บาลีวันละคำ

เวทนาขันธ์ (บาลีวันละคำ 3,573)

เวทนาขันธ์

กองเวทนา – ขันธ์ที่สอง

อ่านว่า เว-ทะ-นา-ขัน

ประกอบด้วยคำว่า เวทนา + ขันธ์

(๑) “เวทนา”

บาลีอ่านว่า เว-ทะ-นา รากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้, รู้อารมณ์) + ยุ ปัจจัย, แผลง อิ (ที่ วิทฺ) เป็น เอ, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: วิทฺ > เวท + ยุ > อน = เวทน + อา = เวทนา แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เสวยรสอารมณ์” หมายถึง ความรู้สึก, การออกอาการจากใจ (feeling, sensation)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “เวทนา” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) เวทนา ๑ : (คำนาม) ความรู้สึก, ความรู้สึกทุกข์สุข, (เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ); ความเจ็บปวด, ทุกข์ทรมาน. (ป., ส.).

(2) เวทนา ๒ : (คำกริยา) สังเวชสลดใจ เช่น เรามักเวทนาผู้เคราะห์ร้าย เด็กคนนี้น่าเวทนา.

(๒) “ขันธ์”

เขียนแบบบาลีเป็น “ขนฺธ” อ่านว่า ขัน-ทะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ขํ (อวัยวะ; ความว่าง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ ขํ เป็น นฺ (ขํ > ขนฺ), ลบสระหน้า คือ อา ที่ ธา ธาตุ (ธา > ธ)

: ขํ > ขนฺ + ธา = ขนฺธา > ขนฺธ + อ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่ธำรงอวัยวะคืออินทรีย์ไว้” (2) “ส่วนที่ธำรงความว่างเปล่าไว้”

(2) ขาทฺ (ธาตุ = เคี้ยวกิน) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง ขาทฺ เป็น ขนฺธ

: ขาทฺ > ขนฺธ + อ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เคี้ยวกินอวัยวะ”

(3) ขชฺชฺ (ธาตุ = กิน) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง ขชฺชฺ เป็น ขนฺธ

: ขชฺชฺ > ขนฺธ + อ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนอันทุกข์มีความเกิดความแก่เป็นต้นกิน”

(4) ขนฺ (ธาตุ = ขุด) + ธ ปัจจัย

: ขนฺ + ธ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ส่วนอันเขาขุดขึ้นได้ด้วยญาณ” (คือต้องใช้ปัญญาจึงจะรู้จักตัวจริงของขันธ์) (2) “ส่วนอันทุกข์ขุดขึ้น” (คือถูกทุกข์กัดกินตลอดเวลา)

“ขนฺธ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ก้อนใหญ่, ความใหญ่โตมโหฬาร (bulk, massiveness [gross] substance)

(2) ลำตัว, คือหลังของช้าง (the bulk of the body, i. e. elephant’s back)

(3) ไหล่หรือหลัง (the shoulder or back)

(4) ลำต้น (the trunk)

(5) หมวด, บท, เนื้อเรื่องที่รวบรวมเป็นหมวดหมู่ (section, chapter, material as collected into uniform bulk)

(6) ตัว, การรวมตัว, หรือส่วนต่าง ๆ ของ- (the body of, a collection of, mass, or parts of)

ในภาษาไทย “ขนฺธ” ใช้เป็น “ขันธ์” (ขัน) ในที่นี้หมายถึง ขันธ์ 5 หรือ เบญจขันธ์

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [216] บอกความหมายของ “ขันธ์” ในขันธ์ 5 ไว้ดังนี้ –

…………..

ขันธ์ 5 หรือ เบญจขันธ์ (กองแห่งรูปธรรมและนามธรรมห้าหมวดที่ประชุมกันเข้าเป็นหน่วยรวม ซึ่งบัญญัติเรียกว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา–เขา เป็นต้น, ส่วนประกอบห้าอย่างที่รวมเข้าเป็นชีวิต — Pañca-khandha: the Five Groups of Existence; Five Aggregates)

…………..

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ขันธ์ : (คำนาม) ตัว, หมู่, กอง, พวก, หมวด, ส่วนหนึ่ง ๆ ของรูปกับนามที่แยกออกเป็น ๕ กอง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเรียกว่า ขันธ์ ๕ หรือ ขันธ์ทั้ง ๕. (ป.; ส. สกนฺธ).”

เวทนา + ขนฺธ ซ้อน กฺ

: เวทนา + กฺ + ขนฺธ = เวทนากฺขนฺธ บาลีอ่านว่า เว-ทะ-นาก-ขัน-ทะ ในภาษาไทยใช้เป็น “เวทนาขันธ์” อ่านว่า เว-ทะ-นา-ขัน แปลตามแบบว่า “กองแห่งเวทนา”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [216] บอกความหมายของ “เวทนาขันธ์” ไว้ดังนี้ –

…………..

2. เวทนาขันธ์ (กองเวทนา, ส่วนที่เป็นการเสวยรสอารมณ์, ความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ — Vedanā-khandha: feeling; sensation)

…………..

ขยายความ :

สิ่งที่ควรเข้าใจก่อนคือ คำว่า “เวทนา” ในที่นี้ใช้ในความหมายของภาษาบาลีหรือความหมายทางธรรม ไม่ใช่ “สังเวชสลดใจ” เช่น เรามักเวทนาผู้เคราะห์ร้าย หรือ เด็กคนนี้น่าเวทนา – ดังที่มักเข้าใจกันในภาษาไทย

“เวทนา” เป็นหนึ่งในห้าของธรรมชาติที่ประกอบขึ้นเป็นชีวิตมนุษย์ ที่เรียกว่า “ขันธ์ห้า” (the Five Groups of Existence; Five Aggregates) คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ในทางธรรม “เวทนา” ที่มักกล่าวถึง คือ เวทนา 3 และ เวทนา 5 พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [111] แสดงเวทนา 3 ไว้ดังนี้ –

…………..

เวทนา 3 :

1. สุขเวทนา (ความรู้สึกสุข สบาย ทางกายก็ตาม ทางใจก็ตาม – pleasant feeling; pleasure)

2. ทุกขเวทนา (ความรู้สึกทุกข์ ไม่สบาย ทางกายก็ตาม ทางใจก็ตาม – painful feeling pain)

3. อทุกขมสุขเวทนา (ความรู้สึกเฉยๆ จะสุขก็ไม่ใช่ ทุกข์ก็ไม่ใช่ เรียกอีกอย่างว่า อุเบกขาเวทนา – neither-pleasant-nor-painful feeling; indifferent feeling)

…………..

ข้อ [112] แสดงเวทนา 5 ไว้ดังนี้ –

…………..

เวทนา 5 :

1. สุข (ความสุข ความสบายทางกาย – bodily pleasure or happiness)

2. ทุกข์ (ความทุกข์ ความไม่สบาย เจ็บปวดทางกาย – bodily pain; discomfort)

3. โสมนัส (ความแช่มชื่นสบายใจ, สุขใจ – mental happiness; joy)

4. โทมนัส (ความเสียใจ, ทุกข์ใจ – mental pain; displeasure; grief)

5. อุเบกขา (ความรู้สึกเฉยๆ – indifference)

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต สรุปความหมายของ “เวทนา” ไว้ดังนี้ –

…………..

เวทนา : ความเสวยอารมณ์, ความรู้สึก, ความรู้สึกสุขทุกข์ มี ๓ อย่าง คือ

๑. สุขเวทนา ความรู้สึกสุขสบาย

๒. ทุกขเวทนา ความรู้สึกไม่สบาย

๓. อทุกขมสุขเวทนา ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ คือ เฉยๆ เรียกอีกอย่างว่า อุเบกขาเวทนา;

อีกหมวดหนึ่งจัดเป็นเวทนา ๕ คือ

๑. สุข สบายกาย

๒. ทุกข์ ไม่สบายกาย

๓. โสมนัส สบายใจ

๔. โทมนัส ไม่สบายใจ

๕. อุเบกขา เฉยๆ;

ในภาษาไทย ใช้หมายความว่าเจ็บปวดบ้าง สงสารบ้าง

…………..

สรุปให้สั้นที่สุด “เวทนา” คือ “ความรู้สึก” ที่ประมวลลงในคำ 3 คำ คือ ชอบ ชัง เฉย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าใช้ความรู้สึก ก็ก่อปัญหาได้ง่าย

: แต่ถ้าใช้ความรู้ ก็แก้ปัญหาได้ง่าย

25-03-65

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *