บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คำพูดที่นำมาโพสต์

คำพูดที่นำมาโพสต์

———————

ทุกวันนี้มีเครื่องมือสื่อสารหลากหลายชนิดหลายช่องทาง ทั้งสื่อสารมวลชนและสื่อเฉพาะวงการหรือสื่อส่วนตัว และมีเรื่องราวหลากหลายที่ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อดังกล่าว

เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อเหล่านี้ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าออกมาจากปากของคนที่รู้ความจริงและรู้เรื่องจริงเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น และบอกความจริงทั้งหมด?

หรือว่าจริงๆ แล้วมันเป็นเพียงคำพูดของคนที่ตนเองก็ยังไม่รู้ว่าเรื่องจริงหรือความจริงเป็นอย่างไร แต่ก็เอามาพูดได้เป็นคุ้งเป็นแคว?

หรือแม้จะรู้จริง แต่ก็บอกความจริงไม่หมด?

หรือที่ร้ายกว่านั้น-ทั้งๆ ที่รู้ว่าเรื่องจริงเป็นอย่างหนึ่ง แต่ก็เอามาบอกเราเป็นอีกอย่างหนึ่ง?

เวลาฟัง หรืออ่าน หรือได้รู้เรื่องอะไรมา วิธีที่ควรทำคือ –

๑ รับรู้อย่างสงบ อย่าเพิ่งบอกต่อไม่ว่าจะโดยช่องทางใดๆ ทั้งสิ้น

๒ ถ้าสนใจ ก็หาทางตรวจสอบศึกษาว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไรกันแน่

๓ ถ้าไม่สนใจก็ปล่อยวางไป

๔ ถ้าคันมือคันปากอยากบอกต่อ ก็ให้ถามตัวเองก่อนว่า รู้เรื่องจริงหมดแล้วหรือยัง ถ้ายังรู้ไม่หมด หรือยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเท็จจริงเป็นอย่างไรกันแน่ ก็เลิกความคิดที่จะบอกต่อเสียโดยพลัน

๕ สมมุติว่าเรื่องนั้นตนไปเสาะหาจนรู้ความจริงมาหมดแล้ว ก็ยังต้องถามตัวเองก่อนว่า เอาไปบอกต่อแล้วได้ประโยชน์อะไร 

ตัวเองได้ความสะใจ 

แล้วใครได้อะไร 

แล้วใครเสียอะไร

เป็นการสร้างสรรค์หรือเป็นการเสื่อมเสีย

เป็นการแก้ปัญหาหรือเป็นการก่อปัญหา

ถ้าคนอื่น/สังคมไม่รู้เรื่องนั้น จะเสียประโยชน์อะไร

ถ้าคนอื่น/สังคมรู้เรื่องนั้น จะได้ประโยชน์อะไร

ฯลฯ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างคำถามเพื่อให้เกิดความยั้งคิด

น่าเสียดายที่คนส่วนมากไม่เคยตั้งคำถามเพื่อให้เกิดความยั้งคิดแบบนี้

ส่วนมากพอใจที่จะตั้งคำถามแบบนี้ —

พูดเพราะอยากพูด

บอกเพราะอยากบอก

เขียนเพราะอยากเขียน

โพสต์เพราะอยากโพสต์

มี’ไรไหม?

…………………………………………….

ความจริงบางเรื่อง น่ารังเกียจที่จะนำมาพูด

แต่การเอาความไม่จริงมาพูด น่ารังเกียจกว่าหลายเท่า

…………………………………………….

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๒ เมษายน ๒๕๖๕

๑๕:๒๘

……………………………………………

คำพูดที่นำมาโพสต์

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *