ภุมเทวดา (บาลีวันละคำ 4,238)
ภุมเทวดา
เทวดาพวกไหน
อ่านว่า พุม-มะ-เท-วะ-ดา
ประกอบด้วยคำว่า ภุม + เทวดา
(๑) “ภุม”
บาลีเป็น “ภุมฺม” อ่านว่า พุม-มะ รากศัพท์มาจาก ภูมิ + ณฺย ปัจจัย
(ก) “ภูมิ” บาลีอ่านว่า พู-มิ รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + มิ ปัจจัย
: ภู + มิ = ภูมิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สถานที่มีอยู่เป็นอยู่แห่งสัตว์โลก” มีความหมายหลายอย่าง กล่าวคือ พื้นดิน, ดิน, แผ่นดิน, สถานที่, ถิ่น, แคว้น, แถบ, ภูมิภาค, พื้น, พื้นราบ, ขั้นตอน, ระดับ (ground, soil, earth, place, quarter, district, region, plane, stage, level)
(ข) ภูมิ + ณฺย ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อิ ที่ (ภู)-มิ และลบ ณ (ภูมิ + ณฺย = ภูมิณฺย > ภูมณฺย = ภูมฺย), แปลง ภูมฺย เป็น ภุมฺม
: ภูมิ + ณฺย = ภูมิณฺย > ภูมณฺย > ภูมฺย > ภุมฺม แปลตามศัพท์ว่า “อันตั้งอยู่บนภาคพื้น”
“ภุมฺม” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เป็นนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ดิน, พื้นดิน, พื้น (soil, ground, floor)
(2) เป็นคุณศัพท์ หมายถึง เป็นของโลก, แห่งโลก, เกี่ยวกับแผ่นดิน (belonging to the earth, earthly, terrestrial)
บาลี “ภุมฺม” สันสกฤตเป็น “เภาม”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“เภาม : (คำวิเศษณ์) แห่งพสุธา; อันเกิดในพสุธา; earthly, terrestrial; produced in the earth; – (คำนาม) ดาวอังคาร; นรก; อัมพรร; นามของนางสีดา; the planet Mars; hell; ambergris; a name of Sitā.”
บาลี “ภุมฺม” ในภาษาไทยใช้เป็น “ภุม-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภุม– ๒ : (คำนาม) พื้นดิน, ภาคพื้น. (ป. ภุมฺม).”
(๒) “เทวดา”
บาลีเป็น “เทวตา” (ไทย –ดา ด เด็ก, บาลี –ตา ต เต่า) อ่านว่า เท-วะ-ตา รากศัพท์มาจาก เทว + ตา ปัจจัย
(ก) “เทว” อ่านว่า เท-วะ รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + อ (อะ) ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว)
: ทิวฺ + อ = ทิว > เทว แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ”
ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา
แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังหมายถึงอีกหลายอย่าง คือ พระยม, ความตาย, สมมติเทพ, พระราชา, ท้องฟ้า, ฝน, เมฆฝน, วรุณเทพ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ –
(1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ)
(2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ)
(3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน)
(ข) เทว + ตา ปัจจัย
: เทว + ตา = เทวตา แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นเทวดา” (condition or state of a deva) หมายถึง เทพเจ้า; เทพยดา, พระเจ้า, นางฟ้า (divinity; divine being, deity, fairy)
“เทวตา” ในบาลี ก็คือที่เรารู้จักกันในภาษาไทยว่า “เทวดา” นั่นเอง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เทวดา : (คำนาม) ชาวสวรรค์มีกายทิพย์ ตาทิพย์ หูทิพย์ และกินอาหารทิพย์ เป็นโอปปาติกะ. (ป., ส. เทวตา).”
ภุมฺม + เทวตา = ภุมฺมเทวตา (พุม-มะ-เท-วะ-ตา) แปลตามศัพท์ว่า “เทวดาผู้สถิตอยู่ที่ภาคพื้น”
บาลี “ภุมฺมเทวตา” ในภาษาไทยใช้เป็น “ภุมเทวดา” (พุม-มะ-เท-วะ-ดา)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภุมเทวดา : (คำนาม) เทวดาพวกหนึ่งที่สิงสถิตอยู่บนพื้นดิน. (ป. ภุมฺม + เทวตา).”
ขยายความ :
ที่ว่า “ภุมเทวดา” คือ เทวดาผู้สถิตอยู่ที่ภาคพื้น หรือที่พจนานุกรมฯ ว่า “เทวดาพวกหนึ่งที่สิงสถิตอยู่บนพื้นดิน” นั้น ถามว่า สิงสถิตอยู่ตรงไหนหรือส่วนไหนบนพื้นดิน หมายถึงอยู่กับพื้นดิน อย่างคำที่ว่านอนกลางดิน เช่นนั้นหรือ?
คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 7 หน้า 92 (อตฺตโนปุพฺพกมฺมวตฺถุ) มีคำบรรยายถึงสถานที่อยู่อาศัยของพวกนาค มนุษย์ และเทวดา บอกไว้ดังนี้ –
…………..
เหฏฺฐา นาคา
พวกนาค อยู่ภายใต้แผ่นดิน
ภูมิตเล มนุสฺสา
พวกมนุษย์ อยู่บนพื้นดิน
รุกฺขคจฺฉปพฺพตาทีสุ ภุมฺมฏฺฐกเทวตา
พวกภุมเทวดา อยู่ที่ต้นไม้ กอไม้ และภูเขาเป็นต้น
อนฺตลิกฺเข อากาสฏฺฐกเทวตา
พวกอากาศเทวดา อยู่ในฟากฟ้า
…………..
ถ้าถือตามนี้ “ภุมเทวดา” ก็เป็นพวกที่สิงสถิตอยู่ตามสิ่งที่เกิดขึ้นบนพื้นดินตามธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ กอไม้ และภูเขา แต่ไม่ใช่นั่งนอนอยู่บนผิวพื้นดิน
พวกที่นั่งนอนอยู่บนผิวพื้นดิน (ภูมิตเล) คือพวกมนุษย์ มนุษย์นั้นไม่ว่าจะไปอยู่ในอากาศหรืออวกาศ ลงไปอยู่ในน้ำหรือใต้ดิน ก็อยู่ได้ชั่วคราว ในที่สุดแล้วก็ต้องมาอยู่บนผิวพื้นดิน คือต้องลงดินเสมอ
ตามคำอธิบายในคัมภีร์ เทพที่เราเรียกว่า “รุกขเทวดา” (เทวดาที่สิงสถิตอยู่บนต้นไม้) ก็คือ “ภุมเทวดา” พวกหนึ่งนั่นเอง
เทพพวกที่ต่างจาก “ภุมเทวดา” ก็คือพวกที่สิงสถิตอยู่ในอากาศ และตั้งแต่เทพชั้นจาตุมหาราชขึ้นไป
แถม :
“ภุมเทวดา” ที่ชาวพุทธน่าจะคุ้นหูกันทั่วไป ก็คือที่กล่าวถึงในตอนท้ายของธัมมจักกัปปวัตนสูตร ดังข้อความที่ว่า –
…………..
ปวตฺติเต จ ภควตา ธมฺมจกฺเก ภุมฺมา เทวา สทฺทมนุสฺสาเวสุํ
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมจักรแล้ว พวกภุมเทวดาได้ร้องประกาศว่า –
เอตมฺภควตา พาราณสิยํ อิสิปตเน มิคทาเย อนุตฺตรํ ธมฺมจกฺกํ ปวตฺติตํ อปฺปฏิวตฺติยํ สมเณน วา พฺราหฺมเณน วา เทเวน วา มาเรน วา พฺรหฺมุนา วา เกนจิ วา โลกสฺมินฺติ ฯ
นั่นธรรมจักรอันยอดเยี่ยมอันพระผู้มีพระภาคทรงประกาศแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันใกล้พระนครพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกคัดค้านไม่ได้
ภุมฺมานํ เทวานํ สทฺทํ สุตฺวา จาตุมฺมหาราชิกา เทวา สทฺทมนุสฺสาเวสุํ ฯ
พวกเทพชั้นจาตุมหาราชได้ฟังเสียงของพวกภุมเทวดา ก็ได้ร้องประกาศว่า …
…………..
ดูก่อนภราดา!
: มนุษย์ที่บรรลุธรรม
: ประเสริฐเลิศล้ำกว่าเทวดาธรรมดา
#บาลีวันละคำ (4,238)
19-1-67
…………………………….
…………………………….