บาลีวันละคำ

กัมมการี จ ภริยา จ-ภรรยาประเภทที่ 8 (บาลีวันละคำ 3,594)

กัมมการี จ ภริยา จ-ภรรยาประเภทที่ 8

ภรรยาที่เป็นทั้งลูกจ้างทั้งเป็นภรรยา

…………..

ควรทราบก่อน :

ในจำนวนศีล 227 สิกขาบทของภิกษุ ในหมวดอาบัติสังฆาทิเสสมี 13 สิกขาบท สิกขาบทที่ 5 บัญญัติว่า “ภิกษุชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน ต้องสังฆาทิเสส” (นวโกวาท หน้า 3)

เมื่อกล่าวถึง “ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน” ตามสิกขาบทนี้ พระวินัยปิฎกจำแนกหญิงที่ชายได้มาเป็นภรรยาไว้ 10 ประเภท คือ –

(1) ธนกีตา = ภรรยาสินไถ่ 

(2) ฉันทวาสินี = ภรรยาที่อยู่ด้วยความเต็มใจ 

(3) โภควาสินี = ภรรยาที่อยู่เพราะสมบัติ

(4) ปฏวาสินี = ภรรยาที่อยู่เพราะผ้า 

(5) โอทปัตตกินี = ภรรยาที่สมรส 

(6) โอภตจุมพฏา = ภรรยาที่ถูกปลงเทริด 

(7) ทาสี ภริยา = ภรรยาที่เป็นทั้งคนใช้เป็นทั้งภรรยา 

(8 ) กัมมการี ภริยา = ภรรยาที่เป็นทั้งลูกจ้างทั้งเป็นภรรยา 

(9) ธชาหฏา = ภรรยาเชลย

(10) มุหุตติกา = ภรรยาชั่วคราว 

ชื่อภรรยาทั้ง 10 ประเภทนี้ ไม่ใช่คำแสดงลักษณะนิสัยของภรรยาเหมือนภรรยา 7 ประเภท เช่น “โจรีภริยาภรรยาเยี่ยงโจรมาตาภริยาภรรยาเยี่ยงมารดา เป็นต้น หากแต่เป็นคำแสดงที่มาหรือลักษณะที่ได้หญิงนั้นมาเป็นภรรยาว่าได้มาด้วยวิธีใด

ชื่อภรรยาทั้ง 10 ประเภทนี้บ่งบอกถึงสภาพสังคมหรือค่านิยมในการหาคู่ครองของชายชาวชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล เป็นเรื่องน่ารู้ จึงนำแต่ละชื่อมาแสดงความหมายตามกรอบขอบเขตของ “บาลีวันละคำ” พอเป็นอลังการของนักเรียนบาลี

…………..

กัมมการี ภริยา ” อ่านว่า กำ-มะ-กา-รี จะ พะ-ริ-ยา จะ ประกอบด้วยคำว่า กัมมการี + ภริยา และมี “จ-ศัพท์” (จะ-สับ) แทรก

(๑) “กัมมการี” 

เขียนแบบบาลีเป็น “กมฺมการี” อ่านว่า กำ-มะ-กา-รี ประกอบด้วยคำว่า กมฺม + การ + อี ปัจจัย

(ก) “กมฺม” อ่านว่า กำ-มะ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ที่ต้นปัจจัย

: กร > + รมฺม > มฺม : + มฺม = กมฺม

กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมใช้ทับศัพท์อิงรูปสันสกฤตว่า “กรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กรรม ๑, กรรม– ๑ : (คำนาม) (๑) การ, การกระทำ, การงาน, กิจ, เช่น พลีกรรม ต่างกรรมต่างวาระ, เป็นการดีก็ได้ ชั่วก็ได้ เช่น กุศลกรรม อกุศลกรรม.(๒) การกระทำที่ส่งผลร้ายมายังปัจจุบัน หรือซึ่งจะส่งผลร้ายต่อไปในอนาคต เช่น บัดนี้กรรมตามทันแล้ว ระวังกรรมจะตามทันนะ.(๓) บาป, เคราะห์, เช่น คนมีกรรม กรรมของฉันแท้ ๆ.(๔) ความตาย ในคำว่า ถึงแก่กรรม.”

ในที่นี้สะกดเป็น “กัมม” ตามรูปบาลี หมายถึง การงาน (work)

(ข) “การ” อ่านว่า กา-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (กร > การ)

: กรฺ + = กรณ > กร > การ แปลตามศัพท์ว่า “การทำ” “ผู้ทำ

กมฺม + การ = กมฺมการ (กำ-มะ-กา-ระ) แปลว่า “ผู้ทำการงาน” (worker) 

(ค) กมฺมการ + อี ปัจจัย เครื่องหมายอิตถีลิงค์

: กมฺมการ + อี = กมฺมการี เขียนแบบไทยเป็น “กัมมการี” (กำ-มะ-กา-รี) แปลว่า “สตรีผู้ทำการงาน” หมายถึง สตรีที่ทำงานรับจ้าง คือที่เราเรียกว่า ลูกจ้าง

(๒) “ภริยา” 

บาลีอ่านว่า พะ-ริ-ยา รากศัพท์มาจาก ภรฺ (ธาตุ = เลี้ยง) + อิ อาคม + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ภรฺ + อิ + = ภริย + อา = ภริยา แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันสามีต้องเลี้ยงดู” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภริยา” ว่า a wife และบอกคำแปลตามรากศัพท์ไว้ว่า one who is supported (ผู้ถูกเลี้ยงดู)

บาลี “ภริยา” ในภาษาไทยใช้ว่า “ภริยา” และ “ภรรยา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

(1) ภริยา : (คำนาม) ภรรยา, เมีย, หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย, คู่กับ สามี. (ป.; ส. ภารฺยา).

(2) ภรรยา : (คำนาม) ภริยา, เมีย, หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย, คู่กับ สามี. (ส. ภารฺยา; ป. ภริยา).

โปรดสังเกตศึกษาวิธีให้คำนิยามของพจนานุกรมฯ 

ภริยา” บอกว่าคือ “ภรรยา

ภรรยา” ก็บอกว่าคือ “ภริยา

หมายความ ทั้ง 2 คำใช้ได้เท่ากัน ไม่มีคำไหนเป็นคำหลัก-คำรอง คือเป็นคำหลักทั้งคู่ คำนิยามต่อมาก็ตรงกันทั้ง 2 คำ

(๓) “จ-ศัพท์” 

อ่านว่า จะ-สับ แปลว่า “ศัพท์คือ ” (จะ) หมายความว่า “” เป็นศัพท์ชนิดหนึ่งในภาษาบาลี เรียกตามหลักบาลีไวยากรณ์ว่า “นิบาต” หน้าที่ของนิบาตที่นักเรียนบาลีท่องจำกันมาก็คือ “สำหรับลงในระหว่างนามศัพท์บ้าง กิริยาศัพท์บ้าง” 

นิบาตมีหลายจำพวก “จ-ศัพท์” เป็นนิบาตจำพวกที่เรียกว่า “นิบาตสำหรับผูกศัพท์และประโยคมีอัตถะเป็นอเนก

นักเรียนบาลีในเมืองไทยจำคำแปลของ “จ-ศัพท์” ว่า “ (จะ) : ด้วย, อนึ่ง, ก็, จริงอยู่

ในที่นี้ “จ-ศัพท์” แปลโดยพยัญชนะว่า “-ด้วย” แปลโดยอรรถว่า “และ” หรือตรงกับภาษาอังกฤษว่า and

การประสมคำ :

๑ “กมฺมการี” กับ “ภริยา” เข้าคู่กัน แต่ยังคงแยกเป็น 2 คำ

๒ ใช้ “จ-ศัพท์” ลงแทรกไว้ท้ายศัพท์ทั้ง 2

: กมฺมการี จ ภริยา จ อ่านว่า กำ-มะ-กา-รี จะ พะ-ริ-ยา จะ

รวมแล้วเป็นคำบาลี 4 คำ คือ (1) กมฺมการี (2) จ (3) ภริยา (4) จ

รวม 4 คำ เป็นกลุ่มคำเดียวกัน แต่ยังแยกกันเป็นคำๆ ไม่ได้สมาสเป็นศัพท์เดียวกัน แต่พูดรวมเป็นคำเดียวว่า “กมฺมการี จ ภริยา จ” และใช้เป็นชื่อเรียกภรรยาประเภทหนึ่ง

แปลโดยพยัญชนะ: กมฺมการี จ ภริยา จ = อันว่าสตรีที่เป็นลูกจ้างด้วย เป็นภรรยาด้วย (นี่คือ “” แปลว่า “-ด้วย”)

แปลโดยอรรถ: กมฺมการี จ ภริยา จ = สตรีที่เป็นลูกจ้างและเป็นภรรยา (นี่คือ “” แปลว่า “และ”)

กมฺมการี จ ภริยา จ” เป็นรูปคำบาลี เขียนแบบไทยเป็น “กัมมการี จ ภริยา จ” ไม่ได้สะกดเป็น “กัมมการี จะ ภริยา จะ” และยังคงเขียนแยกเป็นคำๆ ไม่ได้เขียนติดกันเป็น “กัมมการีจะภะริยาจะ” เวลาอ่านก็อ่านแบบบาลี แต่ถือว่าเป็นการอ่านแบบไทยไปในตัว จะเรียกว่าเขียนแบบบาลี แต่อ่านแบบไทย ใช้แบบไทยก็ได้

กัมมการี จ ภริยา จ” แปลโดยประสงค์ว่า “ภรรยาที่เป็นทั้งลูกจ้างเป็นทั้งภรรยา” 

หมายเหตุ: “กัมมการี” = ลูกจ้าง ต่างจาก “ทาสี” = คนใช้

กัมมการี” = ลูกจ้าง : ทำงานโดยได้รับค่าจ้างตามแต่จะตกลงกัน

ทาสี” = คนใช้ : ทำงานรับใช้นายโดยไม่มีค่าจ้าง

ขยายความ :

ในพระไตรปิฎก สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 5 ให้คำจำกัดความ “กัมมการี จ ภริยา จ” ไว้ดังนี้ –

…………..

กมฺมการี  นาม  กมฺมการี  เจว  โหติ  ภริยา  จ  ฯ

ภรรยาที่ชื่อว่า “กัมมการี” (ลูกจ้าง) หมายถึง สตรีที่เป็นทั้งลูกจ้าง เป็นทั้งภรรยา

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 433

…………..

คัมภีรอรรถกถาพระวินัยปิฎกขยายความ “กัมมการี จ ภริยา จ” ไว้ดังนี้ –

…………..

กมฺมการี  นาม  เคเห  ภติยา  กมฺมํ  กโรติ

สตรีผู้ทำงานในเรือนเพื่อค่าจ้าง ชื่อว่า “กัมมการี” (สตรีผู้เป็นลูกจ้าง)

ตาย  สทฺธึ  โกจิ  ฆราวาสํ  กปฺเปติ  อตฺตโน  ภริยาย  อนตฺถิโก  หุตฺวา  อยํ  วุจฺจติ  กมฺมการี  จ  ภริยา  จาติ  ฯ

บุรุษบางคนครองเรือนร่วมกับสตรีผู้เป็นลูกจ้าง เนื่องจากไม่มีความต้องการด้วยภรรยาของตน ภรรยาที่เป็นลูกจ้างเช่นนี้ท่านเรียกว่า “กัมมการี จ ภริยา จ” (ภรรยาที่เป็นทั้งลูกจ้างทั้งเป็นภรรยา) 

ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 2 หน้า 57 (อธิบายสังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 5)

…………..

ข้อสังเกตแถม :

ประโยคคำบาลีของอรรถกถาตรงนี้ชอบกล ขอตั้งข้อสังเกตเพื่อประโยชน์ของนักเรียนบาลี 

ประโยคภาษาบาลีตรงท่อนที่ว่า “ตาย  สทฺธึ  โกจิ  ฆราวาสํ  กปฺเปติ  อตฺตโน  ภริยาย  อนตฺถิโก  หุตฺวา” ประโยคหลักอยู่ที่ “โกจิ  ฆราวาสํ  กปฺเปติ” แปลตามศัพท์ว่า “บุรุษบางคนสำเร็จการครองเรือน (ร่วมกับสตรีผู้เป็นลูกจ้างนั้น)” 

กปฺเปติ” เป็นกิริยาคุมพากย์ นับว่าเป็นประโยคสมบูรณ์แล้ว 

แต่แล้ว ท่านกลับมีประโยคขยายความตามมาข้างหลัง นั่นคือ “อตฺตโน  ภริยาย  อนตฺถิโก  หุตฺวา” แปลว่า “เป็นผู้ไม่มีความต้องการด้วยภรรยาของตน” 

หุตฺวา” ที่อยู่หลังสุด (จบประโยคตรงนี้ ต่อไป “อยํ วุจฺจติ” เป็นการขึ้นประโยคใหม่) ไม่ใช่กิริยาคุมพากย์ เพราะมี “กปฺเปติ” เป็นกิริยาคุมพากย์อยู่แล้ว 

ปกติ “หุตฺวา” จะทำหน้าที่เป็น “กิริยาว่ามีว่าเป็น” ธรรมดาๆ และบอกชื่อสัมพันธ์ (วากยสัมพันธ์) ว่า “สมานกาลกิริยา” (คือทำหน้าที่ควบคู่พร้อมไปกับกิริยาคุมพากย์) เป็นพื้น และมักจะวางตำแหน่งไว้ข้างหน้ากิริยาคุมพากย์ แต่ในที่นี้ท่านวาง “หุตฺวา” ไว้ท้ายประโยค นั่นหมายความว่า ข้อความท่อนนี้ย่อมจะมีความหมายพิเศษไปกว่าปกติ

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอสันนิษฐาน “ความหมายพิเศษ” ดังนี้ –

ข้อความ่อนที่ว่า “อตฺตโน  ภริยาย  อนตฺถิโก  หุตฺวา” ที่แปลว่า “เป็นผู้ไม่มีความต้องการด้วยภรรยาของตน” ความหมายปกติคือ บุรุษนั้นมีภรรยาอยู่แล้ว แต่เบื่อหน่ายคลายรักในตัวภรรยา (ไม่มีความต้องการด้วยภรรยาของตน) จึงผละจากภรรยา รับเอาสตรีลูกจ้างเป็นภรรยาแทน

ถ้าต้องการแสดงความหมายเช่นนี้ ท่านก็ควรเอาข้อความ “อตฺตโน  ภริยาย  อนตฺถิโก  หุตฺวา” ไปไว้ข้างหน้า “กปฺเปติ” ที่เป็นกิริยาคุมพากย์ เป็นดังนี้ –

โกจิ  อตฺตโน  ภริยาย  อนตฺถิโก  หุตฺวา  ตาย  สทฺธึ  ฆราวาสํ  กปฺเปติ  ฯ” แปลไปตามปกติว่า “บุรุษบางคนไม่มีความต้องการด้วยภรรยาของตน จึงครองเรือนร่วมกับสตรีผู้เป็นลูกจ้างนั้น

แต่เมื่อท่านเอา “อตฺตโน  ภริยาย  อนตฺถิโก  หุตฺวา” ไปวางไว้เป็นข้อความท่อนหลัง ประโยคนี้จึงน่าจะมีความหมายว่า บุรุษคนนั้นน่าจะยังไม่ได้มีภรรยาที่ตบแต่งกันตามประเพณีมาก่อน และไม่ต้องการที่จะมีภรรยาเช่นนั้น เช่นอาจเห็นว่าต้องทำตามประเพณียุ่งยากมากเรื่อง แต่อยากจะได้ภรรยาประเภท-ได้กัน อยู่ด้วยกันแบบง่ายๆ เพราะคิดเช่นนี้ จึงรับเอาสตรีลูกจ้างเป็นภรรยา ก็เป็นอันว่าไม่ต้องมีภรรยาที่ต้องทำพิธียุ่งยาก

ด้วยเหตุผลดังนี้แหละ ท่านจึงเอาข้อความ “อตฺตโน  ภริยาย  อนตฺถิโก  หุตฺวา” มาวางไว้เป็นข้อความปิดท้ายประโยค

ข้อสังเกตตามที่ว่ามานี้ ท่านที่ไม่ได้เรียนบาลีอาจจะอ่านไม่เข้าใจ ก็ขอให้ถือว่า อ่านเพื่อเป็นอุปนิสัยปัจจัยก็แล้วกัน 

แต่สำหรับนักเรียนบาลี ข้อสังเกตนี้อาจจะเป็นทางดำริเพื่อประโยชน์แก่การทำความเข้าใจหลักภาษาได้บ้าง 

อย่างไรก็ตาม พึงระลึกไว้ว่า ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับข้อสังเกตนี้เสมอไป และข้อสังเกตนี้ก็ไม่จำเป็นจะต้องถูกต้องตามนี้เสมอไปเช่นกัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

ถ้าจะเป็นเมียใคร –

: จงเป็นเมียจริง

: อย่าเป็นเมียจ้าง

#บาลีวันละคำ (3,594)

15-4-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *