วิสามานยนาม (บาลีวันละคำ 3,586)
วิสามานยนาม
วิสามานยนาม
คือคำบางคำที่ไม่ธรรมดา
เหมือนคนบางคนก็ไม่ธรรมดา
อ่านว่า วิ-สา-มาน-ยะ-นาม
ประกอบด้วยคำว่า วิสามานย + นาม
(๑) “วิสามานย”
เป็นรูปคำสันสกฤต เทียบกับบาลีเป็น “วิสามัญ” ประกอบด้วย วิ + สามัญ
(ก) “วิ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่างๆ กัน
(ข) “สามัญ” บาลีเป็น “สามญฺญ” อ่านว่า สา-มัน-ยะ รากศัพท์มาจาก –
(1) สมาน (สะ-มา-นะ, เสมอกัน, เหมือนกัน, เหมาะสมกัน) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ยืดเสียง ส– (ที่ สมาน) เป็น สา– ด้วยอำนาจ ณฺย ปัจจัย, แปลง อาน (ที่ –มาน) กับ ย เป็น ญฺญ
: สมาน + ณฺย = สมานณฺย > สมานฺย > สามานฺย > สามญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เสมอกัน” หมายถึง (1) เหมือนกัน, เสมอกัน, เท่ากัน, อย่างเดียวกัน (similar, equal, even, same) (2) สามัญ, ความเสมอกัน, การอนุวัตตาม; ความเป็นหนึ่ง, วงสมาคม (generality; equality, conformity; unity, company)
(2) สมณ (สะ-มะ-นะ, นักบวช, นักพรต) + ณฺย ปัจจัย (กฎการแปลงทำนองเดียวกับ สมาน + ณฺย)
: สมณ + ณฺย = สมณณฺย > สมณฺย > สามณฺย > สามญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นสมณะ” คือ ภาวะแห่งนักบวช, ชีวิตของนักพรต (true Samaṇaship, the life of the recluse)
“สามญฺญ” ในภาษาไทยใช้ว่า “สามัญ” (สา-มัน) มักใช้ตามความหมายในข้อ (1) ข้างต้นเป็นส่วนมาก
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) สามัญ– ๑ : (คำนาม) ความเป็นสมณะ เช่น สามัญผล. (ป. สามญฺญ; ส. ศฺรามณฺย).
(2) สามัญ ๒ : (คำวิเศษณ์) ปรกติ, ธรรมดา, เช่น ชนชั้นสามัญ คนสามัญ. (ป. สามญฺญ; ส. สามานฺย).
“สามัญ” เขียนตามสันสกฤตเป็น “สามานย์” (สา-มาน)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) สามานฺย : (คุณศัพท์) ‘สามานยะ’ สาธารณะ; common.
(2) สามานฺย : (คำนาม) ‘สามานยะ’ เภท, ประเภท; ชาติธรรม, วิเศษลักษณะ; สามานยทรัพย์; โลกกฤตย์; ชนการย์หรือคณกรรมน์; สากลย์; รูปอลังการศาสตร์; สตรีที่เปนสาธารณะแก่ชายทั้งหลาย, หญิงแพศยา; kind, sort; specific property, generic character, or foremost quality; common property; public affairs or business; totality, the whole; a figure of rhetoric; a female who is common to all men, a harlot.
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) สามานย์ : (คำวิเศษณ์) เลวทรามตํ่าช้า เช่น ลูกสามานย์ทำร้ายพ่อแม่, มักใช้เข้าคู่กับคำ ชั่วช้า เป็น ชั่วช้าสามานย์. (ส. สามานฺย).
(2) สามานย– : (คำวิเศษณ์) ปรกติ, ธรรมดา, เช่น สามานยนาม. (ส. สามานฺย; ป. สามญฺญ).
ความหมายโดยสรุปตามที่มักเข้าใจกันในภาษาไทย :
– สามัญ = ปรกติ, ธรรมดา
– สามานย์ = ชั่วช้า, เลวทราม
ในที่นี้ “สามานย-” ใช้ในความหมายว่า ปรกติ, ธรรมดา
ประสมศัพท์ตามรูปบาลี วิ + สามัญ = วิสามัญ แปลตามศัพท์ว่า “แปลกจากธรรมดา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิสามัญ : (คำวิเศษณ์) ไม่ใช่ธรรมดา, ไม่ใช่สามัญ, เช่น ข้าราชการวิสามัญ สมาชิกวิสามัญ ประชุมสมัยวิสามัญ, พิเศษเฉพาะเรื่อง เช่น คณะกรรมาธิการวิสามัญ.”
“วิสามัญ” เขียนตามรูปสันสกฤตเป็น “วิสามานย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “วิสามานย” คำเดี่ยวๆ ไว้ เก็บแต่ที่ไปสมาสกับคำว่า “นาม” เป็น “วิสามานยนาม”
(๒) “นาม”
บาลีอ่านว่า นา-มะ รากศัพท์มาจาก นมฺ (ธาตุ = น้อม) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ น-(มฺ) เป็น อา (นมฺ > นาม)
: นมฺ + ณ = นมณ > นม > นาม (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “คำเป็นที่น้อมวัตถุเข้ามา” “คำที่น้อมไปหาวัตถุ” “คำที่ชาวโลกใช้เป็นเครื่องน้อมไปสู่ความหมายนั้นๆ” หมายถึง นาม, ชื่อ (name)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นาม, นาม– : (คำนาม) ชื่อ, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระนาม; คําชนิดหนึ่งในไวยากรณ์ สําหรับเรียกคน สัตว์ และสิ่งของต่าง ๆ; สิ่งที่ไม่ใช่รูป คือ จิตใจ, คู่กับ รูป. (ป.).”
วิสามานย + นาม = วิสามานยนาม (วิ-สา-มาน-ยะ-นาม)
“วิสามานยนาม” แปลงเป็นบาลีจะได้รูปเป็น “วิสามัญนาม” (วิ-สา-มัน-ยะ-นาม) แต่เราไม่ใช้รูปคำบาลี
รูปคำบาลี “วิสามัญ-” ที่มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้คำเดียวคือ “วิสามัญฆาตกรรม” บอกคำอ่านว่า วิ-สา-มัน-คาด-ตะ-กํา ไม่ใช่ วิ-สา-มัน-ยะ-คาด-ตะ-กํา (ไม่มี -ยะ- กลางคำ) ส่วน “วิสามานยนาม” บอกคำอ่านว่า วิ-สา-มาน-ยะ-นาม (มี -ยะ- กลางคำ) ไม่ใช่ วิ-สา-มาน-นาม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิสามานยนาม : (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) (คำนาม) คํานามที่เป็นชื่อเฉพาะ ตั้งขึ้นสําหรับเรียกคน สัตว์ สิ่งของ และสถานที่ เพื่อให้รู้ชัดว่าเป็นใครหรืออะไร เช่น นายดํา ช้างเอราวัณ เรือสุพรรณหงส์ จังหวัดเชียงใหม่.”
หมายเหตุ: ในพจนานุกรมฯ มีขีดเส้นใต้ที่คำว่า ดํา เอราวัณ สุพรรณหงส์ เชียงใหม่ แต่เมื่อโพสต์ทางเฟซบุ๊ก ระบบของเฟซบุ๊ก (อย่างน้อยก็ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้อยู่) ตัดเส้นใต้คำออก ทำให้เห็นคำเน้นที่เป็นวิสามานยนามเท่ากับคำธรรมดาทั่วไป
บอกข่าวขยายความ :
“วิสามานยนาม” คำอังกฤษว่า proper name ลักษณะพิเศษของคำชนิดนี้ก็คือ จะเขียนอย่างไร (สะกดคำอย่างไร) อ่านอย่างไร และมีความหมายอย่างไร ย่อมเป็นไปตามเจตนาของเจ้าของชื่อหรือผู้ตั้งชื่อนั้นๆ จะใช้หลักภาษาปกติเข้าไปจับว่าผิดหรือถูกหาได้ไม่
คำว่า “เสฐียรพงษ์” เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของคำที่เป็น “วิสามานยนาม”
คำที่ออกเสียงว่า สะ-เถียน ซึ่งหมายถึง มั่นคง, แข็งแรง, คงตัว พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 สะกดเป็น “เสถียร” (ถ ถุง) ไม่มีคำที่สะกดเป็น “เสฐียร” (ฐ ฐาน)
คำที่หมายถึง เชื้อสาย, เทือกเถา, เหล่ากอ, สกุล พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 สะกดเป็น “พงศ์” (ศ ศาลา การันต์) ไม่มีคำที่สะกดเป็น “พงษ์” (ษ ฤๅษี การันต์)
ชื่อ “เสฐียรพงษ์” จึงเป็นคำที่เขียนผิดไปจากพจนานุกรมฯ แต่เพราะชื่อนี้เป็น “วิสามานยนาม” จึงอยู่ในเกณฑ์ยกเว้น จะว่าเขียนผิดหาได้ไม่
การที่ “วิสามานยนาม” สะกดแตกต่างไปจากคำทั่วไป โดยเฉพาะคำที่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ มีสาเหตุมาจาก 2 ทางใหญ่ๆ คือ
(๑) เป็นการเขียนตามความนิยมในยุคสมัยหนึ่งที่ยังไม่มีพจนานุกรมเป็นมาตรฐานกลางอย่างในปัจจุบัน หรืออาจจะมีพจนานุกรม แต่ยังไม่เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป และคำที่สะกดต่างจากพจนานุกรมเช่นนั้นยังปรากฏต่อเนื่องมาให้เราได้เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
(๒) เป็นเจตนาของผู้ตั้งชื่อที่ต้องการใช้อักษรตัวนั้นหรือสระตัวนั้นด้วยเหตุผลบางประการ เช่นความเชื่อทางโหราศาสตร์เป็นต้น ดังที่เรามักเห็นชื่อคนสมัยนี้ที่สะกดแปลกๆ อ่านก็ยาก ไม่รู้ว่าจะออกเสียงอย่างไรถูก และแปลก็ยาก ไม่รู้ว่ามีความหมายว่าอย่างไรกันแน่
…………..
อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก เกิดเมื่อ พ.ศ.2482 ภูมิลำเนาเดิมเป็นชาวจังหวัดมหาสารคาม มาอยู่กรุงเทพฯ เป็นสามเณรสำนักวัดทองนพคุณ สอบเปรียญธรรม 9 ประโยคได้เมื่อ พ.ศ.2503 ขณะเป็นสามเณร นับเป็นสามเณรรูปแรกที่สอบเปรียญธรรม 9 ประโยคได้ในสมัยรัชกาลที่ 9 และเป็นสามเณรรูปแรกที่สอบเปรียญธรรม 9 ประโยคได้นับตั้งแต่เริ่มใช้วิธีสอบแบบข้อเขียนตั้งแต่ พ.ศ.2469 เป็นต้นมา แทนการสอบปากเปล่าดังแต่ก่อน
อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาอักษรศาสตร์ และปริญญาโท สาขาภาษาตะวันออกโบราณ (บาลี-สันสกฤต) จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ (Trinity College, Cambridge University)
อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก เป็นศาสตราจารย์พิเศษ เป็นราชบัณฑิตสาขาศาสนศาสตร์ เป็นนักคิดนักเขียน มีผลงานที่พิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่ประมาณ 200 เล่ม
อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2565 อายุ 83 ปี
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าไม่ช่วยกันปลูกไม้ต้นใหม่ๆ
: เราจะไม่เหลือต้นไม้ไว้เป็นร่มเงา
#บาลีวันละคำ (3,586)
7-4-65
……………………………………….
……………………………………….