เวทนาขันธ์ (บาลีวันละคำ 3,574)
เวทนาขันธ์
กองสัญญา – ขันธ์ที่สาม
ประกอบด้วยคำว่า สัญญา + ขันธ์
(๑) “สัญญา”
เขียนแบบบาลีเป็น “สญฺญา” อ่านว่า สัน-ยา รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน) + ญา (ธาตุ = รู้) แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ญฺ (สํ > สญฺ) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ
: สํ > สญฺ + ญา + กฺวิ = สญฺญากฺวิ > สญฺญา (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเครื่องจำ”
“สญฺญา” ในบาลีมีความหมายหลายอย่าง คือ –
(1) ความรู้สึก, ความรับรู้, ความจำได้, ความหมายรู้ (sense, consciousness, perception)
(2) ความสังเกตจดจำ, ความสุขุม, ความตระหนัก (sense, perception, discernment, recognition)
(3) แนวความคิด, ความคิด, ความเข้าใจ (conception, idea, notion)
(4) สัญญาณ, กิริยาท่าทาง, เครื่องแสดง, เครื่องหมาย (sign, gesture, token, mark)
(5) ความประทับใจที่เกิดจากความรู้สึกและการจำได้, ความรู้สึกว่ามีบางสิ่งที่เหมือนกัน (เช่นเห็นคนหนึ่งแล้วนึกถึงอีกคนหนึ่ง) (sense impression and recognition)
ในที่นี้ “สญฺญา” ใช้ในความหมายตามข้อ (1) ดังที่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกไว้ว่า sense, consciousness, perception, being the third khandha (สัญญา, ความรู้สึก, ความรับรู้, เป็นขันธ์ที่ 3)
บาลี “สญฺญา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สัญญา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สัญญา : (คำนาม) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) ข้อตกลงระหว่างบุคคล ๒ ฝ่ายหรือหลายฝ่าย เพื่อให้เกิดนิติกรรมขึ้น; ข้อตกลงกัน, คำมั่น, เช่น เขาให้สัญญาว่าจะมาหาพรุ่งนี้; ความจํา เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. (คำกริยา) ให้คํามั่น, รับปาก, ทําความตกลงกัน, เช่น แม่สัญญากับลูกว่าถ้าสอบได้ที่ ๑ จะให้รางวัล. (ป.).”
(๒) “ขันธ์”
เขียนแบบบาลีเป็น “ขนฺธ” อ่านว่า ขัน-ทะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ขํ (อวัยวะ; ความว่าง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ ขํ เป็น นฺ (ขํ > ขนฺ), ลบสระหน้า คือ อา ที่ ธา ธาตุ (ธา > ธ)
: ขํ > ขนฺ + ธา = ขนฺธา > ขนฺธ + อ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่ธำรงอวัยวะคืออินทรีย์ไว้” (2) “ส่วนที่ธำรงความว่างเปล่าไว้”
(2) ขาทฺ (ธาตุ = เคี้ยวกิน) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง ขาทฺ เป็น ขนฺธ
: ขาทฺ > ขนฺธ + อ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เคี้ยวกินอวัยวะ”
(3) ขชฺชฺ (ธาตุ = กิน) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง ขชฺชฺ เป็น ขนฺธ
: ขชฺชฺ > ขนฺธ + อ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนอันทุกข์มีความเกิดความแก่เป็นต้นกิน”
(4) ขนฺ (ธาตุ = ขุด) + ธ ปัจจัย
: ขนฺ + ธ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ส่วนอันเขาขุดขึ้นได้ด้วยญาณ” (คือต้องใช้ปัญญาจึงจะรู้จักตัวจริงของขันธ์) (2) “ส่วนอันทุกข์ขุดขึ้น” (คือถูกทุกข์กัดกินตลอดเวลา)
“ขนฺธ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ก้อนใหญ่, ความใหญ่โตมโหฬาร (bulk, massiveness [gross] substance)
(2) ลำตัว, คือหลังของช้าง (the bulk of the body, i. e. elephant’s back)
(3) ไหล่หรือหลัง (the shoulder or back)
(4) ลำต้น (the trunk)
(5) หมวด, บท, เนื้อเรื่องที่รวบรวมเป็นหมวดหมู่ (section, chapter, material as collected into uniform bulk)
(6) ตัว, การรวมตัว, หรือส่วนต่าง ๆ ของ- (the body of, a collection of, mass, or parts of)
ในภาษาไทย “ขนฺธ” ใช้เป็น “ขันธ์” (ขัน) ในที่นี้หมายถึง ขันธ์ 5 หรือ เบญจขันธ์
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [216] บอกความหมายของ “ขันธ์” ในขันธ์ 5 ไว้ดังนี้ –
…………..
ขันธ์ 5 หรือ เบญจขันธ์ (กองแห่งรูปธรรมและนามธรรมห้าหมวดที่ประชุมกันเข้าเป็นหน่วยรวม ซึ่งบัญญัติเรียกว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา–เขา เป็นต้น, ส่วนประกอบห้าอย่างที่รวมเข้าเป็นชีวิต — Pañca-khandha: the Five Groups of Existence; Five Aggregates)
…………..
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ขันธ์ : (คำนาม) ตัว, หมู่, กอง, พวก, หมวด, ส่วนหนึ่ง ๆ ของรูปกับนามที่แยกออกเป็น ๕ กอง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเรียกว่า ขันธ์ ๕ หรือ ขันธ์ทั้ง ๕. (ป.; ส. สกนฺธ).”
สญฺญา + ขนฺธ ซ้อน กฺ
: สญฺญา + กฺ + ขนฺธ = สญฺญากฺขนฺธ บาลีอ่านว่า สัน-ยาก-ขัน-ทะ ในภาษาไทยใช้เป็น “สัญญาขันธ์” อ่านว่า สัน-ยา-ขัน แปลตามแบบว่า “กองแห่งสัญญา”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [216] บอกความหมายของ “สัญญาขันธ์” ไว้ดังนี้ –
…………..
3. สัญญาขันธ์ (กองสัญญา, ส่วนที่เป็นความกำหนดหมายให้จำอารมณ์นั้นๆ ได้, ความกำหนดได้หมายรู้ในอารมณ์ 6 เช่นว่า ขาว เขียว ดำ แดง เป็นต้น — Saññā-khandha: perception)
…………..
ขยายความ :
สิ่งที่ควรเข้าใจก่อนคือ คำว่า “สัญญา” ในที่นี้ใช้ในความหมายของภาษาบาลีหรือความหมายทางธรรม นั่นคือ “ความจำได้หมายรู้” ไม่ใช่ “ให้คํามั่น, รับปาก, ทําความตกลงกัน” – ดังที่มักเข้าใจกันในภาษาไทย
“สัญญา” เป็นหนึ่งในห้าของธรรมชาติที่ประกอบขึ้นเป็นชีวิตมนุษย์ ที่เรียกว่า “ขันธ์ห้า” (the Five Groups of Existence; Five Aggregates) คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “สัญญา” ไว้ดังนี้ –
(1) สัญญา : การกำหนดหมาย, ความจำได้หมายรู้ คือ หมายรู้ไว้ ซึ่ง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และอารมณ์ที่เกิดกับใจว่า เขียว ขาว ดำ แดง ดัง เบา เสียงคน เสียงแมว เสียงระฆัง กลิ่นทุเรียน รสมะปราง เป็นต้น และจำได้ คือ รู้จักอารมณ์นั้นว่าเป็นอย่างนั้นๆ ในเมื่อไปพบเข้าอีก (ข้อ ๓ ในขันธ์ ๕) มี ๖ อย่าง ตามอารมณ์ที่หมายรู้นั้นเช่น รูปสัญญา หมายรู้รูป สัททสัญญา หมายรู้เสียง เป็นต้น; ความหมายสามัญในภาษาบาลีว่าเครื่องหมาย ที่สังเกตความสำคัญว่าเป็นอย่างนั้นๆ, ในภาษาไทยมักใช้หมายถึง ข้อตกลง, คำมั่น
(2) สัญญา ๑๐ : ความกำหนดหมาย, สิ่งที่ควรกำหนดหมายไว้ในใจ มี ๑๐ อย่างคือ
๑. อนิจจสัญญา กำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่งสังขาร
๒. อนัตตสัญญา กำหนดหมายความเป็นอนัตตาแห่งธรรมทั้งปวง
๓. อสุภสัญญา กำหนดหมายความไม่งามแห่งกาย
๔. อาทีนวสัญญา กำหนดหมายโทษแห่งกาย คือมีอาพาธต่างๆ
๕. ปหานสัญญา กำหนดหมายเพื่อละอกุศลวิตกและบาปธรรม
๖. วิราคสัญญา กำหนดหมายวิราคะ คืออริยมรรคว่าเป็นธรรมอันสงบประณีต
๗. นิโรธสัญญา กำหนดหมายนิโรธ คืออริยผล ว่าเป็นธรรมอันสงบประณีต
๘. สัพพโลเก อนภิรตสัญญา กำหนดหมายความไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง
๙. สัพพสังขาเรสุ อนิฏฐสัญญา กำหนดหมายความไม่น่าปรารถนาในสังขารทั้งปวง
๑๐. อานาปานัสสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ทำคุณใคร ใจอย่าจำ
: คุณใครทำ จำอย่าลืม
26-03-65
…………………………….
ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย…………………………….