สังขารขันธ์ (บาลีวันละคำ 3,575)
สังขารขันธ์
กองสังขาร – ขันธ์ที่สี่
(ไม่ใช่ สัง-ขาน-ขัน)
ประกอบด้วยคำว่า สังขาร + ขันธ์
(๑) “สังขาร”
เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺขาร” อ่านว่า สัง-ขา-ระ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลงนิคหิตเป็น งฺ, แปลง กรฺ เป็น ขรฺ, ทีฆะ อะ ที่ ข-(ร) เป็น อา (ขร > ขาร)
: สํ > สงฺ + กรฺ = สงฺกรฺ + ณ = สงฺกรณ > สงฺกร > สงฺขร > สงฺขาร แปลตามศัพท์ว่า “ทำร่วมกัน” คือ “สภาวะอันปัจจัยปรุงแต่ง”
“สงฺขาร” มีความหมาย 2 อย่าง คือ :
(1) สิ่งที่ถูกปรุงผสมขึ้นให้เห็นว่าเป็นอะไรอย่างหนึ่ง แต่เมื่อแยกส่วนประกอบออกจากกันแล้ว “อะไรอย่างหนึ่ง” นั้นก็ไม่มี (compounded things; component things; conditioned things)
ความหมายนี้รวมไปถึง “ร่างกาย ตัวตน” (the physical body) ตามที่คนทั่วไปเข้าใจ
(2) อาการที่จิตคิดปรุงแต่งไปต่างๆ หรือเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งความคิด การพูด การกระทำ ให้เป็นไปต่างๆ (mental formations; volitional activities)
ความหมายนี้ก็คือ 1 ในองค์ประกอบ 5 อย่าง ที่รวมกันเข้าเป็นชีวิตคน ที่เรียกว่า ขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
บาลี “สงฺขาร” ในภาษาไทยใช้เป็น “สังขาร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สังขาร : (คำนาม) ร่างกาย, ตัวตน, สิ่งที่ประกอบและปรุงแต่งขึ้นเป็นร่างกายและจิตใจรวมกัน, เช่น สังขารร่วงโรย สังขารไม่เที่ยง; ความคิด เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. (ป.; ส. สํสฺการ). (คำกริยา) ตาย เช่น ถึงซึ่งสังขาร, ในบทกลอนใช้ว่า สังขาร์ ก็มี.”
(๒) “ขันธ์”
เขียนแบบบาลีเป็น “ขนฺธ” อ่านว่า ขัน-ทะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ขํ (อวัยวะ; ความว่าง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ ขํ เป็น นฺ (ขํ > ขนฺ), ลบสระหน้า คือ อา ที่ ธา ธาตุ (ธา > ธ)
: ขํ > ขนฺ + ธา = ขนฺธา > ขนฺธ + อ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่ธำรงอวัยวะคืออินทรีย์ไว้” (2) “ส่วนที่ธำรงความว่างเปล่าไว้”
(2) ขาทฺ (ธาตุ = เคี้ยวกิน) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง ขาทฺ เป็น ขนฺธ
: ขาทฺ > ขนฺธ + อ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เคี้ยวกินอวัยวะ”
(3) ขชฺชฺ (ธาตุ = กิน) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง ขชฺชฺ เป็น ขนฺธ
: ขชฺชฺ > ขนฺธ + อ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนอันทุกข์มีความเกิดความแก่เป็นต้นกิน”
(4) ขนฺ (ธาตุ = ขุด) + ธ ปัจจัย
: ขนฺ + ธ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ส่วนอันเขาขุดขึ้นได้ด้วยญาณ” (คือต้องใช้ปัญญาจึงจะรู้จักตัวจริงของขันธ์) (2) “ส่วนอันทุกข์ขุดขึ้น” (คือถูกทุกข์กัดกินตลอดเวลา)
“ขนฺธ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ก้อนใหญ่, ความใหญ่โตมโหฬาร (bulk, massiveness [gross] substance)
(2) ลำตัว, คือหลังของช้าง (the bulk of the body, i. e. elephant’s back)
(3) ไหล่หรือหลัง (the shoulder or back)
(4) ลำต้น (the trunk)
(5) หมวด, บท, เนื้อเรื่องที่รวบรวมเป็นหมวดหมู่ (section, chapter, material as collected into uniform bulk)
(6) ตัว, การรวมตัว, หรือส่วนต่าง ๆ ของ- (the body of, a collection of, mass, or parts of)
ในภาษาไทย “ขนฺธ” ใช้เป็น “ขันธ์” (ขัน) ในที่นี้หมายถึง ขันธ์ 5 หรือ เบญจขันธ์
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [216] บอกความหมายของ “ขันธ์” ในขันธ์ 5 ไว้ดังนี้ –
…………..
ขันธ์ 5 หรือ เบญจขันธ์ (กองแห่งรูปธรรมและนามธรรมห้าหมวดที่ประชุมกันเข้าเป็นหน่วยรวม ซึ่งบัญญัติเรียกว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา–เขา เป็นต้น, ส่วนประกอบห้าอย่างที่รวมเข้าเป็นชีวิต — Pañca-khandha: the Five Groups of Existence; Five Aggregates)
…………..
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ขันธ์ : (คำนาม) ตัว, หมู่, กอง, พวก, หมวด, ส่วนหนึ่ง ๆ ของรูปกับนามที่แยกออกเป็น ๕ กอง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเรียกว่า ขันธ์ ๕ หรือ ขันธ์ทั้ง ๕. (ป.; ส. สกนฺธ).”
สงฺขาร + ขนฺธ ซ้อน กฺ
: สงฺขาร + กฺ + ขนฺธ = สงฺขารกฺขนฺธ บาลีอ่านว่า สัง-ขา-รัก-ขัน-ทะ ในภาษาไทยใช้เป็น “สังขารขันธ์” อ่านว่า สัง-ขา-ระ-ขัน แปลตามแบบว่า “กองแห่งสังขาร”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [216] บอกความหมายของ “สังขารขันธ์” ไว้ดังนี้ –
…………..
4. สังขารขันธ์ (กองสังขาร, ส่วนที่เป็นความปรุงแต่ง, สภาพที่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลางๆ, คุณสมบัติต่างๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ที่ปรุงแต่งคุณภาพของจิต ให้เป็นกุศล อกุศล อัพยากฤต — Saṅkhāra-khandha: mental formations; volitional activities)
…………..
ขยายความ :
คำหลักที่ควรทำความเข้าใจก็คือ “สังขาร” หรือ “สงฺขาร” ในบาลี
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ สรุปความหมายของ “สงฺขาร” ว่า Thus sankhārā are in the widest sense the “world of phenomena”, all things which have been made up by pre-existing causes. (ดังนั้น สงฺขารา ในความหมายที่กว้างที่สุดก็คือ “โลกแห่งปรากฏการณ์”, ทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยเหตุที่มีอยู่ก่อน)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “สังขาร” ในทางธรรมไว้ดังนี้ –
…………..
(1) สังขาร :
1. สิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง, สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัย เป็นรูปธรรมก็ตาม นามธรรมก็ตาม ได้แก่ขันธ์ ๕ ทั้งหมด, ตรงกับคำว่า สังขตะ หรือ สังขตธรรม ได้ในคำว่า “สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง” ดังนี้เป็นต้น
2. สภาพที่ปรุงแต่งใจให้ดีหรือชั่ว, ธรรมมีเจตนาเป็นประธานที่ปรุงแต่งความคิด การพูด การกระทำ มีทั้งที่ดีเป็นกุศล ที่ชั่วเป็นอกุศล ที่กลางๆ เป็นอัพยากฤต ได้แก่ เจตสิก ๕๐ อย่าง (คือ เจตสิกทั้งปวงเว้นเวทนาและสัญญา) เป็นนามธรรมอย่างเดียว, ตรงกับสังขารขันธ์ ในขันธ์ ๕ ได้ในคำว่า “รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง” ดังนี้เป็นต้น; อธิบายอีกปริยายหนึ่ง สังขารตามความหมายนี้ยกเอาเจตนาขึ้นเป็นตัวนำหน้า ได้แก่ สัญเจตนา คือเจตนาที่แต่งกรรมหรือปรุงแต่งการกระทำ มี ๓ อย่างคือ ๑. กายสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางกาย คือ กายสัญเจตนา ๒. วจีสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางวาจา คือ วจีสัญเจตนา ๓. จิตตสังขาร หรือ มโนสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางใจ คือ มโนสัญเจตนา
3. สภาพที่ปรุงแต่งชีวิตมี ๓ คือ ๑. กายสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งกาย ได้แก่ อัสสาสะ ปัสสาสะ คือลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ๒. วจีสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งวาจา ได้แก่วิตกและวิจาร ๓. จิตตสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งใจ ได้แก่ สัญญาและเวทนา
(2) สังขาร ๒ :
คือ ๑. อุปาทินนกสังขาร สังขารที่กรรมครอบครอง ๒. อนุปาทินนกสังขาร สังขารที่กรรมไม่ครอบครอง, แปลโดยปริยายว่า สังขารที่มีใจครอง และสังขารที่ไม่มีใจครอง
…………..
สรุปเป็นหลักไว้ว่า –
๑ “สังขาร” ในความหมายทั่วไป รวมเอา “ร่างกาย” เข้าไว้ด้วยตามที่เรามักเข้าใจกัน คำบาลีว่า “อนิจฺจา วต สงฺขารา” (สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ) ที่เราคุ้นกัน เช่นในเวลาพระชักบังสุกุล ก็คือ “สังขาร” ในความหมายทั่วไป
๒ “สังขาร” ในขันธ์ 5 คือ “สังขารขันธ์” ที่กำลังกล่าวถึงนี้ คือความคิดปรุงแต่งไปต่างๆ ไม่ใช่ “ร่างกาย” เพราะร่างกายแยกออกไปเป็น “รูปขันธ์” กองหนึ่งแล้ว
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าเราไม่รู้จักควบคุมความคิด
: ความคิดก็จะควบคุมเรา
27-03-65
…………………………….
ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย…………………………….