บาลีวันละคำ

สัมภาษณ์ (บาลีวันละคำ 1,012)

สัมภาษณ์

อ่านว่า สำ-พาด

บาลีเป็น “สมฺภาสน” อ่านว่า สำ-พา-สะ-นะ

สมฺภาสน” รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ภาสฺ (ธาตุ = พูด, สว่าง) + ยุ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น , แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: สํ > สมฺ + ภาสฺ = สมฺภาส + ยุ > อน = สมฺภาสน แปลตามศัพท์ว่า “การพูดร่วมกัน” “การทำให้สว่าง ( = เข้าใจ) ร่วมกัน

โปรดสังเกตว่า บาลีเป็น สมฺภาส หนู แต่คำที่ใช้ในภาษาไทยเป็น สัมภาษณ์ เณร

ที่คำว่า “สัมภาษณ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกที่มาของคำว่า – “(ส. สมฺภาษณ ว่า การสนทนากัน, การพูดจาซักถามกัน; คําพูดให้ตรงกัน).”

คือ “สัมภาษณ์” เป็นคำสันสกฤต มีความหมายว่า การสนทนากัน, การพูดจาซักถามกัน; คําพูดให้ตรงกัน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ อนึ่ง ความหมายของคำไทยบางคำโปรดเทียบเคียงกับคำอังกฤษเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน)

สมฺภาษณ : (คำนาม) ‘สัมภาษณะ, สมภาษณ์,’ สมพาท, สังกถา, การหรือคำพูด; สิงหนาท; ปรัตยยวาท; conversation, dialogue, discourse; war-cry; watch-word.”

คำว่า “สัมภาษณ์” เข้าใจกันว่าตรงกับคำอังกฤษว่า interview

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล interview เป็นบาลีว่า –

(1) sākacchā สากจฺฉา (สา-กัด-ฉา) = การสนทนา, การพูดคุย

(2) mantanā มนฺตนา (มัน-ตะ-นา) = การปรึกษาหารือ, การประชุมพิจารณา

โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ไม่มีคำแปล interview เป็นบาลีว่า สมฺภาสน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “สัมภาษณ์” ในภาษาไทยไว้ดังนี้ :

(1) (คำกริยา) สนทนาหรือสอบถามเพื่อนำเรื่องราวไปเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์หรือวิทยุกระจายเสียงเป็นต้น เช่น เจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์สัมภาษณ์นายกราชบัณฑิตยสถานเกี่ยวกับความเป็นมาของราชบัณฑิตยสถาน.

(2) (คำนาม) การพบปะสนทนากันในลักษณะที่ฝ่ายหนึ่งต้องการทราบเรื่องจากอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อนำไปเผยแพร่ เรียกว่า ผู้สัมภาษณ์ และอีกฝ่ายหนึ่งที่ต้องการจะแถลงข่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า ผู้ให้สัมภาษณ์.

(3) การสอบท่วงทีวาจาและไหวพริบ พิจารณาดูชั้นเชิงและความสามารถของผู้เข้าสอบ ว่าจะเป็นผู้เหมาะสมตามที่ต้องการหรือไม่ เรียกว่า สอบสัมภาษณ์.

ในบาลีไม่พบคำว่า “สมฺภาสน” แต่มีคำว่า “สมฺภาสา” (สำ-พา-สา) ซึ่งมาจากรากศัพท์เดียวกัน แปลว่า การสนทนา, การพูดคุย (conversation, talk)

: สัมภาษณ์พาล พูดร้อยคำยังไม่รู้ว่าถูกหรือผิด

: สัมภาษณ์บัณฑิต พูดคำเดียวก็รู้ว่าชั่วหรือดี

24-2-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย