บาลีวันละคำ

เทวปุตตมาร (บาลีวันละคำ 3,569)

เทวปุตตมาร

คือปวงอิทธิพลพาลที่ชักนำผู้คนไปในทางผิด

อ่านว่า เท-วะ-ปุด-ตะ-มาน

ประกอบด้วยคำว่า เทวปุตต + มาร

(๑) “เทวปุตต”

อ่านว่า เท-วะ-ปุด-ตะ ประกอบด้วยคำว่า เทว + ปุตต

(ก) “เทว” อ่านว่า เท-วะ รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + อ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว)

: ทิวฺ + อ = ทิว > เทว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ”

ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา

แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังมีความหมายอีกหลายอย่าง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ –

(1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ)

(2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ)

(3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน)

ในที่นี้ “เทว” ใช้ในความหมายตามข้อ (2) คือเทวดาหรือเทพเจ้า

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

“เทว- ๑ : (คำแบบ) (คำนาม) เทวดา, มักใช้ประกอบหน้าศัพท์อื่น. (ป., ส.).”

แถม :

“เทว” เมื่อใช้ในภาษาไทยแปลง ว เป็น พ ตามสูตรที่นิยมทั่วไป เช่น –

วร > พร

วิวิธ > พิพิธ

: เทว > เทพ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “เทพ” ไว้ 3 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) เทพ ๑, เทพ- : (คำนาม) เทวดา. (ป., ส. เทว).

(2) เทพ ๒ : (คำนาม) คำนำหน้าชื่อเพลงไทย เช่น เทพทอง เทพชาตรี เทพบรรทม เทพนิมิต เทพรัญจวน.

(3) เทพ ๓ : (คำนาม) สมณศักดิ์พระราชาคณะสูงกว่าชั้นราช ตํ่ากว่าชั้นธรรม เรียกว่า ชั้นเทพ เช่น พระเทพโมลี.

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “เทพ” ไว้ดังนี้ –

…………..

เทพ : เทพเจ้า, ชาวสวรรค์, เทวดา; ในทางพระศาสนา ท่านจัดเป็น ๓ คือ

๑. สมมติเทพ เทวดาโดยสมมติ = พระราชา, พระเทวี พระราชกุมาร

๒. อุปปัตติเทพ เทวดาโดยกำเนิด = เทวดาในสวรรค์และพรหมทั้งหลาย

๓. วิสุทธิเทพ เทวดาโดยความบริสุทธิ์ = พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย

…………..

ในที่นี้ใช้ตามรูปเดิมในบาลีเป็น “เทว”

(ข) “ปุตต” เขียนแบบบาลีเป็น “ปุตฺต” (มีจุดใต้ ตฺ ตัวหน้า) อ่านว่า ปุด-ตะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ปู (ธาตุ = สะอาด, ชำระ) + ต ปัจจัย, ซ้อน ตฺ, รัสสะ อู ที่ ปู เป็น อุ (ปู > ปุ)

: ปู + ตฺ + ต = ปูตฺต > ปุตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้เป็นเหตุให้บิดามารดาสะอาด” (คือไม่ถูกตำหนิว่าไม่มีผู้สืบสกุล) (2) “ผู้ชำระตระกูลของตนให้สะอาด” (คือทำให้ตระกูลมีผู้สืบต่อ)

(2) ปูรฺ (ธาตุ = เต็ม) + ต ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ,(ปูรฺ > ปูตฺ), รัสสะ อู ที่ ปู-(รฺ) เป็น อุ (ปูร > ปุร)

: ปูรฺ + ตฺ = ปูรต > ปูตฺต > ปุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังดวงใจของบิดามารดาให้เต็ม”

(3) ปุสฺ (ธาตุ = เลี้ยง) + ต ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ (ปุสฺ > ปุ), ซ้อน ตฺ

: ปุสฺ > ปุ + ตฺ + ต = ปุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันมารดาบิดาเลี้ยงดู”

“ปุตฺต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ลูกชาย (a son)

(2) เด็ก, ผู้สืบสกุล (child, descendant)

เทว + ปุตฺต = เทวปุตฺต (เท-วะ-ปุด-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “ลูกชายของเทวดา”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความคำว่า “เทวปุตฺต” ไว้ดังนี้ –

…………..

“son of a god,” a demi-god, a ministering god (cp. f. deva-dhītā), usually of Yakkhas, but also appld to the 4 archangels having charge of the higher world of the Yāmā devā (viz. Suyāma devaputta); the Tusitā d. (Santusita d.); the Nimmānaratī d. (Sunimmita d.); & the Paranimmitavasavattī d. (Vasavattī d.)

“บุตรของเทพ”, เทพบุตร, เทพที่มีหน้าที่ปฏิบัติ (เทียบศัพท์อิตถีลิงค์ เทวธีตา), ตามปกติใช้กับพวกยักษ์, แต่ก็ใช้กับหัวหน้าเทพ 4 ตน ซึ่งปกครองอยู่ในเทวโลกชั้นสูงของ ยามา เทวา (กล่าวคือ สุยามเทวปุตฺต); ตุสิตา เทวา (สนฺตุสิตเทวปุตฺต); นิมุมานรตี เทวา (สุนิมฺมิตเทวปุตฺต); และ ปรนิมฺมิตวสวตฺตี เทวา (วสวตฺตีเทวปุตฺต)

…………..

“เทวปุตฺต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “เทพบุตร”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –

“เทพบุตร : เทวดาผู้ชาย, ชาวสวรรค์เพศชาย.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“เทพบุตร : (คำนาม) เทวดาผู้ชาย. (ส.).”

สรุปว่า “เทพบุตร” หมายถึง เทวดาทั่วไปที่มีเพศเป็นชาย ส่วนเทวดาที่มีเพศเป็นหญิง เรียกว่า “เทพธิดา”

ในที่นี้ใช้ตามรูปเดิมในบาลีเป็น “เทวปุตต”

(๒) “มาร”

บาลีอ่านว่า มา-ระ รากศัพท์มาจาก มรฺ (ธาตุ = ตาย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ม-(รฺ) เป็น อา (มรฺ > มาร) ตามสูตร “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ”

: มรฺ + ณ = มรณ > มร > มาร แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้ยังกุศลธรรมให้ตาย” คือมารเข้าที่ไหน ความดีที่มีอยู่ในที่นั้นก็ถูกทำลายหมดไป ความดีใหม่ๆ ก็ทำไม่ได้

(2) “ผู้เป็นเครื่องหมายแห่งความเศร้าหมองยังความดีให้ตาย” คือไม่ใช่ฆ่าความดีให้ตายอย่างเดียว หากแต่ยังก่อให้เกิดความสกปรกเลอะเทอะอีกด้วย

สรุปว่า “มาร” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำให้ตาย” มีความหมายว่า สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีหรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ, ตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มาร” ว่า Death, the Evil one, the Tempter (ความตาย, คนชั่วร้าย, นักล่อลวง)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“มาร, มาร- : (คำนาม) เทวดาจําพวกหนึ่ง มีใจบาปหยาบช้าคอยกีดกันไม่ให้ทําบุญ; ยักษ์; ผู้ฆ่า, ผู้ทำลาย, ในพระพุทธศาสนาหมายถึงผู้กีดกันบุญกุศล มี ๕ อย่าง เรียกว่า เบญจพิธมาร คือ ขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร มัจจุมาร เทวบุตรมาร, โดยปริยายหมายถึงผู้ที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง. (ป., ส.).”

เทวปุตฺต + มาร = เทวปุตฺตมาร บาลีอ่านว่า เท-วะ-ปุด-ตะ-มา-ระ เขียนแบบไทยเป็น “เทวปุตตมาร” อ่านว่า เท-วะ-ปุด-ตะ-มาน แปลว่า “มารคือเทวบุตร”

คำว่า “เทวปุตตมาร” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ขยายความ :

“เทวปุตต” ท่านจัดเป็น “มาร” ประเภทหนึ่ง ในจำนวนมารทั้ง 5 คือ :

(1) กิเลสมาร – มารคือกิเลส

(2) ขันธมาร – มารคือเบญจขันธ์ คือร่างกาย

(3) อภิสังขารมาร – มารคือเจตนาที่เป็นตัวปรุงแต่งการกระทำให้เป็นต่างๆ

(4) เทวปุตตมาร – มารคือเทพบุตร คือเทวดาที่เป็นพาล

(5) มัจจุมาร – มารคือความตาย

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [234] บอกความหมายของ “เทวปุตตมาร” ไว้ดังนี้ –

…………..

4. เทวปุตตมาร (มารคือเทพบุตร, เทพยิ่งใหญ่ระดับสูงสุดแห่งชั้นกามาวจรตนหนึ่งชื่อว่ามารเพราะเป็นนิมิตแห่งความขัดข้อง คอยขัดขวางเหนี่ยวรั้งบุคคลไว้ มิให้ล่วงพ้นจากแดนอำนาจครอบงำของตน โดยชักให้ห่วงพะวงในกามสุขไม่หาญเสียสละออกไปบำเพ็ญคุณความดีที่ยิ่งใหญ่ได้ — Devaputta-māra: the Māra as deity)

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “เทวปุตตมาร” อธิบายไว้ดังนี้ –

…………..

เทวปุตตมาร : มารคือเทพบุตร, เทวบุตรเป็นมาร เพราะเทวบุตรบางตนที่มุ่งร้ายคอยขัดขวางเหนี่ยวรั้งบุคคลไว้ไม่ให้สละกามสุขออกไปบำเพ็ญคุณธรรมที่ยิ่งใหญ่ ทำให้บุคคลนั้นพินาศจากความดี, คัมภีร์สมัยหลังๆ ออกชื่อว่าพญาวสวัตดีมาร (ข้อ ๕ ในมาร ๕)

…………..

ที่คำว่า “วสวัตดี” อธิบายไว้ว่า –

…………..

วสวัตดี, วสวัดดี : ชื่อพระยามาร เป็นเทพในสวรรค์ชั้นสูงสุดแห่งระดับกามาวจร เป็นผู้คอยขัดขวางเหนี่ยวรั้งบุคคลไม่ให้ล่วงพ้นจากแดนกาม ซึ่งอยู่ในอำนาจครอบงำของตน; ดู มาร 2, เทวปุตตมาร

…………..

ตามไปดูที่คำว่า “มาร” อธิบายไว้ดังนี้ –

…………..

มาร :

1. สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีหรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ, ตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี มี ๕ คือ ๑. กิเลสมาร มารคือกิเลส ๒. ขันธมาร มารคือเบญจขันธ์ ๓. อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขารที่ปรุงแต่งกรรม ๔. เทวปุตตมาร มารคือเทพบุตร ๕. มัจจุมาร มารคือความตาย

2. พระยามารที่มีเรื่องราวปรากฏบ่อยๆ ในคัมภีร์ คอยมาแทรกแซงเหตุการณ์ต่างๆ ในพระพุทธประวัติ เช่น ยกพลเสนามาผจญพระมหาบุรุษในวันที่จะตรัสรู้ พระองค์ชนะพระยามารได้ด้วยทรงนึกถึงบารมี ๑๐ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิฏฐาน เมตตา อุเบกขา มารในกรณีเช่นนี้ บางทีท่านอธิบายออกชื่อว่าเป็นวสวัตดีมาร ซึ่งครองแดนหนึ่งในสวรรค์ชั้นสูงสุดแห่งระดับกามาวจร คือปรนิมมิตวสวัตดี เป็นผู้คอยขัดขวางเหนี่ยวรั้งบุคคลไว้ มิให้ล่วงพ้นจากแดนกามซึ่งอยู่ในอำนาจครอบงำของตน อย่างไรก็ดี ผู้ศึกษาพึงพิจารณาเทียบจากมาร ๕ ในความหมายที่ 1. ด้วย

…………..

ถ้าจะสรุปความให้ตรงกับความจริงในปัจจุบัน “เทวปุตตมาร” ก็คือ คน และหมายรวมไปถึงกิจกรรม กิจการต่างๆ ที่คนจัดให้มีขึ้น ตลอดจนค่านิยมของคน ที่มีอำนาจและมีอิทธิพลในสังคม แต่อำนาจและอิทธิพลนั้นชักนำผู้คนไปในทางผิด

ส่วนคำว่า “ทางผิด” มีความหมายว่าอย่างไร ก็ต้องไปตั้งวงจำกัดความกันให้ดี เพราะบางทีหลายๆ คนก็ไม่ยอมรับว่าเรื่องที่ตนชักนำนั้นเป็นทางผิด มิหนำซ้ำกลับยืนยันว่าเป็นทางถูกเสียอีกด้วย

…………..

ดูก่อนภราดา!

เทวปุตตมารนั้น –

: เมื่อจำเป็น ก็อยู่กับมัน

: แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นกับมัน

21-03-65

…………………………………..

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………………..

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *