สหปังสุกีฬิก (บาลีวันละคำ 4,154)
สหปังสุกีฬิก
= เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็ก
อ่านว่า สะ-หะ-ปัง-สุ-กี-ลิก
ประกอบด้วยคำว่า สห + ปังสุ + กีฬิก
(๑) “สห” (สะ-หะ)
เป็นคำบุรพบทและอุปสรรค แปลว่า พร้อม, กับ, พร้อมด้วย
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สห” ว่า conjunction with, together, accompanied by (ต่อเนื่อง, ด้วยกัน, ติดตามด้วย)
“สห” ในบาลีมีความหมายเพียงแค่ พร้อมกัน ร่วมกัน เช่น ไปด้วยกัน อยู่ด้วยกัน ทำพร้อมกัน แต่ไม่ได้หมายถึง “รวมกันเป็นหนึ่งเดียว” (United) เสมอไป
(๒) “ปังสุ”
เขียนแบบบาลีเป็น “ปํสุ” อ่านว่า ปัง-สุ รากศัพท์มาจาก ปํสฺ (ธาตุ = พินาศ, เสียหาย) + อุ ปัจจัย
: ปํสฺ + อุ = ปํสุ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยังของสวยงามให้เสียไป” หมายถึง ฝุ่น, ขยะ, สิ่งสกปรก, ดินร่วน (dust, dirt, soil)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีศัพท์ว่า “ปำสุ” บอกไว้ว่า –
“ปำสุ : (คำนาม) ‘ปางสุ,’ ธุลี, ละอองผง ปุ๋ย; dust; manure.”
(๓) “กีฬิก”
บาลีอ่านว่า กี-ลิ-กะ รากศัพท์มาจาก กีฬฺ (ธาตุ = เล่น, สนุกสนาน) + อิก ปัจจัย
: กีฬฺ + อิก = กีฬิก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เล่น” “ผู้สนุกสนาน”
การประสมคำ :
๑ ปํสุ + กีฬิก = ปํสุกีฬิก (ปัง-สุ-กี-ลิ-กะ) แปลว่า “ผู้เล่นฝุ่น” “ผู้สนุกสนานที่ฝุ่น”
๒ สห + ปํสุกีฬิก = สหปํสุกีฬิก (สะ-หะ-ปัง-สุ-กี-ลิ-กะ) แปลว่า “ผู้เล่นฝุ่นด้วยกัน” “ผู้สนุกสนานที่ฝุ่นด้วยกัน”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สหปํสุกีฬิก”ว่า a companion in play, a playfellow (เพื่อนเล่น, เพื่อนในการเล่น)
ขยายความ :
วิถีชีวิตของเด็กคือเล่นสนุก และมักจะมีเพื่อนเล่นสักคนหนึ่งที่คุ้นเคยกัน เล่นด้วยกันเสมอ ของเล่นตามธรรมชาติของเด็กสมัยเก่าก็คือดิน เด็กที่เล่นดิน คลุกดิน หรือคลุกฝุ่นมาด้วยกันตั้งแต่เป็นเด็ก เมื่อโตขึ้นก็กลายเป็นเพื่อนสนิทกัน ในภาษาบาลีมีคำเรียกว่า “สหปํสุกีฬิก” แปลว่า “เพื่อนเล่นฝุ่นมาด้วยกัน”
เมื่อจะบรรยายว่า คนคู่นี้คบกันมานาน เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็ก ก็จะใช้คำว่า “สหปํสุกีฬิกา สหายา” = เพื่อนเล่นฝุ่นมาด้วยกัน
เด็กรุ่นใหม่คงนึกภาพไม่ออกว่า “เพื่อนเล่นฝุ่น” คืออย่างไร แต่เด็กไทยเมื่อร้อยปีที่แล้วไม่ต้องนึก เพราะล้วนแต่โตมาด้วยการเล่นฝุ่นด้วยกันทั้งนั้น
“สหปํสุกีฬิก” เขียนแบบไทยเป็น “สหปังสุกีฬิก” อ่านว่า สะ-หะ-ปัง-สุ-กี-ลิก
คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 และยังไม่มีใครพูดกันในภาษาไทย ขอฝากไว้ใน “อ้อมใจของมิตรแฟนเพลง” อีกคำหนึ่ง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อันเพื่อนดีมีหนึ่งถึงจะน้อย
: ดีกว่าร้อยเพื่อนคิดริษยา
: เหมือนเกลือดีมีน้อยด้อยราคา
: ยังดีกว่าน้ำเค็มเต็มทะเล
– พุทธทาสภิกขุ
(อ้างตามที่อ้างกันมา)
#บาลีวันละคำ (4,154)
27-10-66
…………………………….
…………………………….