บาลีวันละคำ

ปฏวาสินี-ภรรยาประเภทที่ 4 (บาลีวันละคำ 3,590)

ปฏวาสินี-ภรรยาประเภทที่ 4

ภรรยาที่อยู่เพราะผ้า

…………..

ควรทราบก่อน :

ในจำนวนศีล 227 สิกขาบทของภิกษุ ในหมวดอาบัติสังฆาทิเสสมี 13 สิกขาบท สิกขาบทที่ 5 บัญญัติว่า “ภิกษุชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน ต้องสังฆาทิเสส” (นวโกวาท หน้า 3)

เมื่อกล่าวถึง “ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน” ตามสิกขาบทนี้ พระวินัยปิฎกจำแนกหญิงที่ชายได้มาเป็นภรรยาไว้ 10 ประเภท คือ –

(1) ธนกีตา = ภรรยาสินไถ่ 

(2) ฉันทวาสินี = ภรรยาที่อยู่ด้วยความเต็มใจ 

(3) โภควาสินี = ภรรยาที่อยู่เพราะสมบัติ

(4) ปฏวาสินี = ภรรยาที่อยู่เพราะผ้า 

(5) โอทปัตตกินี = ภรรยาที่สมรส 

(6) โอภตจุมพฏา = ภรรยาที่ถูกปลงเทริด 

(7) ทาสี ภริยา = ภรรยาที่เป็นทั้งคนใช้เป็นทั้งภรรยา 

(8 ) กัมมการี ภริยา = ภรรยาที่เป็นทั้งลูกจ้างทั้งเป็นภรรยา 

(9) ธชาหฏา = ภรรยาเชลย

(10) มุหุตติกา = ภรรยาชั่วคราว 

ชื่อภรรยาทั้ง 10 ประเภทนี้ ไม่ใช่คำแสดงลักษณะนิสัยของภรรยาเหมือนภรรยา 7 ประเภท เช่น “โจรีภริยาภรรยาเยี่ยงโจรมาตาภริยาภรรยาเยี่ยงมารดา เป็นต้น หากแต่เป็นคำแสดงที่มาหรือลักษณะที่ได้หญิงนั้นมาเป็นภรรยาว่าได้มาด้วยวิธีใด

ชื่อภรรยาทั้ง 10 ประเภทนี้บ่งบอกถึงสภาพสังคมหรือค่านิยมในการหาคู่ครองของชายชาวชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล เป็นเรื่องน่ารู้ จึงนำแต่ละชื่อมาแสดงความหมายตามกรอบขอบเขตของ “บาลีวันละคำ” พอเป็นอลังการของนักเรียนบาลี

…………..

ปฏวาสินี” อ่านว่า ปะ-ตะ-วา-สิ-นี ประกอบด้วยคำว่า ปฏ + วาสินี

(๑) “ปฏ” 

บาลีอ่านว่า ปะ-ตะ (- ฏ ปฏัก) รากศัพท์มาจาก – 

(1) ปฏฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย

: ปฏ + = ปฏ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องให้ไปได้” (คือทำให้ไปไหนได้สะดวก) (2) “สิ่งที่ถึงความเก่าได้” 

(2) (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ฏิ (ธาตุ = ปกปิด) + (อะ) ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (ฏิ > )

: + ฏิ = ปฏิ + = ปฏิ > ปฏ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องปกปิดหิริโอตตัปปะไว้โดยทั่วไป” (2) “สิ่งที่ปกปิดอวัยวะที่น่าละอายไว้” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปฏ” (ปุงลิงค์) ว่า cloth; cloak, garment (ผ้า; เสื้อคลุม, เสื้อผ้า) 

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “ปฏ” ว่า แผ่น, ผ้า, แผ่นผ้า, เครื่องนุ่งห่ม 

บาลี “ปฏ” สันสกฤตก็เป็น “ปฏ” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ) 

ปฏ : (คำนาม) ผ้างาม; ผ้าสี; ผ้าผืน. ฯลฯ; ผ้าใบ; ผ้าเต๊นท์, ผ้ากั้นปฏมณฑป; เครื่องแต่งตัวอันเปนผ้าสี; พัสดุสำหรับมุงหลังคา, หลังคา; fine cloth; coloured cloth; a sheet of cloth, &c.; canvas; a tent-cloth, a screen of cloth surrounding a tent; a coloured garment; a thatch, a roof.”

ปฏ” ที่น่าจะคุ้นกันในภาษาไทยใช้เป็น “บัฏ” (บัด) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

บัฏ : (คำนาม) ผืนผ้า, แผ่น เช่น หิรัญบัฏ. (ป., ส. ปฏ).”

อีกคำหนึ่งที่มีใช้ในภาษาไทย คือ “บฏ” (บด) ในคำว่า “พระบฏ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

บฏ : (คำแบบ) (คำนาม) ผ้าทอ, ผืนผ้า; เรียกผืนผ้าที่มีรูปพระพุทธเจ้าเป็นต้นและแขวนไว้เพื่อบูชาว่า พระบฏ. (ป. ปฏ).”

ในที่นี้ใช้ตามรูปเดิมเป็น “ปฏ” (ฏ ปฏัก สะกด)

(๒) “วาสินี” 

รูปคำเดิมเป็น “วาสี” อ่านว่า วา-สี รากศัพท์มาจาก วสฺ (ธาตุ = อยู่, พำนัก; ชอบใจ) + ณี ปัจจัย, ลบ (ณี > อี), “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ -(สฺ) เป็น อา (วสฺ > วาส

: วสฺ + ณี = วสณี > วสี > วาสี (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีปรกติอยู่-(ในที่ใดที่หนึ่ง)” หมายถึง ชอบ, อาศัยอยู่ [ใน] (liking, dwelling [in])

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

วาสิน, วาสี ๑ : (คำนาม) ผู้อยู่, ผู้ครอง, มักใช้เป็นส่วนท้ายสมาส เช่น คามวาสี = ผู้อยู่บ้าน อรัญวาสี = ผู้อยู่ป่า. (ป., ส.).”

หมายเหตุ : ที่พจนานุกรมฯ สะกดเป็น “วาสิน” นั้น เป็นการถอดรูปมาจากวิธีสะกดคำบาลีด้วยอักษรโรมันแบบหนึ่ง คือคำว่า “วาสี” อาจสะกดเป็นอักษรโรมันได้ 2 แบบ คือ vāsī = วาสี ก็ได้ vāsin = วาสินฺ ก็ได้ แต่เมื่อถอดเป็นบาลีอักษรไทย เรานิยมสะกดเป็น “วาสี

วาสี” เป็นรูปคำปุงลิงค์ เมื่อใช้เป็นคุณศัพท์ขยายคำนามที่เป็นอิตถีลิงค์ ลง “อินี” ปัจจัย เปลี่ยนรูปเป็น “วาสินี

แถม :

อินี” ปัจจัยนี้ใช้ลงหลังคำนามที่เป็นปุงลิงค์เพื่อทำให้นามคำนั้นเป็นอิตถีลิงค์

คำประเภทนี้ที่เราคุ้นกันในภาษาไทย เช่น –

: เศรษฐี = ชายผู้มั่งมี

: เศรษฐินี = หญิงผู้มั่งมี

: ภิกษุ (บาลี: ภิกฺขุ) = ชายที่บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา

: ภิกษุณี (บาลี: ภิกฺขุนี, ภิกฺขุ + อินี ลบ อิ) = หญิงที่บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา

: คหบดี (บาลี: คหปติ) = ชายที่เป็นเจ้าบ้าน

: คหปตานี (บาลี: คหปติ + อินี แปลง อิ ที่ ติ และ อิ ที่ อินี เป็น อา) = หญิงที่เป็นเจ้าบ้าน

: จักรพรรดิ = ชายผู้เป็นประมุขของจักรวรรดิ (พระเจ้าจักรพรรดิผู้ชาย)

: จักรพรรดินี = หญิงผู้เป็นประมุขของจักรวรรดิ (พระเจ้าจักรพรรดิผู้หญิง)

: ราชา = ชายผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน

: ราชินี = หญิงผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน (แต่ในภาษาไทยใช้ในความหมายว่า หญิงผู้เป็นมเหสีของพระเจ้าแผ่นดิน)

ปฏ + วาสินี = ปฏวาสินี เขียนแบบไทยได้รูปเหมือนบาลี คือ “ปฏวาสินี” (ปะ-ตะ-วา-สิ-นี) แปลว่า “ภรรยาที่อยู่ด้วยผ้า” 

ขยายความ :

ในพระไตรปิฎก สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 5 ให้คำจำกัดความ “ปฏวาสินี” ไว้ดังนี้ –

…………..

ปฏวาสินี  นาม  ปฏํ  ทตฺวา  วาเสติ  ฯ

ภรรยาที่ชื่อว่า “ปฏวาสินี” (อยู่ด้วยผ้า) หมายถึง สตรีที่ชายมอบผ้าให้แล้วให้อยู่ร่วมกัน

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 433

…………..

คัมภีรอรรถกถาพระวินัยปิฎกขยายความ “ปฏวาสินี” ไว้ดังนี้ –

…………..

ปเฏน  วสตีติ  ปฏวาสินี  ฯ

หญิงใดย่อมอยู่ด้วยผ้า หญิงนั้นชื่อว่า ปฏวาสินี

นิวาสนมตฺตํปิ  ปาปุรณมตฺตํปิ  ลภิตฺวา  ภริยาภาวํ  อุปคจฺฉนฺติยา  ทลิทฺทิตฺถิยา  เอตํ  อธิวจนํ  ฯ

หญิงที่เป็นคนเข็ญใจได้รับเพียงผ้านุ่งก็ตาม เพียงผ้าห่มก็ตาม (ที่ฝ่ายชายมอบให้) ก็เป็นอันอยู่ในฐานะเป็นภรรยา ภรรยาเช่นนี้ชื่อว่า ปฏวาสินี 

ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 2 หน้า 57 (อธิบายสังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 5)

…………..

แถม :

ดูตามคำอธิบายของอรรถกถาแล้ว เราในสมัยนี้อาจสงสัยว่า ฝ่ายชายให้เพียงผ้านุ่งผ้าห่ม ฝ่ายหญิงก็ยอมตกลงเป็นภรรยา-แบบนี้มีด้วยหรือ?

อรรถกถาท่านระบุลักษณะของหญิงว่า “ทลิทฺทิตฺถิยา” (รูปศัพท์เดิม “ทลิทฺทิตฺถี” – ทะ-ลิด-ถี) แปลว่า “หญิงเข็ญใจ” นั่นคือฝ่ายหญิงอยู่ในฐานะยากจนมาก ถึงขนาดที่ว่า-แม้ผ้านุ่งจะพันกายก็แทบจะไม่มี ขอให้นึกเทียบกับผู้จะบวชเป็นภิกษุต้องไปเที่ยวเก็บผ้าที่เขาทิ้งมาเย็บย้อมเป็นจีวรจึงจะบวชได้ สภาพเช่นนี้มีอยู่ทั่วไป ชาวบ้านที่ยากจนขนาดไม่มีผ้าจะพันกายย่อมมีอยู่ทั่วไป ถอยไปในยุคสมัยที่ผ้านุ่งผ้าห่มต้องทอเองเย็บเองไม่กี่ร้อยปีมานี้ก็จะเห็นได้ว่า ผ้า-เครื่องนุ่งห่มเป็นปัญหาที่สำคัญมากๆ 

หญิงที่ยากจนเช่นนี้ เพียงแค่ฝ่ายชายมอบผ้านุ่งผ้าห่มให้ก็ย่อมถือว่าเป็นการแสดงออกถึงไมตรีจิตที่ฝ่ายหญิงควรยอมรับเป็นภรรยาได้

เพราะสภาพสังคมต่างกันและสถานะการครองชีพที่ต่างกันกับสมัยเรา จึงไม่ควรที่ใครในสมัยนี้จะมองไปในเชิงดูหมิ่นว่า-แค่ผ้าห่มผืนเดียวก็ยอมเป็นเมียแล้ว

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ผ้าผืนเดียว เงินไม่กี่บาทก็ซื้อได้

: แต่น้ำใจที่ให้ผ้านั้น โลกทั้งโลกก็ซื้อไม่ได้

#บาลีวันละคำ (3,590)

11-4-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *