อาหารกับภาชนะใส่อาหาร
อาหารกับภาชนะใส่อาหาร
—————————-
ต้องแยกกันให้ชัด
เมื่อพูดถึงพระไตรปิฎกหรือคัมภีร์ มีคำที่ควรใคร่ครวญอยู่ ๒ คำ คือ ตัวคำสอนกับตัวคัมภีร์
ตัวคำสอน คือหลักคำสอนที่มีผู้ได้ยินได้ฟังมา จำได้ รู้เข้าใจ และปฏิบัติตาม โดยไม่ต้องคำนึงถึงลายลักษณ์อักษรที่บันทึกคำสอนนั้น
ตัวคัมภีร์ คือวัตถุที่ใช้บันทึกคำสอนเป็นลายลักษณ์อักษร ชี้ไปที่ของเก่าก็เช่นใบลานที่จารหลักคำสอน ชี้ไปที่สิ่งที่เห็นได้ง่ายในปัจจุบันก็เช่นหนังสือเป็นเล่มๆ ที่เรียกกันว่า “พระไตรปิฎก” หรือชี้ไปที่สิ่งทันสมัยใหม่ล่าสุดก็เช่นโปรแกรมที่บรรจุข้อความจากพระไตรปิฎกบันทึกไว้ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งสามารถอ่านได้จากเครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์หลากหลายรูปแบบ
หรือถ้าจะแยกเขตแดนกันให้ชัดๆ –
ตัวคำสอน คือหลักคำสอนที่บันทึกอยู่ในสมองมนุษย์ในลักษณะความจำได้หมายรู้ ความเข้าใจ แล้วแปรรูปออกมาเป็นพฤติกรรมคือการปฏิบัติ
ตัวคัมภีร์ คือหลักคำสอนที่บันทึกไว้นอกสมองมนุษย์ เวลาต้องการก็ต้องไปเปิดอ่านหรือฟังตามรูปแบบของเครื่องมือที่บันทึก
หรือเทียบให้เห็นชัดกับความจริงที่กำลังเกิดขึ้นในทุกวันนี้ ก็เทียบได้กับกิจที่เรียกกันว่า “สวดมนต์”
สวดจากความจำได้หมายรู้ คือตัวคำสอน
สวดด้วยวิธีกางหนังสืออ่าน คือตัวคัมภีร์
…………………
เวลานี้เริ่มจะมีการพูดถึงพระไตรปิฎกแบบที่ชวนให้เข้าใจว่า พระไตรปิฎกก็คือตัวคัมภีร์ แล้วก็กำลังจะให้ความสำคัญกับความเก่าความใหม่ของวัตถุที่ใช้บันทึกพระไตรปิฎก
เช่น พระไตรปิฎกที่จารบนใบลานสมัยสุโขทัยมีคุณค่าน่าเชื่อถือมากกว่าพระไตรปิฎกที่จารบนใบลานสมัยรัตนโกสินทร์
แทนที่จะคำนึงถึงพระไตรปิฎกที่เป็นตัวคำสอน
หลักการที่ถูกต้องก็คือ ต้องเจาะเข้าไปดูว่า ข้อความที่จารลงบนใบลานนั้นว่าด้วยเรื่องอะไร เช่น-เป็นพระสูตรไหน ตัวพระสูตรอันเป็นตัวคำสอนกล่าวเรื่องนั้นๆ ไว้อย่างไร ข้อความที่จารลงบนใบลานถูกต้องตรงตามหลักคำสอนหรือไม่
เวลานี้ยิ่งสะดวกมาก เพราะมีพระไตรปิฎกฉบับต่างๆ อยู่ทั่วโลก สามารถเอามาเทียบทานได้ทันที
เมื่อได้ข้อความที่ถูกต้องแล้วก็ถือเป็นแบบฉบับสำหรับศึกษาและปฏิบัติต่อไป
ใบลานสมัยสุโขทัยหรือใบลานสมัยสมัยรัตนโกสินทร์ ไม่จำเป็นต้องเอามาคำนึงเลย คำนึงอยู่เรื่องเดียวคือใบลานสมัยไหนบันทึกตัวคำสอนไว้ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง
แล้วก็ตัดสินเด็ดขาดกันที่-เราหรือใครก็ตามเข้าใจคำสอนนั้นถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เอาคำสอนนั้นไปปฏิบัติหรือเปล่า และปฏิบัติถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง
อายุของวัตถุที่ใช้บันทึกคำสอนไม่ใช่ตัวตัดสินชี้ขาดความถูกต้องของหลักคำสอน
จะศึกษาอายุของใบลานก็ศึกษาไป
จะศึกษาอักขรวิธีที่ใช้จารลงบนใบลานก็ศึกษาไป
จะศึกษาความงามของลายมือที่จดจารลงไว้ก็ศึกษาไป
จะศึกษาความงามของไม้ประกับคัมภีร์ที่แกะสลักอย่างวิจิตรบรรจงก็ศึกษาไป
จะศึกษาความงามของผ้าห่อคัมภีร์ว่ามีลวดลายอลังการแค่ไหนก็ศึกษาไป
หรือจะศึกษากรรมวิธีในการผลิตใบลาน อุปกรณ์ที่ใช้ในการจาร กรรมวิธีในการจาร ฯลฯ ก็ศึกษาไป
ความรู้ที่ได้จากการศึกษาเรื่องเหล่านี้มีคุณค่าควรแก่การเรียนรู้ทั้งสิ้น
แต่เมื่อจะศึกษาพระไตรปิฎก –
ต้องเล็งไปที่ตัวคำสอน
ต้องเล็งไปที่ความถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนของหลักคำสอน
ต้องเล็งไปที่การเอาคำสอนมาประพฤติปฏิบัติว่าถูกต้องหรือคลาดเคลื่อน
ถ้าไม่จับให้ถูกจุด การศึกษาพระไตรปิฎก-ไม่ว่าจะเพื่อปริญญาระดับไหนๆ ก็พลาดทั้งนั้น
อุปมาเหมือนอาหารกับภาชนะที่ใส่อาหาร
สิ่งที่เราต้องการคืออาหาร ไม่ใช่ภาชนะที่ใส่อาหาร
ภาชนะที่ใส่อาหารก็สำคัญ ไม่ใช่ไม่สำคัญ
ภาชนะที่ใส่อาหารก็จำเป็น ไม่ใช่ไม่จำเป็น
แต่ที่จำเป็นจริงๆ คือตัวอาหาร ไม่ใช่ตัวภาชนะ
ไม่ใช่เอาแต่ชื่นชมกับภาชนะที่ใส่อาหาร จนลืมกินอาหารในภาชนะ
แม้แต่การเรียนบาลีนั่นก็เถอะ —
ถ้าเรียนเพื่อให้ได้ศักดิ์และสิทธิ์จากการสอบได้ ไม่ได้เอาไปใช้เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎก-ก็ดี
เอาไปใช้เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎกก็จริง แต่ศึกษาเพื่อให้ได้ศักดิ์และสิทธิ์จากการสำเร็จการศึกษา ไม่ได้ตั้งใจจะเอาความรู้จากพระไตรปิฎกมาประพฤติปฏิบัติเพื่อพัฒนาชีวิตจิตใจของตัวเอง-ก็ดี
การเรียนบาลีแบบนี้ก็มีค่าเพียงแค่-ภาชนะใส่อาหารเท่านั้น
ต่อเมื่อใด –
๑ เรียนบาลีเพื่อเอาความรู้ไปศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก
๒ ได้ความรู้ที่ถูกต้องแล้วเอาความรู้นั้นมาประพฤติปฏิบัติขัดเกลาตัวเองจนได้บรรลุผลตามควรแก่การปฏิบัติ
๓ แล้วเอาความรู้ที่ถูกต้องนั้นไปแสดง ประกาศ เผยแผ่ให้แพร่หลายต่อๆ ไป
เมื่อนั้นแหละ จึงจะได้ชื่อว่าได้บริโภคอาหารในภาชนะนั้นแล้ว
มองให้ออกและแยกกันให้ชัด
ตัวคำสอนเหมือนอาหาร
ตัวคัมภีร์เหมือนภาชนะใส่อาหาร
จะกินอาหาร
หรือว่าจะกอดภาชนะใส่อาหารกันอยู่นั่นแล้ว
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๔ มีนาคม ๒๕๖๕
๑๕:๒๓
……………………………………
อาหารกับภาชนะใส่อาหาร
……………………………………