อปจายนมัย : เคล็ดลับแห่งการได้พรสี่ประการ
อปจายนมัย : เคล็ดลับแห่งการได้พรสี่ประการ
————————————————
“อปจายนมัย” (อ่านว่า อะ-ปะ-จา-ยะ-นะ-ไม) แปลกึ่งทับศัพท์ว่า “บุญที่สำเร็จด้วยอปจายนะ” แปลออกศัพท์ว่า “บุญที่สำเร็จด้วยการอ่อนน้อม” หมายถึง บุญที่ทำด้วยวิธีสักการบูชา เคารพนับถือ อ่อนน้อมถ่อมตน ต่อบุคคลและสิ่งที่ควรแก่การเคารพบูชา
ถ้าใช้ในทางพระศาสนา ก็อาจเรียกสั้นๆ เพื่อจำง่ายว่า “ทำบุญไหว้พระ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า –
………………………………………
อปจายนมัย : (คำวิเศษณ์) ที่สำเร็จด้วยการประพฤติถ่อมตัวต่อผู้ใหญ่ (ใช้แก่บุญ), เป็นธรรมข้อ ๑ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐. (ป.).
………………………………………
“บุญกิริยาวัตถุ ๑๐” หมายถึงวิธีทำบุญ ๑๐ วิธี มีรายการดังนี้
………………………………………
๑. ทานมัย (ทา-นะ-ไม) ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ
๒. สีลมัย (สี-ละ-ไม) ทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดี
๓. ภาวนามัย (พา-วะ-นา-ไม) ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือฝึกอบรมจิตใจเจริญปัญญา
๔. อปจายนมัย (อะ-ปะ-จา-ยะ-นะ-ไม) ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม
๕. เวยยาวัจจมัย (เวย-ยา-วัด-จะ-ไม) ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้
๖. ปัตติทานมัย (ปัด-ติ-ทา-นะ-ไม) ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น
๗. ปัตตานุโมทนามัย (ปัด-ตา-นุ-โม-ทะ-นา-ไม) ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น
๘. ธัมมัสสวนมัย (ทำ-มัด-สะ-วะ-นะ-ไม) ทำบุญด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้
๙. ธัมมเทสนามัย (ทำ-มะ-เท-สะ-นา-ไม) ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้
๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ (ทิด-ถุ-ชุ-กำ) ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง
………………………………………
“อปจายนมัย” ที่ชาวเราคุ้นกันดี คือพุทธภาษิตบทที่ว่า –
………………………………………
อภิวาทนสีลิสฺส
นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน
จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ
อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ.
บุคคลผู้มีปรกติไหว้กราบ
มีปรกติอ่อนน้อมต่อวุฒบุคคลเป็นนิตย์
ธรรมสี่ประการย่อมเจริญ
คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ
ที่มา: สหัสสวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๘
………………………………………
เราจะได้ยินพุทธภาษิตบทนี้เสมอเวลาพระท่านอนุโมทนา แต่ส่วนมากเราฟังกันด้วยความเข้าใจว่า แค่ได้ฟังก็ได้บุญ คือสำเร็จผลเป็นอายุ วรรณะ สุขะ พละ เรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องไปทำอะไรอีก
ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น เราต้องไปทำ “เหตุ” เสียก่อน “ผล” จึงจะเกิด
ในพุทธภาษิตท่านแสดง “เหตุ” ไว้ว่า –
๑ มีปรกติไหว้กราบ
๒ มีปรกติอ่อนน้อมต่อวุฒบุคคลเป็นนิตย์
ทำอย่างนี้จึงจะได้ “ผล” คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ
ผลคืออายุ วรรณะ สุขะ พละ ไม่ใช่สำเร็จได้เพียงเพราะท่านให้พร
ตัวเราผู้ต้องการพรเช่นนั้นต้องปฏิบัติ “เหตุ” ด้วย
ในคัมภีร์แสดงบุคคลที่เรียกว่า วุฒบุคคล ไว้ ๓ จำพวก คือ –
………………………………………
๑ ชาติวุฒ = ผู้เจริญโดยชาติตระกูล หรือตำแหน่งฐานะ
๒ วัยวุฒ = ผู้เจริญโดยวัย คือมีอายุมาก
๓ คุณวุฒ = ผู้เจริญโดยคุณ คือผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้และคุณธรรมความประพฤติดีงาม
ติตติรชาดก ชาตกัฏฐกถา ภาค ๑ หน้า ๓๘๕
สารัตถทีปนี วินยฏีกา ภาค ๔ หน้า ๓๘๒
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล เล่ม ๕๕ หน้า ๓๕๐-
………………………………………
การอ่อนน้อมถ่อมตนต่อบุคคล ๓ ประเภทนี้ คือการบำเพ็ญบุญอปจายนมัย
กิเลสหรือ “บาป” ที่เป็นข้าศึกแก่ “อปจายนมัย” คือ –
ปลาสะ (ตีเสมอ)
ถัมภะ (หัวดื้อ)
สารัมภะ (แข่งดี)
มานะ (ถือตัว)
อติมานะ (ดูหมิ่นท่าน)
กิเลสเหล่านี้ทำให้มือแข็ง ยกขึ้นไหว้ใครไม่ได้ และทำให้คอแข็ง ก้มศีรษะให้ใครไม่เป็น
ถ้ายังมีอาการแบบนี้อยู่ ก็แปลว่ายังไม่ได้ทำบุญอปจายนมัยอันเป็น “เหตุ”
แม้พระจะให้พรสักกี่รอบ
อายุ วรรณะ สุขะ พละ อันเป็น “ผล” ก็ย่อมจะเกิดไม่ได้
………………………………………
การอ่อนน้อมถ่อมตน
ไม่ได้แปลว่ายอมจำนนหรือเสียเกียรติ
………………………………………
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๕ มีนาคม ๒๕๖๕
๑๗:๔๘
………………………………………
อปจายนมัย : เคล็ดลับแห่งการได้พรสี่ประการ
………………………………………