กาลามสูตรไม่ได้สอนไม่ให้เชื่อครู
กาลามสูตรไม่ได้สอนไม่ให้เชื่อครู
———————————-
ในกาลามาสูตร (ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๕๐๕) พระพุทธองค์ตรัสหลักความเชื่อไว้ข้อหนึ่ง คำบาลีว่า
“มา สมโณ โน ครูติ”
(มา สะ-มะ-โน โน คะ-รู-ติ)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ ๓๑๗ แปลเป็นไทยว่า “อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา” และแปลเป็นอังกฤษว่า Be not led by the idea, ‘This is our teacher’.
กาลามสูตรข้อนี้คือข้อที่ถูกนำไปอ้างกันอย่างแพร่หลายว่า กาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อครู
โปรดช่วยกันรับทราบว่า คำอ้างนี้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างร้ายแรง
กาลามสูตรไม่ได้สอนเลยว่า อย่าเชื่อครู หรือสอนไม่ให้เชื่อครู
กาลามสูตรสอนว่า อย่าเชื่อเพราะนับถือ หรือโดยอ้างเหตุผลว่า “เพราะท่านผู้นี้เป็นครู จึงต้องเชื่อ”
กาลามสูตรสอนว่าอย่าอ้างแบบนี้
เพราะครูที่เชื่อได้ก็มี เชื่อไม่ได้ก็มี
เมื่อจะเชื่อ ต้องมีเหตุผลประกอบอีกหลายอย่าง
ไม่ใช่เพียงแค่อ้างว่า “เพราะท่านเป็นครู จึงต้องเชื่อ”
…………………
เวลานี้สังคมไทยเกิดความคิดเห็นอย่างใหม่ คือเห็นว่าพิธีไหว้ครูเป็นเรื่องล้าสมัย ไม่จำเป็นต้องทำ
ความคิดเห็นแบบนี้จึงเข้ากันได้ดีกับความเชื่อผิดๆ ที่อ้างว่ากาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อครู
นอกจากกาลามสูตรจะ “ไม่ได้สอนว่าอย่าเชื่อครู” แล้ว หลักธรรมในพระพุทธศาสนายังสอนให้ศิษย์ปฏิบัติต่อครูด้วยความเคารพอย่างยิ่งอีกด้วย ซึ่งเป็นการตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับที่เอาไปอ้างว่า “กาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อครู”
……………………………………….
พระพุทธศาสนาสอนศิษย์ให้ปฏิบัติต่อครูดังนี้ –
……………………………………….
(๑) ลุกต้อนรับ (rising to receive them)
(๒) เข้าไปหา (เพื่อบำรุง คอยรับใช้ ปรึกษา ซักถาม และรับคำแนะนำ เป็นต้น) (by waiting upon them)
(๓) ใฝ่ใจเรียน (คือ มีใจรัก เรียนด้วยศรัทธา และรู้จักฟังให้เกิดปัญญา) (by eagerness to learn)
(๔) ปรนนิบัติ ช่วยบริการ (by personal service)
(๕) เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ (คือ เอาจริงเอาจัง ถือเป็นกิจสำคัญ) (by attentively learning the arts and sciences)
……………………………………….
และสอนครูให้ปฏิบัติต่อศิษย์ดังนี้ –
……………………………………….
(๑) ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี (They train him so that he is well-trained)
(๒) สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง (They teach him in such a way that he understands and remembers well what he has been taught)
(๓) สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง (They thoroughly instruct him in the lore of every art)
(๔) ยกย่องให้ปรากฏในหมู่คณะ (They introduce him to his friends and companions)
(๕) สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ (สอนฝึกให้รู้จักเลี้ยงตัวรักษาตนในอันที่จะดำเนินชีวิตต่อไปด้วยดี รับรองความรู้ความประพฤติให้เป็นที่ยอมรับในการไปประกอบอาชีพเป็นอยู่ (They provide for his safety and security in every quarter)
……………………………………….
ที่มา: สิงคาลกสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๒๐๐
คำแปลเป็นไทยและภาษาอังกฤษ จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ ๒๖๕
……………………………………….
จะเห็นได้ว่า การฟังตามๆ กันมาและการไม่มีอุตสาหะที่จะศึกษาสืบค้นให้รู้ข้อเท็จจริง เป็นอันตรายอย่างยิ่ง
ที่เป็นอันตรายสุดยอดก็คือ การเอาความเข้าใจผิดๆ ไปบอกกล่าวเผยแพร่ให้เข้าใจกันผิดๆ กว้างขวางออกไปอีก
น่าศึกษาให้รู้ซึ้งถึงก้นบึ้งหัวใจของคนที่ชอบประพฤติเช่นนี้ว่า-ท่านคิดอะไรของท่าน ท่านทำอย่างนี้ทำไม-เอาความเข้าใจผิดๆ ไปบอกกล่าวเผยแพร่ให้เข้าใจกันผิดๆ กว้างขวางออกไปอีก-ทำอย่างนี้ทำไม?
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ที่เราสามารถทำได้ทันทีก็คือ ช่วยกันรู้ทัน
การตรวจสอบศึกษาหาความรู้ไว้ให้เพียงพอ เป็นพื้นฐานที่จะช่วยให้เรารู้ทัน
แต่ตรงนี้ก็เป็นจุดอ่อนอีกอย่างหนึ่งของพวกเรา คือ ไม่มีอุตสาหะที่จะตรวจสอบศึกษาหาความรู้ไว้ให้เพียงพอ
เห็นอะไรหรือใครเขาบอกอะไร ก็มักกระโจนเข้าใส่ทันที จริงไม่จริง ใช่ไม่ใช่ ไม่รู้ ไม่รับรู้ แต่โดดลงไปเล่นเต็มๆ
กาลามสูตรไม่ได้สอนเลยว่า-ไม่ให้เชื่อครู
ก็เอาไปบอกเล่าเป็นช่องเป็นฉากว่า กาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อครู
ลามไปถึง-ไม่ต้องไหว้ครู
ลามขึ้นไปถึง-ครูไม่มีบุญคุณ
มีอุตสาหะตรวจสอบศึกษาหาความรู้กันให้เยอะๆ หน่อยนะครับ
หลักธรรมวินัยพระไตรปิฎกไม่ใช่เอกสารลับ หรือปกปิด หรือหวงห้าม
ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
อ่านก่อน แล้วจึงค่อยร้องอุทธรณ์ว่าอ่านไม่รู้เรื่อง
นี่ก็อีกอย่างหนึ่ง ชอบเป่าหูกันว่าพระไตรปิฎกแปลเป็นไทยแล้วก็อ่านไม่รู้เรื่อง
ลองอ่านเสียก่อน ถ้าไม่รู้เรื่องก็ศึกษาสอบถามต่อไป
กระบวนการศึกษาเรียนรู้เขาทำกันอย่างนี้ทั่วโลก
สุ จิ ปุ ลิ-หัวใจนักปราชญ์ รู้กันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร
ไม่อ่าน ไม่คิด ไม่ถาม ไม่จำ ไม่ออกแรงอะไรเลย
นั่งรอให้ความรู้มันผุดขึ้นมาเอง
แบบนั้นไม่ใช่หรอกครับ
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๒ มีนาคม ๒๕๖๕
๑๑:๕๑
……………………………………….
กาลามสูตรไม่ได้สอนไม่ให้เชื่อครู
……………………………………….