บาลีวันละคำ

ราชทินนาม (บาลีวันละคำ 382)

ราชทินนาม

(บาลีไทย)

อ่านว่า ราด-ชะ-ทิน-นะ-นาม

ประกอบด้วยคำว่า ราช + ทิน + นาม

ราช” แปลว่า พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน

ทิน” บาลีเป็น “ทินฺน” (ทิน-นะ, หนู สองตัว) แปลว่า “(สิ่งที่ถูก) ให้” ตรงกับคำที่เราพูดกันว่า “เขาให้มา

นาม” บาลีอ่านว่า นา-มะ แปลว่า ชื่อ

ราชทินนาม” แปลตามศัพท์ว่า “ชื่อที่พระราชาให้

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกความหมายไว้ว่า “ชื่อบรรดาศักดิ์หรือสมณศักดิ์ชั้นสัญญาบัตรที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทาน

ราชทินนาม” เกี่ยวเนื่องด้วยฐานันดรศักดิ์ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งให้ข้าราชการหรือบุคคลทั่วไปเป็นเจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น พัน และทนาย โดยทรงตั้งชื่อให้ใหม่ เรียกว่า “ราชทินนาม

ราชทินนามมักสอดคล้องกับงานหรือหน้าที่ของผู้นั้น เช่น –

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” ราชทินนามของนายปรีดี พนมยงค์ (“มนูธรรม” หมายถึงรัฐธรรมนูญ ท่านผู้นี้เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก)

พระยาอนุมานราชธน” ราชทินนามของนายยง เสฐียรโกเศศ (“ราชธน” หมายถึงรายได้ของหลวง ท่านผู้นี้รับราชการที่กรมศุลกากร)

ราชทินนาม” ยังเกี่ยวด้วยสมณศักดิ์ คือพระภิกษุที่ได้รับแต่งตั้งและสถาปนาให้เป็นพระราชาคณะตั้งแต่ชั้นสามัญขึ้นไป (ที่ภาษาปากเรียกกันว่า “ท่านเจ้าคุณ”) จนถึงชั้นสมเด็จพระราชาคณะ จะมีราชทินนามต่างๆ เช่น พระโสภณคณาภรณ์ พระธรรมโกศาจารย์

ราชทินนามเป็นกลุ่มคำ จึงต้องเขียนติดกันเป็นคำเดียว

ข้อบกพร่องที่พบเสมอในสื่อสิ่งพิมพ์สมัยนี้ก็คือ เขียนราชทินนามแยกเป็น ๒ คำ เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นชื่อกับนามสกุล เช่น –

หลวงประดิษฐ์  มนูธรรม เข้าใจผิดว่าชื่อ ประดิษฐ์ นามสกุล มนูธรรม

พระยาอนุมาน  ราชธน เข้าใจผิดว่าชื่อ อนุมาน นามสกุล ราชธน

พระโสภณ  คณาภรณ์ เข้าใจผิดว่าชื่อ พระโสภณ นามสกุล คณาภรณ์

ราชทินนาม เป็นความงามของภาษา

ช่วยกันคงคุณค่า : เขียนให้ถูกต้อง อ่านให้คล่องแคล่ว

บาลีวันละคำ (382)

31-5-56

ราชทินนาม

 [ราดชะทินนะนาม] น. ชื่อบรรดาศักดิ์หรือสมณศักดิ์ชั้นสัญญาบัตรที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทาน.

บรรดาศักดิ์

 [บันดา-] น. ฐานันดรศักดิ์ที่พระราชทานแก่ข้าราชการหรือบุคคลทั่วไป แบ่งออกเป็น เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น พัน และทนาย โดยมีราชทินนามต่อท้าย เช่น เจ้าพระยายมราช พระยาพลเทพ.

สมณศักดิ์

น. ยศพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานมีหลายชั้น แต่ละชั้นมีพัดยศเป็นเครื่องกําหนด.

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย