สัมมาวายามะ (บาลีวันละคำ 3,562)
สัมมาวายามะ
องค์ที่หกของมรรคมีองค์แปด
อ่านว่า สำ-มา-วา-ยา-มะ
ประกอบด้วยคำว่า สัมมา + วายามะ
(๑) “สัมมา” บาลีเป็น “สมฺมา” (สำ-มา)
“สมฺมา” รากศัพท์มาจาก สมุ (ธาตุ = สงบ) + อ ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ, ซ้อน มฺ, ลง อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สมุ > สม + ม = สมฺม + อ = สมฺม + อา = สมฺมา แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นเครื่องสงบ”
หมายเหตุ :
“สมฺมา” ตามรากศัพท์นี้ หมายถึง สลักของแอก (a pin of the yoke)
“สมฺมา” ที่กำลังกล่าวถึงนี้น่าจะมีรากศัพท์เดียวกัน
——-
“สมฺมา” เป็นคำที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อัพยยศัพท์” คือคำที่คงรูป ไม่เปลี่ยนรูปไปตามวิธีแจกวิภัตติ แต่อาจเปลี่ยนตามวิธีสนธิได้บ้าง และทำหน้าที่เป็นคุณศัพท์ ขยายคำอื่น ไม่ใช้ตามลำพัง
“สมฺมา > สัมมา” แปลว่า โดยทั่วถึง, โดยสมควร, โดยถูกต้อง, โดยชอบ, ในทางดี, ตามสมควร, ดีที่สุด, โดยสมบูรณ์ (thoroughly, properly, rightly; in the right way, as it ought to be, best, perfectly)
คำที่ใช้ “สัมมา” นำหน้า ที่เราคุ้นกันดีก็เช่น สัมมาสัมพุทโธ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัมมาทิฐิ
คำที่ตรงกันข้ามกับ “สัมมา” ก็คือ “มิจฉา” (มิด-ฉา) แปลว่า ผิด, อย่างผิดๆ, ด้วยวิธีผิด, ไม่ถูก, เก๊, หลอกๆ (wrongly, in a wrong way, wrong–, false)
(๒) “วายามะ”
เขียนแบบบาลีเป็น “วายาม” อ่านว่า วา-ยา-มะ รากศัพท์มาจาก –
(1) วายมฺ (ธาตุ = พยายาม) + ณ ปัจจัย, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ –ย– เป็น อา, ลบ ณ
: วายมฺ + ณ = วายมณ > วายม > วายาม แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะเป็นเหตุให้พยายาม” คือแม้อยากจะนิ่งเฉยก็นิ่งอยู่ไม่ได้เพราะมีเหตุมากระตุ้นให้ต้องขับเคลื่อนอยู่เสมอ
(2) วยฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อาม ปัจจัย, ทีฆะ อะ ที่ ว– เป็น อา
: วยฺ + อาม = วยาม > วายาม แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ดำเนินไปตลอดกาล” คือไม่หยุดยั้งหรือย่อท้อ
(3) วาย (ลม) + อมฺ (ธาตุ ไป, เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย, ทีฆะ อะ ที่ต้นธาตุ คือ อ-(มฺ) เป็น อา
: วาย + อมฺ = วายม > วายาม + อ = วายาม แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เป็นไปทุกเมื่อเหมือนลม” คือไม่อยู่นิ่ง มีอาการรวดเร็วว่องไว ไม่อาจจะแชเชือนเฉยเมยอยู่ได้
“วายาม” มีความหมายว่า ความเพียร, ความพยายาม, ความอุตสาหะ, ความบากบั่น (striving, effort, exertion, endeavour)
บาลี “วายาม” สันสกฤตเป็น “วฺยายาม”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วฺยายาม : (คำนาม) ‘พยายาม’ ความเหนื่อย; พยาบาล ( = การงานที่ต้องออกแรงทำด้วยความเหนื่อยยากพากเพียร); วา; มัลลกรีฑา, ไทปรากฤตว่า- ‘กายกรรม’ บุรุษภาพ; กฐินตา, ความขลุกขลัก, ความยากหรือลำบาก การย์; ( = กิจ); fatigue; labour; a fathom; athletic exercise; manhood, manliness; difficulty; business, occupation.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “วายามะ” ซึ่งมาจาก “วายาม” ในบาลีไว้ด้วย บอกไว้ว่า –
“วายามะ : (คำนาม) ความพยายาม, ความหมั่น, ความบากบั่น. (ป.; ส. วฺยายาม).”
“วายาม” ในบาลี เรานิยมใช้อิง “วฺยายาม” ในสันสกฤต โดยแผลง ว เป็น พ > พยายาม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พยายาม : (คำกริยา) ทําโดยมานะบากบั่น. (ส. วฺยายาม; ป. วายาม).”
ในที่นี้ใช้ตามรูปบาลี “วายาม”
สมฺมา + วายาม = สมฺมาวายาม (สำ-มา-) ใช้ในภาษาไทยเป็น “สัมมาวายามะ” แปลตามสำนวนนิยมว่า “ความพยายามชอบ” หรือ “ความเพียรชอบ” หมายถึง ใช้ความพากเพียรพยามไปในทางที่ถูกต้อง
“ชอบ” ในภาษาไทยมักหมายถึง ถูกใจ หรือ like
“ชอบ” ในภาษาบาลีหมายถึง ถูกต้อง หรือ right
“สัมมาวายามะ” เป็นองค์หนึ่งในหลักธรรมที่เรียกว่า “มรรคมีองค์แปด” อันประกอบด้วย (1) สัมมาทิฏฐิ (2) สัมมาสังกัปปะ (3) สัมมาวาจา (4) สัมมากัมมันตะ (5) สัมมาอาชีวะ (6) สัมมาวายามะ (7) สัมมาสติ (8 ) สัมมาสมาธิ
ขยายความ :
ในพระไตรปิฎกท่านให้คำจำกัดความคำว่า “สัมมาวายามะ” ไว้ดังนี้ –
…………..
กตโม จ ภิกฺขเว สมฺมาวายาโม ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมมาวายามะคืออย่างไร
อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ –
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ –
อนุปฺปนฺนานํ ปาปกานํ อกุสลานํ ธมฺมานํ อนุปฺปาทาย ฉนฺทํ ชเนติ วายมติ วิริยํ อารภติ จิตฺตํ ปคฺคณฺหาติ ปทหติ
ย่อมยังความพอใจให้บังเกิด ย่อมพยายาม ย่อมลงมือทำ ย่อมประคองตั้งจิตไว้ เพื่อจะยังอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น
อุปฺปนฺนานํ ปาปกานํ อกุสลานํ ธมฺมานํ ปหานาย ฉนฺทํ ชเนติ วายมติ วิริยํ อารภติ จิตฺตํ ปคฺคณฺหาติ ปทหติ
ย่อมยังความพอใจให้บังเกิด ย่อมพยายาม ย่อมลงมือทำ ย่อมประคองตั้งจิตไว้ เพื่อจะละอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
อนุปฺปนฺนานํ กุสลานํ ธมฺมานํ อุปฺปาทาย ฉนฺทํ ชเนติ วายมติ วิริยํ อารภติ จิตฺตํ ปคฺคณฺหาติ ปทหติ
ย่อมยังความพอใจให้บังเกิด ย่อมพยายาม ย่อมลงมือทำ ย่อมประคองตั้งจิตไว้ เพื่อจะยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น
อุปฺปนฺนานํ กุสลานํ ธมฺมานํ ฐิติยา อสมฺโมสาย ภิยฺโยภาวาย เวปุลฺลาย ภาวนาย ปาริปูริยา ฉนฺทํ ชเนติ วายมติ วิริยํ อารภติ จิตฺตํ ปคฺคณฺหาติ ปทหติ
ย่อมยังความพอใจให้บังเกิด ย่อมพยายาม ย่อมลงมือทำ ย่อมประคองตั้งจิตไว้ เพื่อความดำรงอยู่ ไม่เสื่อมหาย เพื่อความเจริญเพิ่มพูนไพบูลย์ยิ่งขึ้น มีขึ้นเต็มเปี่ยม แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว สมฺมาวายาโม ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่าสัมมาวายามะ
ที่มา: มหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค
พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 299
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [293] สรุปความหมายของ “สัมมาวายามะ” ไว้ดังนี้ –
…………..
6. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ ได้แก่ ปธาน หรือ สัมมัปปธาน 4 — Sammāvāyāma: Right Effort)
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [156] แสดงความหมายของ “ปธาน 4” ไว้ดังนี้ –
…………..
1. สังวรปธาน เพียรระวังหรือเพียรปิดกั้น คือ เพียรระวังยับยั้งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น (the effort to prevent; effort to avoid)
2. ปหานปธาน เพียรละหรือเพียรกำจัด คือ เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว (the effort to abandon; effort to overcome)
3. ภาวนาปธาน เพียรเจริญ หรือเพียรก่อให้เกิด คือ เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมีขึ้น (the effort to develop)
4. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษา คือ เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่น และให้เจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์ (the effort to maintain)
ปธาน 4 นี้ เรียกอีกอย่างว่า สัมมัปปธาน 4 (ความเพียรชอบ, ความเพียรใหญ่: right exertions; great or perfect efforts)
…………..
สรุปว่า “สัมมาวายามะ” หมายถึง:
(1) พยายามระวัง-บาปอกุศลที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น
(2) พยายามละ-บาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดสิ้นไป
(3) พยายามเจริญ-ทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
(4) พยายามรักษา-กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อมไปและให้เพิ่มไพบูลย์
…………..
ดูก่อนภราดา!
วายเมเถว ปุริโส
ยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา.
ที่มา: วิโรจนอสุรินทสูตร สังยุตนิกาย สคาถวรรค
พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 891
: ความพยายามอยู่ที่ไหน
: ความสำเร็จอยู่ที่นั่น
#บาลีวันละคำ (3,562)
14-3-65
…………………………….
…………………………….