บาลีวันละคำ

อธิษฐาน (บาลีวันละคำ 379)

อธิษฐาน

พจน.42 บอกว่า อ่านว่า อะ-ทิด-ถาน ก็ได้ อะ-ทิด-สะ-ถาน ก็ได้

บาลีเป็น “อธิฏฺฐาน” อ่านว่า อะ-ทิด-ถา-นะ

อธิฏฺฐาน” แยกเป็น อธิ + ฐาน ซ้อน สำเร็จรูปเป็น อธิฏฺฐาน

อธิ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า ยิ่ง, ใหญ่, ทับ

ฐาน” แปลว่า ฐานะ, การตั้งอยู่, การดำรงอยู่, การหยุดอยู่, ที่ตั้ง, หลักแหล่ง, ตำแหน่ง, เหตุ, โอกาส

อธิฏฺฐาน” เขียนอิงสันสกฤตเป็น “อธิษฐาน” แปลตามศัพท์ว่า ความตั้งใจแน่วแน่, การตัดสินใจ, ความตกลงใจ

อธิฏฺฐาน – อธิษฐาน” ตามความหมายเดิมคือ ความตั้งใจมั่น, การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว, ความตั้งใจมั่นแน่วที่จะทำการให้สำเร็จลุจุดหมาย, ความตั้งใจหนักแน่นเด็ดเดี่ยวว่าจะทำการนั้นๆ ให้สำเร็จ และมั่นคงแน่วแน่ในทางดำเนินและจุดมุ่งหมายของตน เป็นบารมีอย่างหนึ่ง เรียกว่า อธิษฐานบารมี

ในภาษาไทย “อธิษฐาน” เข้าใจกันในความหมายว่า ตั้งใจมุ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, ตั้งจิตปรารถนา, ตั้งจิตขอร้องต่อสิ่งที่ตนถือว่าศักดิ์สิทธิ์เพื่อผลอย่างใดอย่างหนึ่ง

จะเอาอย่างไหนดี อย่างบาลี หรืออย่างไทย ?

อธิฏฺฐาน” บาลี : ตั้งใจที่จะทำให้สำเร็จด้วยความพยายามของตน

อธิษฐาน” ไทย : ตั้งใจขอเพื่อจะได้หรือให้สำเร็จด้วยอำนาจดลบันดาลโดยตนเองไม่ต้องทำ

บาลีวันละคำ (379)

28-5-56

ฐาน นป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ฐานะ, การตั้งอยู่, การดำรงอยู่, การหยุดอยู่, ที่ตั้ง, หลักแหล่ง, ตำแหน่ง, เหตุ, โอกาส.

อธิฏฺฐาน นป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ความตั้งใจแน่วแน่, การอธิษฐาน, การติดแน่น, ที่อยู่อาศัย.

อธิฏฺฐาน (บาลี-อังกฤษ)

การตัดสินใจ, ความตั้งใจ, การอธิษฐาน, ความปรารถนา (will)

will ใจ, ความสามารถตกลงใจ, ความตั้งใจ, ใจมุ่ง, สมัครใจ (สอ เสถบุตร)

อธิษฐาน

 [อะทิดถาน, อะทิดสะถาน] ก. ตั้งใจมุ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, ตั้งจิตปรารถนา, ตั้งจิตขอร้องต่อสิ่งที่ตนถือว่าศักดิ์สิทธิ์เพื่อผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, อธิฏฐาน ก็ว่า. (ส.; ป. อธิฏฺฐาน).

อธิษฐาน (ประมวลศัพท์)

1. ในทางพระวินัย แปลว่า การตั้งเอาไว้ ตั้งใจกำหนดแน่นอนลงไป เช่น อธิษฐานพรรษา ตั้งเอาไว้เป็นของเพื่อการนั้นๆ หรือตั้งใจกำหนดลงไปว่าให้เป็นของใช้ประจำตัวชนิดนั้นๆ เช่น ได้ผ้ามาผืนหนึ่ง ตั้งใจว่าจะใช้เป็นอะไร คือจะเป็นสังฆาฏิ อุตตราสงค์ อันตรวาสก ก็อธิษฐานเป็นอย่างนั้นๆ เมื่ออธิษฐานแล้ว ของนั้นเรียกว่าเป็นของอธิษฐาน เช่น เป็นสังฆาฏิอธิษฐาน จีวรอธิษฐาน (นิยมเรียกกันว่า จีวรครอง) ตลอดจนบาตรอธิษฐาน ส่วนของชนิดนั้น ที่ได้เพิ่มมาอีกหรือเกินจากนั้นไปก็เป็นอติเรก เช่น เป็นอติเรกจีวร, อติเรกบาตร, คำอธิษฐาน เช่น “อิมํ สงฺฆาฏึ อธิฏฺฐามิ” (ถ้าอธิษฐานของอื่น ก็เปลี่ยนไปตามชื่อของนั้น เช่นเป็น อุตฺตราสงฺคํ, อนฺตรวาสกํ เป็นต้น)

2. ความตั้งใจมั่น, การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว, ความตั้งใจมั่นแน่วที่จะทำการให้สำเร็จลุจุดหมาย, ความตั้งใจหนักแน่นเด็ดเดี่ยวว่าจะทำการนั้นๆ ให้สำเร็จ และมั่นคงแน่วแน่ในทางดำเนินและจุดมุ่งหมายของตน เป็นบารมีอย่างหนึ่ง เรียกว่า อธิษฐานบารมี หรืออธิฏฐานบารมี (ข้อ ๘ ในบารมี ๑๐)

3. ธรรมเป็นที่มั่น, ในแบบเรียนธรรมของไทย เรียกว่า อธิษฐานธรรม; ดู อธิษฐานธรรม 

4. ในภาษาไทย ใช้เป็นคำกริยา และมักมีความหมายเพี้ยนไปว่า ตั้งใจมุ่งขอให้ได้ผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, ตั้งจิตปรารถนา เฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งจิตขอต่อสิ่งที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ให้สำเร็จผลอย่างใดอย่างหนึ่ง;

        มีข้อสังเกตว่า ในความหมายเดิม อธิษฐานเป็นการตั้งใจที่จะทำ (ให้สำเร็จด้วยความพยายามของตน) แต่ความหมายในภาษาไทยกลายเป็นอธิษฐานโดยตั้งใจขอเพื่อจะได้หรือจะเอา เฉพาะอย่างยิ่งด้วยอำนาจดลบันดาลโดยตนเองไม่ต้องทำ (บาลี: อธิฏฺฐาน)

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย