บาลีวันละคำ

สังคายนาย (บาลีวันละคำ 3,597)

สังคายนาย

คำเก่าที่ควรหาความรู้กันใหม่

อ่านว่า สัง-คา-ยะ-นาย ก็ได้

อ่านว่า สัง-คาย-ยะ-นาย ก็ได้

(ตามพจนานุกรมฯ)

สังคายนาย” เป็นรูปคำบาลี เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺคายนาย” อ่านแบบบาลีว่า สัง-คา-ยะ-นา-ยะ แต่ถ้าไปเปิดพจนานุกรมบาลีหาคำว่า “สงฺคายนาย” ที่เป็นคำตั้งหรือแม่คำหรือเป็นรูปคำเดิม ก็จะไม่พบคำนี้

ถ้าเช่นนั้น “สังคายนาย” มาอย่างไร?

คำที่ในภาษาไทยพูดกันว่า “สังคายนา” นั้น รูปคำเดิมในบาลีเป็น “สงฺคายน” อ่านว่า สัง-คา-ยะ-นะ และโปรดสังเกตว่าเป็น “สงฺคายน” (-นะ) ไม่ใช่ “สงฺคายนา” (-นา)

สงฺคายน” รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + เค (ธาตุ = ส่งเสียง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปล เอ ที่ เค เป็น อย แล้วทีฆะ อะ ที่ -(ย) เป็น อา (เค > คย > คาย), แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ)

: สํ + เค = สํเค > สํคย > สํคาย + ยุ > อน = สํคายน > สงฺคายน (สัง-คา-ยะ-นะ) แปลเท่าศัพท์ว่า “การสวดพร้อมกัน” แปลตามรูปวิเคราะห์ว่า “การรวบรวมพระธรรมวินัยที่กระจายอยู่แล้วสวดพร้อมกัน” 

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “สงฺคายน” ว่า การสังคายนา, การร้อยกรอง, การรวบรวมพระธรรมวินัย 

คำว่า “สงฺคายน” มีความหมายเท่ากับ “สงฺคีติ” (สัง-คี-ติ)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ไม่ได้เก็บคำว่า “สงฺคายน” ไว้ แต่เก็บคำว่า “สงฺคีติ” แปลไว้ดังนี้ – 

(1) a song, chorus, music (เพลงขับ, การร้องพร้อม ๆ กัน, ดนตรี)

(2) proclamation, rehearsal, general convocation of the Buddhist clergy in order to settle questions of doctrine and to fix the text of the Scriptures. (การป่าวประกาศ, การสังคายนา, การประชุมสงฆ์เพื่อชำระพระไตรปิฎก)

(3) text rehearsed, recension (พระคัมภีร์ที่ชำระแล้ว, การสังคายนา) 

(4) text, formula (คัมภีร์, สูตร)

อภิปราย :

สงฺคายน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สังคายนา” (บาลี — (นะ) ภาษาไทย —นา)

นอกจากเก็บคำว่า “สังคายนา” แล้ว พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ยังเก็บคำว่า “สังคายนาย” คู่ไว้กับ “สังคายนา” ด้วย

เป็นเหตุให้ต้องถามว่า – ถ้าเช่นนั้น “สังคายนาย” มาอย่างไร?

สังคายนาย” เป็นรูปคำบาลี เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺคายนาย” อ่านแบบบาลีว่า สัง-คา-ยะ-นา-ยะ 

ตรวจดูในคัมภีร์บาลี ยังไม่พบรูปคำบาลีที่เป็น “สงฺคายนาย” แม้รูปคำที่เป็น “สงฺคายนา” ที่เป็นคำเดิมก็ไม่พบ

สงฺคายน” เป็นนปุงสกลิงค์ มีใช้ในคัมภีร์

สงฺคายนา” เป็นอิตถีลิงค์ ไม่พบในคัมภีร์

ดังนั้น นอกจากภาษาไทยจะใช้เป็น “สังคายนา” ซึ่งผิดกับบาลีแล้ว “สังคายนาย” ก็ดูจะยิ่งห่างจากบาลีมากขึ้นไปอีก

สังคายนาย” เป็นคำที่พบในหนังสือไทยรุ่นเก่า ถ้าจะหาทางช่วยคนเก่า ผู้เขียนบาลีวันละคำพบอยู่ทางหนึ่ง นั่นคือ อธิบายว่า “สังคายนาย” เป็นรูปแจกวิภัตติของ “สงฺคายน

สงฺคายน” เป็นนปุงสกลิงค์ แจกด้วยวิภัตตินามที่สี่ (จตุตถีวิภัตติ) เอกวจนะ เปลี่ยนรูปได้ 3 รูป คือ –

(1) สงฺคายนสฺส (สัง-คา-ยะ-นัด-สะ) 

(2) สงฺคายนาย (สัง-คา-ยะ-นา-ยะ) 

(3) สงฺคายนตฺถํ (สัง-คา-ยะ-นัด-ถัง) 

จตุตถีวิภัตติมีคำเชื่อมว่า “แก่, เพื่อ, ต่อ

ทั้ง 3 รูป แปลว่า “แก่สังคายนา” “เพื่อสังคายนา” “ต่อสังคายนา

สงฺคายนาย” นั่นเองที่มาเป็น “สังคายนาย” ในภาษาไทย

ถ้าไม่ใช่อย่างที่ว่ามา ก็มีอีกทางหนึ่ง คืออธิบายว่า คำว่า “สังคายนา” นั่นเองคนเก่าท่านออกเสียงเพี้ยน คือลากเสียง –นา ยาวไปหน่อย คนฟังได้ยินเป็น –นาย ครั้นพอเอามาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรก็เลยสะกดเป็น “สังคายนาย” ตามเสียงไปด้วย โดยไม่ได้ติดใจว่ารูปคำเดิมในภาษาบาลีจะเป็นอะไร แบบเดียวกับลาก “สงฺคายน” เป็น “สังคายนา” แล้วเลยลาก “สังคายนา” เป็น “สังคายนาย” อีกทอดหนึ่งนั่นแล

ผู้เขียนบาลีวันละคำมีสติปัญญาช่วยอธิบายได้เพียงแค่นี้

สรุปว่า “สงฺคายน” เราเอามาใช้เป็น “สังคายนา” แต่คำเก่าคนเก่าใช้ว่า “สังคายนาย” ก็มี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง 2 คำ บอกไว้ว่า – 

สังคายนา, สังคายนาย : (คำนาม) การซักซ้อม, การสวดพร้อมกันและเป็นแบบเดียวกัน, การประชุมชําระพระไตรปิฎกให้เป็นแบบเดียวกัน.(ภาษาปาก) (คำกริยา) สะสาง เช่น เรื่องนี้ต้องสังคายนากันเสียที. (ป. สงฺคายน).”

…………..

ขยายความ :

เพื่อเป็นการบันทึกความรู้ไว้เป็นหลักฐาน ขอนำคำว่า “สังคายนา” ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มาเสนอไว้ในที่นี้ ดังต่อไปนี้

…………..

สังคายนา : “การสวดพร้อมกัน” การร้อยกรองพระธรรมวินัย, การประชุมรวบรวมและจัดหมวดหมู่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าโดยพร้อมกันทบทวนสอบทานจนยอมรับและวางลงเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียว

“สังคายนา” คือ การสวดพร้อมกัน เป็นกิริยาแห่งการมาร่วมกันซักซ้อมสอบทานให้ลงกันแล้วสวดพร้อมกันคือตกลงยอมรับไว้ด้วยกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว ตามหลักในปาสาทิกสูตร (ที.ปา.๑๑/๑๐๘/๑๓๙) ที่พระพุทธเจ้าตรัสแนะนำแก่ท่านพระจุนทะ กล่าวคือ ท่านพระจุนทะปรารภเรื่องที่นิครนถนาฏบุตรสิ้นชีพแล้ว ประดานิครนถ์ตกลงในเรื่องหลักคำสอนกันไม่ได้ ก็ทะเลาะวิวาทกัน ท่านคำนึงถึงพระศาสนา จึงมาเฝ้า และพระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “เพราะเหตุดังนี้นั่นแลจุนทะ ในธรรมทั้งหลายที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง เธอทั้งหมดทีเดียวพึงพร้อมเพรียงกันประชุมรวบรวมกล่าวให้ลงกัน (สังคายนา) ทั้งอรรถะกับอรรถะ ทั้งพยัญชนะกับพยัญชนะ ไม่พึงวิวาทกัน โดยประการที่พรหมจริยะนี้จะยั่งยืน ดำรงอยู่ตลอดกาลนาน เพื่อเกื้อกูลแก่พหูชน เพื่อความสุขแก่พหูชน เพื่อเกื้อการุณย์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวะและมนุษย์ทั้งหลาย” และในที่นั้น ได้ตรัสว่า ธรรมทั้งหลายที่ทรงแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง หมายถึงธรรม ๗ หมวด (ที่มีชื่อรวมว่าโพธิปักขิยธรรม ๓๗), ในเวลาใกล้กันนั้น เมื่อพระสารีบุตรได้รับพุทธดำรัสมอบหมายให้แสดงธรรมแก่ภิกษุสงฆ์ในที่เฉพาะพระพักตร์ ท่านก็ปรารภเรื่องที่นิครนถนาฏบุตรสิ้นชีพแล้วประดานิครนถ์ทะเลาะวิวาทกันในเรื่องหลักคำสอน แล้วท่านได้แนะนำให้สังคายนา พร้อมทั้งทำเป็นตัวอย่าง โดยประมวลธรรมมาลำดับแสดงเป็นหมวดหมู่ ตั้งแต่หมวด ๑ ถึงหมวด ๑๐ เทศนาของพระสารีบุตรครั้งนี้ได้ชื่อว่า “สังคีติสูตร” (ที.ปา.๑๑/๒๒๑/๒๒๒) เป็นพระสูตรว่าด้วยการสังคายนาที่ทำตั้งแต่พระบรมศาสดายังทรงพระชนม์อยู่, เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปะผู้เป็นสังฆเถระ ก็ได้ชักชวนพระอรหันต์ทั้งหลายประชุมกันทำสังคายนาตามหลักการที่กล่าวมานั้น โดยประมวลพระธรรมวินัยทั้งหมดเท่าที่รวบรวมได้วางลงไว้เป็นแบบแผน ตั้งแต่หลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน เรียกว่าเป็นสังคายนาครั้งที่ ๑

ความหมายที่เป็นแกนของสังคายนา คือการรวบรวมพุทธพจน์ หรือคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา ดังนั้น สังคายนาที่เต็มตามความหมายแท้จริง จึงมีได้ต่อเมื่อมีพุทธพจน์ที่จะพึงรวบรวม อันได้แก่สังคายนาเท่าที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนการสังคายนาหลังจากนั้น ซึ่งจัดขึ้นหลังพุทธปรินิพพานอย่างน้อย ๑ ศตวรรษ ชัดเจนว่าไม่อยู่ในวิสัยแห่งการรวบรวมพุทธพจน์ แต่เปลี่ยนจุดเน้นมาอยู่ที่การรักษาพุทธพจน์และคำสั่งสอนเดิมที่ได้รวบรวมไว้แล้ว อันสืบทอดมาถึงตน ให้คงอยู่บริสุทธิ์บริบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยเหตุนั้น สังคายนาในยุคหลังสืบมาถึงปัจจุบัน จึงมีความหมายว่าเป็นการประชุมตรวจชำระสอบทาน รักษาพระไตรปิฎกให้บริสุทธิ์ หมดจดจากความผิดพลาดคลาดเคลื่อน โดยกำจัดสิ่งปะปนแปลกปลอมหรือทำให้เข้าใจสับสนออกไป ให้ธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าคงอยู่เป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวที่เป็นของแท้แต่เดิม; ในบางยุคสมัย การสังคายนาเกิดขึ้นเนื่องกันกับเหตุการณ์ไม่ปกติที่มีการถือผิดปฏิบัติผิดจากพระธรรมวินัย ทำให้การสังคายนาเสมือนมีความหมายซ้อนเพิ่มขึ้นว่าเป็นการซักซ้อมทบทวนสอบทานพระธรรมวินัยเพื่อจะได้เป็นหลักหรือเป็นมาตรฐานในการชำระสังฆมณฑลและสะสางกิจการพระศาสนา, จากความหมายที่เริ่มคลุมเครือสับสนนี้ ในภาษาไทยปัจจุบัน สังคายนาถึงกับเพี้ยนความหมายไป กลายเป็น

การชำระสะสางบุคคลหรือกิจการ

สังคายนาในยุคต้น ซึ่งถือเป็นสำคัญในการรักษาสืบทอดพระธรรมวินัย คือ ครั้งที่ ๑ ถึง ๕ ดังนี้:

ครั้งที่ ๑ ปรารภเรื่องสุภัททภิกษุผู้บวชเมื่อแก่กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย และปรารภที่จะทำให้ธรรมรุ่งเรืองอยู่สืบไป พระอรหันต์ ๕๐๐ รูป มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน และเป็นผู้ถาม พระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม ประชุมสังคายนาที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ภูเขาเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์ เมื่อหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน โดยพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๗ เดือนจึงเสร็จ

ครั้งที่ ๒ ปรารภพวกภิกษุวัชชีบุตรแสดงวัตถุ ๑๐ ประการ นอกธรรม นอกวินัย พระยศกากัณฑกบุตรเป็นผู้ชักชวนได้พระอรหันต์ ๗๐๐ รูป พระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพพกามีเป็นผู้วิสัชนา ประชุมทำที่วาลิการาม เมืองเวสาลี เมื่อ พ.ศ. ๑๐๐ โดยพระเจ้ากาลาโศกราช เป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๘ เดือนจึงเสร็จ

ครั้งที่ ๓ ปรารภเดียรถีย์มากมายปลอมบวชในพระศาสนาเพราะมีลาภสักการะเกิดขึ้นมาก พระอรหันต์ ๑,๐๐๐ รูป มีพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธาน ประชุมทำที่อโศการามเมืองปาฏลีบุตร เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๔ (พ.ศ. ๒๑๘ เป็นปีที่พระเจ้าอโศกขึ้นครองราชย์) โดยพระเจ้าอโศก หรือศรีธรรมาโศกราชเป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๙ เดือนจึงเสร็จ

ครั้งที่ ๔ ปรารภให้พระศาสนาประดิษฐานมั่นคงในลังกาทวีป พระสงฆ์ ๖๘,๐๐๐ รูป มีพระมหินทเถระเป็นประธานและเป็นผู้ถาม พระอริฏฐะเป็นผู้วิสัชนา ประชุมทำที่ถูปาราม เมืองอนุราธบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖ โดยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะเป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๑๐ เดือนจึงเสร็จ

ครั้งที่ ๕ ปรารภพระสงฆ์แตกกันเป็น ๒ พวกคือ พวกมหาวิหารกับพวกอภัยคีรีวิหาร และคำนึงว่าสืบไปภายหน้ากุลบุตรจะถอยปัญญา ควรจารึกพระธรรมวินัยลงในใบลาน พระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ประชุมกันสวดซ้อมแล้วจารพุทธพจน์ลงในใบลาน ณ อาโลกเลณสถาน ในมลยชนบท ในลังกาทวีป เมื่อ พ.ศ. ๔๕๐ (ว่า ๔๓๖ ก็มี) โดยพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย เป็นศาสนูปถัมภก์; บางคัมภีร์ว่า สังคายนาครั้งนี้จัดขึ้นในความคุ้มครองของคนที่เป็นใหญ่ในท้องถิ่น (ครั้งที่ ๔ ได้รับความยอมรับในแง่เหตุการณ์น้อยกว่าครั้งที่ ๕)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: แม้พูดจะเพี้ยนเขียนจะผิด

: ก็ให้ระวังจิตอย่าให้คิดอกุศล

#บาลีวันละคำ (3,597)

18-4-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *