เรื่องของอาจารย์เสฐียรพงษ์ที่ผมรู้
เรื่องของอาจารย์เสฐียรพงษ์ที่ผมรู้
————————————
อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก เปรียญธรรม ๙ ประโยคขณะเป็นสามเณร ปริญญาตรีและโทจาก Trinity College, Cambridge University ประเทศอังกฤษ ศาสตราจารย์พิเศษ ราชบัณฑิต ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๕ ญาติมิตรทั้งหลายคงได้ทราบรายละเอียดต่างๆ ไปมากแล้ว
เรื่องที่จะเขียนต่อไปนี้เป็นเรื่องอาจารย์เสฐียรพงษ์ที่ผมรู้ และเชื่อว่าบางประเด็นญาติมิตรทั้งหลายยังไม่เคยรู้มาก่อน
อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก เป็นศิษย์สำนักวัดทองนพคุณ เขตคลองสาน กรุงเทพฯ สอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้เมื่อปี ๒๕๐๓ ขณะเป็นสามเณร นับเป็นสามเณรรูปแรกที่สอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้ในสมัยรัชกาลที่ ๙
ปี ๒๕๐๓ มีผู้สอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้ ๙ รูป เรียงลำดับหมายเลขตามทำเนียบดังนี้
………………………………………
๑๑๔ พระมหาโกวิท โกวิโท (สมพรชัย) อายุ ๒๘ วัดจักรวรรดิราชาวาส
๑๑๕ พระมหาสมหมาย โชติวํโส (เปรมจิต) อายุ ๒๘ วัดราชบูรณะ
๑๑๖ พระมหาอดุล ปญฺญาตุโล (วิเศษนคร) อายุ ๒๘ วัดเทพธิดาราม
๑๑๗ พระมหาช่วง โชติมนฺโต (คุโณ) อายุ ๓๕ วัดเบญจมบพิตร
๑๑๘ พระมหาเฉลิม ปภากโร (สว่างจิต) อายุ ๓๐ วัดพระเชตุพนฯ
๑๑๙ พระมหาสังคม ปญฺญาสิริ (ศรีราช) อายุ ๒๗ วัดมหาธาตุฯ กรุงเทพฯ
๑๒๐ พระมหาประสิทธิ โพธิวฑฺฒโน (หลักโคตร) อายุ ๒๔ วัดมหาธาตุฯ กรุงเทพฯ
๑๒๑ พระมหาวิลาศ ญาณวโร (ทองคำ) อายุ ๒๙ วัดดอนหวาย
๑๒๒ สามเณรเสฐียรพงษ์ (วรรณปก) อายุ ๒๑ วัดทองนพคุณ
………………………………………
เมื่อพูดถึงความสำเร็จในชีวิตของอาจารย์เสฐียรพงษ์ บุคคลหนึ่งที่จะต้องเอ่ยถึงด้วยก็คืออาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส. ศิวรักษ์ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนอาจารย์เสฐียรพงษ์ให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ
อาจารย์สุลักษณ์เป็นใคร เป็นคนอย่างไร ใครจะชอบหรือไม่ชอบ ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่กรณีอาจารย์เสฐียรพงษ์ เราควรต้องขอบคุณอาจารย์สุลักษณ์
พูดตามสำนวนสมัยนี้ก็ว่า อาจารย์เสฐียรพงษ์มีวันนี้ได้ก็เพราะอาจารย์สุลักษณ์
อาจารย์สุลักษณ์เคยบวชเป็นสามเณรที่วัดทองนพคุณ (แต่จะบวชพระด้วยหรือเปล่าไม่แน่ใจ) เรียกว่า “ขึ้น” วัดทองนพคุณ จะขึ้นตามตระกูลหรือด้วยความเลื่อมใสส่วนตัวก็ไม่ทราบ ในบรรดาพระสงฆ์เมืองไทยที่อาจารย์สุลักษณ์นับถือซึ่งมีอยู่น้อยรูปอย่างยิ่ง มีพระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดทองนพคุณรวมอยู่ด้วยรูปหนึ่ง
เมื่อขึ้นวัดทองนพคุณ อาจารย์สุลักษณ์ก็ย่อมจะต้องรู้จักอาจารย์เสฐียรพงษ์ และจึงมีแก่ใจสนับสนุน อาจารย์สุลักษณ์เป็นนักเรียนอังกฤษ การสนับสนุนให้ไปศึกษาต่อที่อังกฤษจึงสามารถทำได้สะดวก
อาจารย์เสฐียรพงษ์เขียนเล่าไว้ในข้อเขียนของท่านซึ่งพิมพ์ในนิตยสารอะไรฉบับหนึ่งผมนึกไม่ออก อาจจะเป็น “พุทธจักร” ของมหาจุฬาฯ หรืออะไรนี่แหละ ข้อเขียนนั้นอาจจะรวมอยู่ในหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งของท่านก็ได้ ท่านที่สนใจถ้าจะช่วยกันสืบค้นก็จะเป็นการดีอย่างยิ่ง อาจารย์เสฐียรพงษ์เขียนเล่าว่า การที่อาจารย์สุลักษณ์สนับสนุนให้ท่านไปเรียนต่อที่อังกฤษนั้น ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์พูดเปรยๆ ว่า “สุลักษณ์เขาจะไล่ควายเข้าไห”
………………..
ตรงนี้ขออนุญาตแวะข้างทางนิดหนึ่ง
สำนวน “ไล่ควายเข้าไห” เท่าที่ผมได้ยินมา เกิดมาแต่เรื่องเล่าว่า ครอบครัวเกษตรกรมีอันจะกินพอสมควรครอบครัวหนึ่ง พ่อติดการพนัน มีนามีสวนก็ขายไปเล่นการพนันเสียมาก ลูกชายคนหนึ่งไม่รู้จะเตือนพ่อตรงๆ ได้อย่างไร ก็คิดอุบาย เอาไหมาตั้งที่ลานหน้าบ้าน เช้าวันนั้นพอพ่อตื่นนอนมานั่งที่นอกชาน ลูกชายก็จูงควายตัวหนึ่งมาไล่ให้เดินวนรอบไห
พ่อเห็นดังนั้นก็ถามว่า นั่นจะทำอะไร
ลูกตอบว่า จะไล่ควายเข้าไห
พ่อพูดว่า ปากไหเล็กนิดเดียว ควายตัวเบ้อเร่อเท้อ มันจะเข้าไปได้อย่างไร
ลูกชายตอบว่า มันต้องเข้าได้สิพ่อ ก็ทีรูโปเล็กนิดเดียว ไร่นาตั้งหลายขนัดยังเข้าไปได้
พ่อได้สติ เลิกเล่นการพนันตั้งแต่วันนั้น
………………..
“ไล่ควายเข้าไห” มีความหมายว่า ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง อาจจะเป็นเพราะยังไม่เคยมีพระไทยไปเรียนที่อังกฤษ-โดยเฉพาะที่ Cambridge University ด้วยแล้ว มองไม่เห็นทาง การที่อาจารย์สุลักษณ์ผลักดันให้อาจารย์เสฐียรพงษ์ไปเรียนที่อังกฤษ พระธรรมเจดีย์ท่านจึงมองว่าเหมือน “ไล่ควายเข้าไห”
แต่อาจารย์สุลักษณ์ก็ “ไล่ควายเข้าไห” จนสำเร็จ อาจารย์เสฐียรพงษ์ไปเรียนที่อังกฤษและเรียนจบ ดูเหมือนจะได้ “เกียรตินิยม” ด้วย
ตอนที่ไปเรียนที่ Cambridge นั้น อาจารย์เสฐียรพงษ์ท่านยังเป็นพระอยู่ ท่านพักในหอพักของมหาวิทยาลัย หลายๆ เรื่องท่านต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของมหาวิทยาลัยและของหอพัก แต่มีอยู่ ๒ เรื่อง (เท่าที่จำได้จากข้อเขียนของท่าน) ที่ท่านยื่นเงื่อนไขเอากับทางมหาวิทยาลัย นั่นคือ
๑ ท่านเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ไม่สามารถฉันอาหารหลังเที่ยงวันไปแล้ว มหาวิทยาลัยต้องอนุญาตให้ท่านฉันอาหารกลางวันในระหว่างเวลา ๑๑๐๐ ถึง ๑๒๐๐
๒ อาหารที่ท่านฉันจะต้องมีผู้หยิบยกส่งให้ถึงมือทุกครั้ง
ปรากฏว่าทางมหาวิทยาลัยยอมตามเงื่อนไขที่ท่านร้องขอ
ทั้ง ๒ เรื่องนี้คืออะไร?
ก็คือพระวินัยหรือระบบวิถีชีวิตสงฆ์นั่นเอง
อาจารย์เสฐียรพงษ์ท่านเป็นพระ แม้ไปอยู่ต่างประเทศ อยู่ในสังคมที่เขาไม่รู้จักพระ แต่ท่านก็ยังรักษาวิถีชีวิตสงฆ์ไว้ได้อย่างเคร่งครัด
ผมเชื่อว่านี่เป็นเรื่องที่น้อยคนที่จะรู้ นอกจากคนที่ท่านเล่าเรื่องนี้ให้ฟังหรือที่ได้อ่านที่ท่านเขียนเล่าไว้ในข้อเขียนของท่าน
ใครก็ตามที่ยกย่องชื่นชมอาจารย์เสฐียรพงษ์ สมควรรับรู้เรื่องนี้ไว้เป็นอลังการประดับวิถีชีวิตของท่าน เป็นกำลังใจและเป็นเครื่องเตือนสติ-โดยเฉพาะเตือนสติพระภิกษุสามเณรให้มีฉันทะอุตสาหะในการรักษาวิถีชีวิตสงฆ์
วิถีชีวิตสงฆ์เป็นที่ปรากฏตัวของพระศาสนา
รักษาวิถีชีวิตสงฆ์ไว้ได้ ก็เท่ากับรักษาพระศาสนาไว้ได้
เดี๋ยวนี้ พระไทย (บางรูป) รับของจากมือสตรีตรงๆ ส่งของให้กับมือสตรีตรงๆ เริ่มจะเห็นหนาตาขึ้น วิถีชีวิตสงฆ์ในเมืองไทยแท้ๆ กำลังจะผันแปร
คงมีคำอธิบายแข็งแรง ทำได้ ไม่ผิด ตามหลักนั่นนี่โน่น แล้วแต่จะยกมาอ้าง
แทนที่เราจะช่วยกันหาวิธีสนับสนุนให้พระเณรปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้ครบถ้วน-แม้ว่าสังคมจะเปลี่ยนไป-โดยอาศัยกลไกไฮเทคในสังคมที่เปลี่ยนไปนั่นเองนำมาใช้สนับสนุน
เรากลับใช้วิธีละเลย ละเมิด แล้วพยายามหาเหตุผลมาอธิบายว่า ทำได้ ไม่ผิด ไม่เสียหาย ไม่เป็นไร สังคมเปลี่ยนไป พระต้องปรับตัว
ถ้าการณ์ยังเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ วิถีชีวิตสงฆ์ก็จะวิปริตไปเรื่อยๆ นั่นหมายถึงพระศาสนาก็จะวิปลาสไปเรื่อยๆ แล้วในที่สุดก็จะไม่เหลืออะไรที่เป็นตัวแท้ของพระศาสนา
จุดเล็กๆ นิดเดียวในรอยทางที่อาจารย์เสฐียรพงษ์ดำเนินมา ผมมองว่าเป็นข้อเตือนใจที่มีค่ายิ่งใหญ่-ถ้ามองเห็นและรู้จักคิด
ใครรักเคารพนับถืออาจารย์เสฐียรพงษ์ ลองเอาเรื่องเล็กๆ นี้ไปตรึกตรองดูเถิด
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๘ เมษายน ๒๕๖๕
๑๖:๐๖
……………………………………….
เรื่องของอาจารย์เสฐียรพงษ์ที่ผมรู้
……………………………………….