บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

โง่หรือฉลาด

โง่หรือฉลาด

————-

ดูก่อนภราดา!

: คนหนึ่ง ใช้พระนิพพานเป็นปัจจัยแสวงหาทรัพย์

: คนหนึ่ง ใช้ทรัพย์เป็นปัจจัยแสวงหาพระนิพพาน

สองคนนี้ ท่านว่าใครโง่ใครฉลาด

คำตอบไม่มีถูก ไม่มีผิด

มีแต่โง่หรือฉลาดเท่านั้น

และคำตอบนั่นเองก็จะบอกให้รู้ด้วยว่า คนตอบตอบด้วยความโง่หรือตอบด้วยความฉลาด

แน่นอน จะต้องมีคนล้วงลึกลงไปอีกว่า-แล้วเอาอะไรเป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่าโง่หรือฉลาด?

บางคนอาจยืนยันว่า ที่ตนคิดแบบนั้นเป็นความฉลาด

ในขณะที่บางคนแย้งยืนยันว่า ความคิดแบบนั้นคือโง่

ในที่สุดก็จะเห็นได้ว่า การเรียนรู้ว่าอย่างไรคือโง่อย่างไรคือฉลาด และมีเกณฑ์ที่ถูกต้องในการตัดสิน เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิต

ถ้าไม่รู้ หรือใช้เกณฑ์ที่ไม่ถูกต้องในการตัดสิน เราก็จะไปหลงทำเรื่องโง่ๆ โดยเข้าใจว่านั่นเป็นเรื่องฉลาด และปล่อยปละละเลยเรื่องฉลาดๆ เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรื่องโง่ๆ

แค่ปัญหาเดียว-อะไรคือสาระของชีวิต?

จะตอบกันว่าอย่างไร

ทุกคนมีชีวิต

แต่ใช่ว่าทุกคนจะรู้คำตอบที่ถูกต้อง-อะไรคือสาระของชีวิต?

เพราะไม่รู้คำตอบที่ถูกต้อง

จึงมีคนที่ใช้ชีวิตไปทำสิ่งที่ไร้สาระโดยเข้าใจว่านั่นคือสาระของชีวิต

และมีคนที่ละเลยมองข้ามสิ่งที่เป็นสาระเพราะเข้าใจว่านั่นไม่ใช่สาระ

คนส่วนมากเกิดมาแล้วก็ตายไป โดยที่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าอะไรคือสาระของชีวิต

และที่หลงลึกไปกว่านั้นคือคิดว่า-จะต้องรู้ไปทำไมว่าอะไรคือสาระของชีวิต

ท่านก็จะเป็นคนหนึ่งกระนั้นหรือ?

……………………………………………

อสาเร สารมติโน 

สาเร จาสารททสฺสิโน 

เต สารํ นาธิคจฺฉนฺติ 

มิจฺฉาสงฺกปฺปโคจรา ฯ 

ผู้ใดเห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ว่าเป็นสาระ 

เห็นสิ่งที่เป็นสาระ ว่าไร้สาระ 

ผู้นั้นมีความคิดผิดเสียแล้ว 

ย่อมไม่ประสบสิ่งที่เป็นสาระ 

In the unessential they imagine the essential, 

In the essential they see the unessential; 

They who feed on wrong thoughts as such 

Never achieve the essential. 

สารญฺจ สารโต ญตฺวา 

อสารญฺจ อสารโต 

เต สารํ อธิคจฺฉนฺติ 

สมฺมาสงฺกปฺปโคจรา ฯ

ผู้ที่เข้าใจสิ่งที่เป็นสาระ ว่าเป็นสาระ

และสิ่งที่ไร้สาระว่าไร้สาระ 

มีความคิดเห็นชอบ 

ย่อมประสบสิ่งที่เป็นสาระ 

Knowing the essential as the essential, 

And the unessential as the unessential, 

They who feed on right thoughts as such 

Achieve the essential.

ที่มา: ยมกวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๑

คำแปลภาษาไทยและภาษาอังกฤษ:

หนังสือ “พุทธวจนะในธรรมบท” โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

……………………………………………

ใครเห็นว่าอะไรเป็นสาระ อะไรไม่ใช่สาระ

ใครเห็นว่าอะไรควรทำก่อน อะไรยังไม่จำเป็นต้องทำ 

ย่อมเป็นสิทธิอันสมบูรณ์และชอบธรรมของแต่ละคน 

บุญ-คือความดี-เป็นของเฉพาะตัว ทำแทนกันไม่ได้ 

วัยเยาว์วัยรุ่น ต้องเล่าเรียนวิชา

วัยหนุ่มวัยสาว ต้องทำงานตั้งตัว 

วัยแก่วัยเฒ่าจึงค่อยแสวงบุญ 

อะไรควรทำก่อน อะไรยังไม่ต้องทำ-ใครจะถือหลักอย่างนี้ก็ได้ ก็ดีเหมือนกัน 

แต่พึงเข้าใจว่า ไม่มีข้อห้ามเลยว่าวัยเยาว์วัยสาวหนุ่มแสวงบุญไม่ได้ 

และที่สำคัญที่สุด แน่ใจหรือว่าชีวิตของเราจะได้อยู่ไปจนถึงวัยแก่วัยเฒ่า 

และแม้จะอยู่ไปจนถึงวัยแก่วัยเฒ่าได้ แน่ใจหรือว่าเราจะยังมีกำลังเรี่ยวแรงพอที่จะแสวงบุญได้ด้วยตัวเอง 

ไม่ต้องว่าถึงแสวงบุญได้ด้วยตัวเอง

เอาแค่ตักข้าวใส่ปากได้ด้วยตัวเอง แน่ใจหรือว่าถึงตอนนั้นเรายังจะทำได้อยู่?

………………

ผมแค่ทำหน้าที่ชวนท่านคิด

ท่านจะคิดไม่คิด เป็นสิทธิ์ของท่าน

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๗ เมษายน ๒๕๖๕

๑๑:๓๓

………………………………………………

โง่หรือฉลาด

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *