วิตก-วิตกจริต (บาลีวันละคำ 1,025)
วิตก–วิตกจริต
มีคำพูดว่า :
(1) เรื่องนี้ไม่หนักหนาอะไร อย่าวิตกไปเลย
(2) เรื่องนี้ไม่หนักหนาอะไร อย่าวิตกจริตไปเลย
“อย่าวิตก” กับ “อย่าวิตกจริต” คำไหนผิดคำไหนถูก ?
(๑) “วิตก”
บาลีเป็น “วิตกฺก” (วิ-ตัก-กะ) รากศัพท์มาจาก วิ (วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ตกฺกฺ (ธาตุ = ตรึก, นึก, คิด) + อ ปัจจัย
: วิ + ตกฺก + อ = วิตกฺก แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะที่ตรึกคิด คือยกสัมปยุตธรรมขึ้นสู่อารมณ์”
“วิตก” ในภาษาไทย มักเข้าใจกันในความหมายว่า เป็นทุกข์, ร้อนใจ, กังวล
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิตก, วิตก– : (คำกริยา) เป็นทุกข์, ร้อนใจ, กังวล, เช่น วิตกว่าจะเกิดสงคราม, มักใช้เข้าคู่กับคำกังวล เป็น วิตกกังวล เช่น อย่าวิตกกังวลไปนักเลยพรุ่งนี้สถานการณ์คงจะดีขึ้น. (คำนาม) ความตรึก, ความตริ, ความคิด. (ป. วิตกฺก; ส. วิตรฺก ว่า ลังเลใจ).”
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล “วิตก” ว่า to worry, to be anxious
“วิตก” ในภาษาบาลีเป็นคำนาม หมายถึง ความรำพึง, ความคิด, ความตรึกตรอง (reflection, thought, thinking)
โปรดสังเกตว่าฝรั่งไม่ได้แปล “วิตกฺก” ว่า to worry, to be anxious
(๒) “วิตกจริต”
บาลีอ่านว่า วิ-ตัก-กะ-จะ-ริ-ตะ ประกอบด้วย วิตกฺก + จริต
“จริต” รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, เที่ยวไป) + ต (ปัจจัย) ลง อิ อาคม
: จรฺ + อิ + ต = จริต
“จริต” ถ้าใช้เป็นคำนาม แปลว่า ความประพฤติ, การเที่ยวไป, การกระทำ
ถ้าใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า มีความประพฤติ, มีนิสัย, มีกิริยา (เช่นนั้นเช่นนี้)
คำว่า “สุจริต” “ทุจริต” ที่เราพูดกัน ก็มาจาก “จริต” คำนี้
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“จริต : (คำนาม) ความประพฤติ, กิริยาหรืออาการ, เช่น เสียจริต วิกลจริต, มักใช้ในทางไม่ดี เช่น ดัดจริต มีจริต, จริตจะก้าน ก็ว่า, ความประพฤติปรกติ, ความประพฤติที่หนักไปทางใดทางหนึ่ง อันเป็นปรกติอยู่ในสันดาน, แนวโน้มของจิตใจ, มี ๖ อย่าง คือ ราคจริต โทสจริต โมหจริต สัทธาจริต พุทธิจริต วิตกจริต. (ป.).”
วิตกฺก + จริต = วิตกฺกจริต ภาษาไทยอ่านว่า วิ-ตก-กะ-จะ-หฺริด แต่มักจะพูดแบบ “รักง่าย” ว่า วิ-ตก-จะ-หฺริด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิตกจริต : (คำนาม) ความเป็นทุกข์กังวล เช่น เขาเกิดวิตกจริตว่าจะตื่นไม่ทันไปสอบ, ความประพฤติที่มีพื้นนิสัยหนักไปในทางคิดฟุ้งซ่าน, เป็นจริต ๑ ในจริต ๖. (ดู จริต). (ป.).”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [262] บอกไว้ว่า
(1) จริต : ความประพฤติปกติ, ความประพฤติซึ่งหนักไปทางใดทางหนึ่ง อันเป็นปกติประจำอยู่ในสันดาน, พื้นเพของจิต, อุปนิสัย, พื้นนิสัย, แบบหรือประเภทใหญ่ๆ แห่งพฤติกรรมของคน — intrinsic nature of a person; characteristic behavior; character; temperament.
(2) วิตกจริต : (ผู้มีวิตกเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางนึกคิดจับจดฟุ้งซ่าน — one of speculative temperament)
ในทางธรรม “จริต” หมายถึงพื้นนิสัย หรือลักษณะทางอารมณ์ของคนที่หนักไปด้านใดด้านหนึ่งเป็นปกติ ท่านแบ่งจริตของคนเป็น 6 กลุ่ม คือ :
1 ราคจริต หนักไปทางรักสวยรักงาม มักติดใจซาบซึ้งง่าย (คู่กับ 4)
2 โทสจริต หนักไปทางใจร้อนขี้หงุดหงิด (คู่กับ 5)
3 โมหจริต หนักไปทางเหงาซึมงมงาย ลังเล (คู่กับ 6)
4 สัทธาจริต หนักไปทางเชื่อง่าย มักคล้อยตาม
5 พุทธิจริต หนักไปทางคิดพิจารณาหาเหตุผล เชื่อยาก
6 วิตกจริต หนักไปทางคิดจับจดฟุ้งซ่าน
สรุปว่า
“วิตก” ในภาษาไทยมักใช้เป็นคำกริยา
“วิตกจริต” เป็นคำคุณศัพท์ ไม่ใช่คำกริยา
ดังนั้น :
(1) เรื่องนี้ไม่หนักหนาอะไร อย่าวิตกไปเลย – ถูกต้อง
(2) เรื่องนี้ไม่หนักหนาอะไร อย่าวิตกจริตไปเลย – ผิด
ทำพูดคิดสะอาด : สวรรค์ไม่พลาด ไม่ต้องวิตก
ทำพูดคิดสกปรก : วิตกหรือไม่วิตก นรกไม่พลาด
9-3-58