บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ตามบุญตามกรรม

ตามบุญตามกรรม

——————-

มีคำบาลีคำหนึ่งที่พระสงฆ์ที่รู้บาลีมักยกขึ้นมาอ้าง นั่นคือคำว่า

“ราชูนํ อนุวตฺติตุํ”

(รา-ชู-นัง อะ-นุ-วัด-ติ-ตุง)

“ราชูนํ อนุวตฺติตุํ” มีที่มาจากพระวินัยปิฎก ขอยกคำแปลเรื่องราวตอนนี้มาเสนอไว้ในที่นี้ ดังนี้ –

…………………………………………….

ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชมีพระราชประสงค์จะทรงเลื่อนกาลฝนออกไป จึงทรงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า ถ้ากระไรขอพระคุณเจ้าทั้งหลายพึงจำพรรษาในชุณหปักษ์อันจะมาถึง. 

ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า —

อนุชานามิ  ภิกฺขเว  ราชูนํ  อนุวตฺติตุํ = ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คล้อยตามพระเจ้าแผ่นดิน

ที่มา: วัสสูปนายิกขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๔ ข้อ ๒๐๙

…………………………………………….

พระพุทธพจน์อันเป็นพุทธานุญาตนี้ คณะสงฆ์ใช้เป็นหลักอ้างอิงอยู่เสมอเมื่อภิกษุหรือคณะสงฆ์จะต้องปฏิบัติเรื่องใดๆ ตามที่ทางราชการบ้านเมืองกำหนดไว้

ตัวอย่างเช่นทางราชการมีกฎหมายกำหนดให้ชายไทยที่มีอายุครบเกณฑ์ต้องเข้ารับการตรวจเลือกเพื่อเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ 

เรียกรู้กันสั้นๆ ว่า “ไล่ทหาร”

ภิกษุที่มีอายุถึงเกณฑ์ แม้กำลังบวชอยู่ก็ต้องไปเข้ารับการตรวจเลือกตามระเบียบของทางราชการ 

ตรวจเลือกแล้ว ถ้าถูกเกณฑ์ (ที่เรียกกันว่า “ถูกทหาร”) ก็ต้องลาสิกขาไปเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ เว้นไว้แต่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ที่ทางราชการยอมผ่อนผันให้ และได้ยื่นเรื่องขอผ่อนผัน

กรณีเช่นนี้แหละเป็นการปฏิบัติตรงตามพระพุทธานุญาต “อนุชานามิ  ภิกฺขเว  ราชูนํ  อนุวตฺติตุํ” 

จะถือว่าทางบ้านเมืองบีบบังคับภิกษุหรือคณะสงฆ์มิได้

แต่ก็ใช่ว่าภิกษุหรือคณะสงฆ์จะต้องปฏิบัติตามที่ทางราชการบ้านเมืองกำหนดไว้หมดทุกเรื่องก็หาไม่ 

ท่านให้ปฏิบัติตามเฉพาะเรื่องที่เป็น “ธัมมิกะ” คือถูกต้องตามพระธรรมวินัยเท่านั้น 

เรื่องที่ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยท่านไม่ยอมให้ปฏิบัติเลย 

เช่น ถ้าทางบ้านเมืองออกกฎหมายห้ามภิกษุออกบิณฑบาตก่อนเที่ยงวัน หลังเที่ยงวันแล้วจึงให้ออกบิณฑบาตได้ ภิกษุจะออกบิณฑบาตและฉันอาหารหลังเที่ยงวันโดยอ้างว่าเป็นการอนุวัตตามกฎหมายของบ้านเมือง ดังนี้หาชอบไม่

ดังนี้ จะเห็นได้ว่า ถิ่นใดผู้บริหารบ้านเมืองไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาหรือไม่เป็นสัมมาทิฐิ พระพุทธศาสนาย่อมอยู่ในถิ่นนั้นได้ยาก เพราะอาจถูกกลั่นแกล้งจนไม่สามารถปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้สะดวกด้วยประการต่างๆ 

ด้วยเหตุนี้ การอยู่ในปฏิรูปเทส-แดนดินถิ่นที่สมควร ท่านจึงจัดเป็นอุดมมงคลข้อหนึ่ง

ทุกวันนี้ พระพุทธศาสนายังดำรงอยู่ในประเทศไทยได้ เพราะผู้บริหารบ้านเมืองนับถือพระพุทธศาสนาเป็นสัมมาทิฐิ 

แต่ในอนาคต ไม่แน่

เราจะปล่อยให้อนาคตเกิดขึ้นและเป็นไปตามบุญตามกรรม หรือเราควรจะกำหนดอนาคตของเราเอง

ถ้าผู้บริหารการพระศาสนาของเราไม่เริ่มคิดตั้งแต่เดี๋ยวนี้ อนาคตของพระพุทธศาสนาก็จะเป็นไปตามบุญตามกรรม

หรือถ้าเราแต่ละคนต่างก็คิดว่า-ไม่ใช่หน้าที่ของเรา อนาคตของพระพุทธศาสนาก็จะเป็นไปตามบุญตามกรรมเช่นเดียวกัน

ตรงนี้ก็ไปเข้าทางพอดิบพอดี-ทางของท่านที่ยึดถือคติว่า ทุกอย่างเป็นอนิจจัง พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ปล่อยวาง

ก็คือปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามบุญตามกรรม

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๐ มีนาคม ๒๕๖๕

๑๗:๑๔

…………………………..

ภาพประกอบ: จาก google

…………………………..

ตามบุญตามกรรม

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………..

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *