บาลีวันละคำ

อภิสังขารมาร (บาลีวันละคำ 3,568)

อภิสังขารมาร

คือความคิดปรุงแต่งเป็นตัวการให้เกิดทุกข์

อ่านว่า อะ-พิ-สัง-ขา-ระ-มาน

ประกอบด้วยคำว่า อภิสังขาร + มาร

(๑) “อภิสังขาร”

ภาษาไทยอ่านว่า อะ-พิ-สัง-ขาน ประกอบด้วยคำว่า อภิ + สังขาร

(ก) “อภิ” (อะ-พิ) เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า เหนือ, ทับ, ยิ่ง, ข้างบน (over, along over, out over, on top of) โดยอรรถรสของภาษาหมายถึง มากมาย, ใหญ่หลวง (very much, greatly)

(ข) “สังขาร” เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺขาร” อ่านว่า สัง-ขา-ระ รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลงนิคหิตเป็น งฺ, แปลง กรฺ เป็น ขรฺ, ยืดเสียง อะ ที่ ข-(ร) เป็น อา

: สํ > สงฺ + กรฺ = สงฺกร + ณ = สงฺกรณ > สงฺกร > สงฺขร > สงฺขาร แปลตามศัพท์ว่า “ทำร่วมกัน” คือ “สภาวะอันปัจจัยปรุงแต่ง”

“สงฺขาร” (ปุงลิงค์) มีความหมาย 2 อย่าง คือ :

(1) สิ่งที่ถูกปรุงผสมขึ้นให้เห็นว่าเป็นอะไรอย่างหนึ่ง แต่เมื่อแยกส่วนประกอบออกจากกันแล้ว “อะไรอย่างหนึ่ง” นั้นก็ไม่มี (compounded things; component things; conditioned things)

ความหมายนี้รวมไปถึง “ร่างกาย ตัวตน” (the physical body) ตามที่คนทั่วไปเข้าใจ

(2) อาการที่จิตคิดปรุงแต่งไปต่างๆ หรือเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งความคิด การพูด การกระทำ ให้เป็นไปต่างๆ (mental formations; volitional activities)

ความหมายนี้ก็คือ 1 ในองค์ประกอบ 5 อย่าง ที่รวมกันเข้าเป็นชีวิตคน ที่เรียกว่า ขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา “สังขาร” วิญญาณ

“สงฺขาร ใช้ในภาษาไทยเป็น “สังขาร” (สัง-ขาน) และมักเข้าใจกันในความหมายว่า ร่างกาย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“สังขาร : (คำนาม) ร่างกาย, ตัวตน, สิ่งที่ประกอบและปรุงแต่งขึ้นเป็นร่างกายและจิตใจรวมกัน, เช่น สังขารร่วงโรย สังขารไม่เที่ยง; ความคิด เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. (ป.; ส. สํสฺการ). (คำกริยา) ตาย เช่น ถึงซึ่งสังขาร, ในบทกลอนใช้ว่า สังขาร์ ก็มี.”

อภิ + สงฺขาร = อภิสงฺขาร บาลีอ่านว่า อะ-พิ-สัง-ขา-ระ เขียนแบบไทยเป็น “อภิสังขาร” อ่านว่า อะ-พิ-สัง-ขาน แปลว่า “สังขารอันยิ่ง” หมายถึง ความคิดปรุงแต่งอันเข้มข้นมีอิทธิพลต่อการทำพูดคิด

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “อภิสังขาร” ไว้ดังนี้ –

…………..

อภิสังขาร : สภาพที่ปรุงแต่งแห่งการกระทำของบุคคล, เจตนาที่เป็นตัวการในการทำกรรม มี ๓ อย่างคือ ๑. ปุญญาภิสังขาร อภิสังขารที่เป็นบุญ ๒. อปุญญาภิสังขาร อภิสังขารที่เป็นปฏิปักษ์ต่อบุญ คือ บาป ๓. อาเนญชาภิสังขาร อภิสังขารที่เป็นอเนญชา คือ กุศลเจตนาที่เป็นอรูปาวจร ๔; เรียกง่ายๆ ได้แก่ บุญ บาป ฌาน

…………..

สรุปว่า “อภิสังขาร” หมายถึง บุญ บาป ฌาน

(๒) “มาร”

บาลีอ่านว่า มา-ระ รากศัพท์มาจาก มรฺ (ธาตุ = ตาย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ม-(รฺ) เป็น อา (มรฺ > มาร) ตามสูตร “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ”

: มรฺ + ณ = มรณ > มร > มาร แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้ยังกุศลธรรมให้ตาย” คือมารเข้าที่ไหน ความดีที่มีอยู่ในที่นั้นก็ถูกทำลายหมดไป ความดีใหม่ๆ ก็ทำไม่ได้

(2) “ผู้เป็นเครื่องหมายแห่งความเศร้าหมองยังความดีให้ตาย” คือไม่ใช่ฆ่าความดีให้ตายอย่างเดียว หากแต่ยังก่อให้เกิดความสกปรกเลอะเทอะอีกด้วย

สรุปว่า “มาร” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำให้ตาย” มีความหมายว่า สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีหรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ, ตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มาร” ว่า Death, the Evil one, the Tempter (ความตาย, คนชั่วร้าย, นักล่อลวง)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“มาร, มาร- : (คำนาม) เทวดาจําพวกหนึ่ง มีใจบาปหยาบช้าคอยกีดกันไม่ให้ทําบุญ; ยักษ์; ผู้ฆ่า, ผู้ทำลาย, ในพระพุทธศาสนาหมายถึงผู้กีดกันบุญกุศล มี ๕ อย่าง เรียกว่า เบญจพิธมาร คือ ขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร มัจจุมาร เทวบุตรมาร, โดยปริยายหมายถึงผู้ที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง. (ป., ส.).”

อภิสงฺขาร + มาร = อภิสงฺขารมาร บาลีอ่านว่า อะ-พิ-สัง-ขา-ระ-มา-ระ เขียนแบบไทยเป็น “อภิสังขารมาร” อ่านว่า อะ-พิ-สัง-ขา-ระ-มาน แปลว่า “มารคืออภิสังขาร”

คำว่า “อภิสังขารมาร” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ขยายความ :

“อภิสังขาร” ท่านจัดเป็น “มาร” ประเภทหนึ่ง ในจำนวนมารทั้ง 5 คือ :

(1) กิเลสมาร – มารคือกิเลส

(2) ขันธมาร – มารคือเบญจขันธ์ คือร่างกาย

(3) อภิสังขารมาร – มารคือเจตนาที่เป็นตัวปรุงแต่งการกระทำให้เป็นต่างๆ

(4) เทวปุตตมาร – มารคือเทพบุตร คือเทวดาที่เป็นพาล

(5) มัจจุมาร – มารคือความตาย

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [234] บอกความหมายของ “อภิสังขารมาร” ไว้ดังนี้ –

…………..

3. อภิสังขารมาร (มารคืออภิสังขาร, อภิสังขารเป็นมาร เพราะเป็นตัวปรุงแต่งกรรม นำให้เกิดชาติ ชรา เป็นต้น ขัดขวางมิให้หลุดพ้นไปจากสังสารทุกข์ — Abhisaṅkhāra-māra: the Māra of Karma-formations)

…………..

สรุปว่า บุญคือความดีก็ตาม บาปคือความชั่วก็ตาม ฌานคือจิตที่ดิ่งนิ่งลึกซึ้งก็ตาม (บุญ บาป ฌาน = อภิสังขาร) มีอำนาจปรุงแต่งการกระทำของแต่ละคน ส่งผลให้ต้องเวียนวนอยู่ในสังสารวัฏ ดังนี้แหละท่านจึงว่า อภิสังขารเป็นมาร คือเป็นตัวการให้ต้องเกิด-ตายเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด จนกว่าจะรู้หนทางปฏิบัติตัดวงจรนี้ได้เด็ดขาด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จะไปนิพพาน ต้องทำบุญ

: จะเข้านิพพาน ต้องทิ้งบุญ

20-03-65

……………………………

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *