กรุษสามกรานต์สี่
กรุษสามกรานต์สี่
——————
“กรุษ” ในที่นี้หมายถึง “ตรุษ” คนไทยรุ่นเก่าออกเสียงคำที่มีอักษร ตร- เป็น กร- เช่น –
ตรึกตรอง เป็น กรึกกรอง
ตรวน เป็น กรวน
ตรม เป็น กรม
ไตร เป็น ไกร เช่น พระไตรปิฎก คนรุ่นเก่าออกเสียงว่า พระไกรปิฎก
ยังมีอีกมากมายหลายคำ
เพราะฉะนั้น “ตรุษ” จึงเป็น “กรุษ”
“กรุษ” ในที่นี้คือ “ตรุษ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า –
……………………………………
ตรุษ, ตรุษไทย
[ตฺรุด] น. เทศกาลเนื่องในการสิ้นปี ตรุษไทยกําหนดตามจันทรคติ ตรงกับวันแรม ๑๕ คํ่า เดือน ๔.
……………………………………
“กรานต์” ในที่นี้หมายถึง “สงกรานต์” ที่เรารู้จักกันดี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า –
……………………………………
สงกรานต์ ๑
[-กฺราน] น. เทศกาลเนื่องในการขึ้นปีใหม่อย่างเก่า ซึ่งกําหนดตามสุริยคติ ปรกติตกวันที่ ๑๓-๑๔-๑๕ เมษายน วันที่ ๑๓ คือวันมหาสงกรานต์ วันที่ ๑๔ คือวันเนา และวันที่ ๑๕ คือวันเถลิงศก. (ส. สงฺกฺรานฺติ).
……………………………………
ตรุษ-สงกรานต์ คนรุ่นเก่ามักพูดควบกันเป็น “กรุษกรานต์”
“กรุษสามกรานต์สี่” หมายความว่าอย่างไร?
“กรุษสามกรานต์สี่” เป็นคำที่คนรุ่นเก่า-และโดยเฉพาะก็คือคนที่มีอาชีพทำนา-แถวอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรีพูดกัน
“กรุษสาม” คือเมื่อถึงเทศกาลตรุษ ชาวบ้านจะหยุดงานเพื่อเล่นสนุกกัน ๓ วัน คือวันแรม ๑๓-๑๔-๑๕ ค่ำ เดือน ๔
“กรานต์สี่” คือเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ ชาวบ้านจะหยุดงานเพื่อเล่นสนุกกัน ๔ วัน คือวันที่ ๑๒-๑๓-๑๔-๑๕ เดือนเมษายน
“หยุดงานเพื่อเล่นสนุก” หมายความว่า ตามปกติชาวบ้านจะทำงานอันเป็นการทำมาหากินตามอาชีพตลอดทั้งปี จะหยุดงานประจำสัปดาห์ก็คือวันโกน-วันพระ
วันโกนทำงานเล็กๆ น้อยๆ หรืออาจจะทำงานปกติ
แต่วันพระหยุดงานทั้งหมด ไปวัด ทำบุญ
แต่พอถึงเทศกาลพิเศษ โดยเฉพาะ “กรุษกรานต์” ชาวบ้านจะหยุดทำงานทุกอย่าง เพื่อเล่นสนุกกันตามสูตร “กรุษสามกรานต์สี่”
ที่ว่า “หยุดงาน” หมายความว่า การงานประจำวันที่ทำเพื่อการดำรงชีพ เช่น ตักน้ำ ตำข้าว เก็บผัก หักฟืน เป็นต้น จะหยุดทำ
“ตักน้ำ ตำข้าว เก็บผัก หักฟืน” – ไม่ใช่สักแต่ว่าสำนวนพูด แต่ชาวบ้านเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษทำงานพวกนี้จริงๆ
…………………..
“ตักน้ำ” คือน้ำกินน้ำใช้ประจำวัน มีแหล่งน้ำคือมีบ่อหรือมีสระน้ำอยู่ที่ไหน คนมีหน้าที่ “ตักน้ำ” ก็จะต้องไปเอาน้ำมา โดยมากใช้วิธีหาบ
…………………..
“ตำข้าว” คือสมัยโน้นไม่มีโรงสี ข้าวสารที่หุงกินทุกวันมาจากข้าวเปลือกที่ทำนาได้แล้วเก็บไว้ในยุ้งฉาง ข้าวเปลือกหุงกินไม่ได้ ต้องเอามาทำกรรมวิธีแปรรูปให้เป็นข้าวสาร มีขั้นตอนเริ่มตั้งแต่ “โกยข้าว” ลงมาจากยุ้ง เอาไปใส่ “สีมือ” คือสีที่ใช้แรงมือหมุน
…………………………………………..
สี = เครื่องสําหรับหมุนบดข้าวเปลือกเพื่อทำให้เปลือกแตกเป็นข้าวกล้อง
…………………………………………..
เครื่องที่ว่านี้ชาวบ้านผลิตเอง หรืออาจจะซื้อจากชาวบ้านด้วยกันที่ผลิตขาย
พอข้าวเปลือกเป็นข้าวกล้องโดยผ่านการ “สี” แล้ว ก็เอาข้าวกล้องไปใส่ครกซ้อมมืออีกทีหนึ่ง ขั้นตอนนี้ทำให้เกิดผลผลิตที่เรียกว่า “รำ”
…………………………………………..
รำ = ผงเยื่อหรือละอองเมล็ดข้าวสาร
…………………………………………..
จากนั้นก็แยกรำออกโดยวิธีฝัด
…………………………………………..
ฝัด = อาการที่แยกของเบาออกจากของหนักโดยกระดกภาชนะเช่นกระด้งขึ้น ๆ ลง ๆ ค่อนข้างเร็ว เพื่อสะบัดแกลบ รำ หรือผงออกจากข้าวเป็นต้น
…………………………………………..
นึกออกไหมครับ เพลง “รำวงสาวบ้านแต้” ของคณะสุนทราภรณ์ที่มีคำร้องว่า “กระด้งฝัดข้าว” (เสียงร้องเป็น ก๊ะ-ด่ง-ฟัด-เข่า)
ฝัดรำออกหมดแล้วจึงจะได้ข้าวสารที่พร้อมจะเอาไป “กรอกหม้อ”
“สี” “รำ” “ฝัด” คำพวกนี้ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ไม่รู้จัก แต่คนรุ่นผม-ที่มีอาชีพทำนา-รู้จักดี เพราะทำมากับมือ
คนรุ่นใหม่เห็นแต่ข้าวสารที่อยู่ในถุง อย่างดีก็จินตนาการว่าข้าวสารมาจากโรงสี แต่คงนึกไม่ออกว่าสมัยที่ยังไม่มีโรงสี ข้าวสารที่ชาวนาชาวบ้านมีหุงกันทุกครัวเรือนมาจากไหน
ผมเชื่อว่าอีกไม่นาน แม้แต่ข้าวสารก็จะไม่รู้จัก เพราะวัฒนธรรม “ทุกมื้อซื้อกิน” กำลังแพร่หลายไปทั่วทุกครัวเรือน
…………………..
“เก็บผัก” ก็เปรียบได้กับ-ไปจ่ายตลาดในสมัยนี้ แต่สมัยโน้นไม่มีตลาดไปถึงหน้าบ้านเหมือนสมัยนี้ ส่วนประกอบของอาหารประจำวันจึงมาจากการออกไปเก็บ ไปหา ไป “เด็ด” เอามาจากรอบๆ บ้าน อย่างที่เราสมัยนี้พูดกันว่า “รั้วกินได้” แต่สมัยโน้นไม่ได้มีเฉพาะที่เป็นรั้ว หากแต่มีอยู่รอบๆ บริเวณบ้าน เดินห่างบ้านออกไปไม่กี่ก้าวก็ถึง “ตลาดธรรมชาติ” สามารถเลือก “เก็บผัก” เอามาทำอาหารได้ทุกวัน
…………………..
“หักฟืน” นี่ก็คือการหาเชื้อเพลิงที่ต้องใช้ในครัว ชีวิตในระบบ “เสียบปลั๊ก” คงนึกไม่ออก แต่ชีวิตชาวนาบ้านนอกเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษไม่มีใครที่ไม่รู้จักวิธี “หักฟืน”
…………………..
สรุปว่า “ตักน้ำ ตำข้าว เก็บผัก หักฟืน” – ที่ต้องทำในชีวิตประจำวัน พอใกล้จะถึงเทศกาล “กรุษกรานต์” ทุกบ้านก็จะวางแผนล่วงหน้า เตรียมทำเตรียมหาไว้ให้พร้อมพอที่จะอยู่ได้ ๓ วัน หรือ ๔ วันโดยไม่ต้องทำอะไร แล้วทุกบ้านก็จะออกไปเล่นสนุกตามสูตร “กรุษสามกรานต์สี่”
การหยุดงานออกไปเล่นสนุกดังว่านี้ ขอให้นึกถึงวัฒนธรรมของพี่น้องชาวจีนในไทยที่พอถึงเทศกาลตรุษจีนก็จะหยุดงาน ร้านรวงต่างๆ ปิดหมด ตลาดเงียบเหงาไปทั้งตลาด
หยุดงานแบบนั้นแหละ แต่ทุกบ้านไม่เงียบเหงา
สมัยโน้น เทศกาลกรุษกรานต์ บ้านไหนทำงาน เช่นข้าวสารหมด ต้องตำข้าว จะถูกชาวบ้านด้วยกันตำหนิติเตียนมาก ว่าไม่รู้จักกาลเทศะ
กิจกรรมทางสังคมที่ปฏิบัติกันในเทศกาลกรุษกรานต์ ก็คือทำบุญที่วัด เป็นกิจกรรมหลัก แล้วก็มีการแจกจ่ายแบ่งปันขนมประจำเทศกาล เช่น กะละแม ข้าวเหนียวแดงเป็นต้น บ้านเหนือยกขบวนเอาไปให้บ้านใต้ บ้านใต้แห่กันเอาไปให้บ้านเหนือ-อย่างนี้เป็นต้น
การเล่นสนุกกัน ๓ วัน ๔ วัน ก็มีหลายอย่าง แล้วแต่พื้นถิ่นต่างๆ จะเล่นกันมาอย่างไร
ที่เป็นสามัญทั่วไปก็คือ กลางคืนเล่นรำวง
การละเล่นอย่างหนึ่งที่แถวอำเภอปากท่อนิยมเล่นกันในเทศกาลกรุษกรานต์ ที่ผมยังจำติดตามาจนทุกวันนี้ก็คือ “เล่นหึ่ง” – เราเรียกกันอย่างนี้
คำว่า “หึ่ง” อันเป็นชื่อการละเล่นที่ว่านี้ ไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฯ แต่เก็บไว้ที่คำว่า “ไม้หึ่ง”
…………………………………………..
ไม้หึ่ง น. ชื่อการเล่นซึ่งประกอบด้วยไม้แม่หึ่งยาวประมาณศอกคืบ ๑ อัน และลูกหึ่งยาวประมาณ ๑ คืบ ๑ อัน โดยแบ่งผู้เล่นเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายละ ๓-๕ คน ฝ่ายหนึ่งจะเอาลูกหึ่งวางขวางบนหลุมซึ่งขุดเป็นรางยาวประมาณ ๑ คืบ เรียกว่า รางไม้หึ่ง แล้วใช้ไม้แม่หึ่งปักปลายลงในราง งัดลูกหึ่งออกไปให้อีกฝ่ายหนึ่งรับ เมื่อฝ่ายรับรับลูกหึ่งได้ก็จะมาเป็นฝ่ายส่งบ้าง แต่ถ้าฝ่ายรับรับลูกไม่ได้ก็จะต้องวิ่งร้องหึ่งมาที่หลุม ในแต่ละถิ่นมีวิธีการเล่นต่าง ๆ กัน.
…………………………………………..
นี่ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่คนไทยรุ่นใหม่ไม่รู้จัก
…………………..
เล่าเรื่อง “กรุษสามกรานต์สี่” ไว้เป็นเสมือนบันทึกสังคม เผื่อว่าคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตไทย สนใจใคร่รู่ จะได้เป็นข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ
เขียนทิ้งๆ ไว้ คนไม่อ่าน เทวดาก็คงอ่าน
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๕ เมษายน ๒๕๖๕
๑๗:๓๗
………………………………………….
กรุษสามกรานต์สี่