ภาสิตา = พูดเรื่องจริง
๓ สณฺหา ภาสิตา = พูดอย่างสุภาพ
๔ อตฺถสญฺหิตา ภาสิตา = พูดสร้างสรรค์
๕ เมตฺตจิตฺเตน ภาสิตา = พูดด้วยไมตรีจิต
เวลาจะเหน็บแนมหรือเย้ยหยันว่า คำจริงไม่ตาย แต่คนพูดความจริงมักตาย ขอได้โปรดระลึกถึงหลักการพูดเหล่านี้ด้วย
ยิ่งระลึกไว้เสมอๆ ไม่ว่าจะพูดอะไร ก็ยิ่งดี
และโดยเฉพาะเมื่อจะยกคำว่า “สจฺจํ เว อมตา วาจา” ขึ้นมาเหน็บแนม ขอได้โปรดศึกษาความหมายจนเข้าใจถูกต้องถ่องแท้เสียก่อน
การยกเอามาพูดโดยไม่คิด จะกลายเป็นการช่วยกันบิดเบือนหลักธรรมไปโดยไม่รู้ตัว
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๖ มีนาคม ๒๕๖๕
๑๖:๔๖
………………………………………..
คิดให้แนบเนียนก่อนจะเหน็บแนม
……………………………………………..