บาลีวันละคำ

สงฺเกต (บาลีวันละคำ 380)

สงฺเกต

อ่านว่า สัง-เก-ตะ

เขียนแบบไทยเป็น “สังเกต” อ่านว่า สัง-เกด

สงฺเกต” ในบาลี เป็นคำนาม แปลว่า การหมายไว้, การกำหนดไว้, ความตกลง, การนัดหมาย, สถานที่นัดหมาย, ที่นัดพบ

สังเกต” ในภาษาไทย (กรณีไม่มีคำนำหน้าหรือตามหลัง) ใช้เป็นคำกริยา มีความหมายว่า กําหนดไว้, หมายไว้, ตั้งใจดู, จับตาดู

สังเกต” ในภาษาไทยมักเขียนผิดเป็น “สังเกตุ” (มีสระ อุ ใต้ ) ในภาษาบาลีไม่มีปัญหานี้เนื่องจากรูปศัพท์เป็น “สงฺเกต” และอ่านว่า สัง-เก-ตะ จึงไม่มีทางที่จะเขียนผิดเป็น “สงฺเกตุ” เหมือนในภาษาไทย

ข้อสังเกตเหตุที่มักเขียน “สังเกต” เป็น “สังเกตุ

1. คำไทยที่มาจากบาลีสันสกฤตซึ่งมี ต เต่า เป็นตัวสะกด มักมีตัวตาม เช่น

มิตร (คำว่า “นิมิต” มักจะเขียนผิดเป็น “นิมิตร”)

เนตร (เทียบคำว่า “เขต” เคยเขียนเป็น “เขต”)

วิจิตร (คำว่า “จิตใจ” เคยเขียนเป็น “จิตรใจ”)

ดังนั้น พอจะเขียน “สังเกต” ความรู้สึกจึงบอกว่าต้องมีพยัญชนะหรือสระตามมาอีก

2. ที่มีสระและเป็นตัวสะกด ที่เราคุ้นกันมาก ก็เช่น ชาติ (ชาด) ธาตุ (ทาด) เหตุ (เหด) โดยเฉพาะ “เหตุ” โครงสร้างของรูปคำและระดับเสียงเข้ากับ “เกตุ” ได้พอดี พอเห็นคำว่า “สังเกต” (ไม่มีสระ อุ = ถูก) ใจก็สั่งให้เขียนเป็น “สังเกตุ” (มีสระ อุ = ผิด) ตามความเคยชินที่ซึมซับมาจากคำอื่นๆ

3. ประกอบกับการที่คนทั่วไปมักไม่ระแวงหรือไม่ชอบสงสัยว่าคำในภาษาเดิมจะสะกดอย่างไร จึงพากันเขียนผิดเพลินไปโดยไม่รู้ตัว

เชื่อหรือไม่ :

เขียนผิดเพราะไม่รู้ – รู้แล้วก็ควรเลิกเขียน (ผิด)

ทำผิดเพราะไม่รู้ – รู้แล้วก็ควรเลิกทำ

บาลีวันละคำ (380)

29-5-56

สงฺเกต (บาลี-อังกฤษ)

การกำหนด, ความตกลง, การนัดหมาย, สถานที่นัดหมาย, ที่นัดพบ

intimation, agreement, engagement, appointed place, rendezvuos

สงฺเกต นป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

การหมายไว้, การกำหนดไว้.

สังเกต

ก. กําหนดไว้, หมายไว้, เช่น ทำเครื่องหมายไว้เป็นที่สังเกต; ตั้งใจดู, จับตาดู, เช่น ไม่ได้สังเกตว่าวันนี้เขาแต่งตัวสีอะไร สังเกตกิริยาท่าทางเขาไว้ว่าเป็นคนดีหรือคนร้าย. (ป., ส.).

ข้อสังเกต

น. สิ่งที่กำหนดไว้ให้สนใจเป็นพิเศษ เช่น บทความนี้มีข้อสังเกตอยู่หลายประการ เขาตั้งข้อสังเกตว่า ๒-๓ วันนี้มีชายแปลกหน้ามาเยี่ยม ๆ มอง ๆ ที่ประตูบ้านบ่อย.

สังเกตการณ์

ก. เฝ้าดูหรือศึกษาเหตุการณ์หรือเรื่องราวพอรู้เรื่อง.น. เรียกผู้เข้าร่วมประชุมที่ไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงว่า ผู้สังเกตการณ์.

เกตุ ป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ธง, เครื่องหมายแห่งความรุ่งโรงน์; รัศมี, ลำแสง.

เกตุกมฺยตา อิต.

ความอยากทำตนให้ปรากฎดุจธง, ความเย่อหยิ่ง, ความอวดตน.

(ตรงกับความหมายในบทพาหุง บทที่ ๖ สัจจัง วิหายะ มะติสัจจะกะวาทะเกตุง)

เกตุ (บาลี-อังกฤษ)

๑ รัศมี, แสงสว่าง, ความรุ่งโรจน์, ความโชติช่วง

๒ ธง, ธงชัย, เครื่องหมาย อาจเป็นเครื่องแสดงความรุ่งโรจน์

flag, banner, sign

เกตุกมฺยตา

ความอยากเด่น, การโฆษณาตนเอง, (หรืออาจหมายถึงความโอ้อวด, ความลำพอง)

เกตุ, เกตุ-

 [เกด, เก-ตุ-, เกด-] น. ธง; (โหร) ชื่อดาวพระเคราะห์ดวงที่ ๙ หมายถึงตําแหน่งที่ดวงจันทร์ผ่านจากเหนือระนาบสุริยวิถีลงสู่ใต้ระนาบสุริยวิถี ส่วนตําแหน่งที่ดวงจันทร์ผ่านจากใต้ระนาบสุริยวิถีขึ้นเหนือระนาบสุริยวิถี เรียกว่า พระราหู. (ป., ส.).

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย