บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๔-อุเบกขา

แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๔-อุเบกขา

———————————–

๔ แผ่อุเบกขา

แผ่เมตตาข้อที่ ๔ หมายถึงแผ่ “อุเบกขา” อันเป็นพรหมวิหารธรรมข้อที่ ๔ 

“อุเบกขา” คืออะไร?

อุเบกขา กับ สันโดษ เป็นหลักธรรมที่มีชะตากรรมคล้ายคลึงกันในสังคมไทย คือคนส่วนมากเข้าใจผิด 

นั่นยังไม่น่าเศร้าเท่ากับที่-คนส่วนมากไม่คิดที่จะศึกษาทำความเข้าใจให้ถูกต้อง 

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว รัฐบาลไทยถึงกับขอร้องคณะสงฆ์ว่า อย่าให้พระเทศน์เรื่องสันโดษ เพราะจะเป็นการส่งเสริมให้คนขี้เกียจ

ถ้ายังเข้าใจผิดและไม่คิดจะศึกษาให้เข้าใจถูกต้องอยู่ต่อไป วันหนึ่งข้างหน้ารัฐบาลไทยอาจจะขอร้องคณะสงฆ์ว่า อย่าให้พระเทศน์เรื่องอุเบกขา เพราะจะเป็นการส่งเสริมให้คนไม่รับผิดชอบ

…………………………………….

เข้าใจผิด : สันโดษคือเฉื่อยชา อุเบกขาคือไม่รับผิดชอบ

เข้าใจถูก

อุเบกขา คือใช้ปัญญาจนเห็นคุณและโทษเมื่อจะทำการใดๆ

สันโดษ คือภูมิใจกับผลที่ได้ เมื่อทำเต็มความสามารถแล้ว

…………………………………….

“อุเบกขา” แปลตามศัพท์ว่า –

๑ “กิริยาที่เสวยอารมณ์ที่เป็นไปใกล้เวทนาสองอย่างคือสุขและทุกข์” 

๒ “กิริยาที่เสวยอารมณ์ที่เข้าไปใกล้สุขและทุกข์” (หมายถึงอยู่ตรงกลางระหว่างสุขและทุกข์ = ไม่สุขไม่ทุกข์)

๓ “กิริยาที่เพ่งโดยเป็นกลาง” 

๔ “กิริยาที่เสวยอารมณ์โดยสมควร” 

๕ “กิริยาที่ดูโดยอุบัติ คือเห็นเสมอภาคกันไม่ตกเป็นฝ่ายไหน

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แปลคำว่า “อุเบกขา” เป็นภาษาอังกฤษว่า –

1. equanimity; evenmindedness; neutrality; poise. 

2. indifference; neutral feeling; neither pleasurable nor painful feeling.

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุเปกฺขา” ว่า –

“looking on”, hedonic neutrality or indifference, zero point between joy & sorrow; disinterestedness, neutral feeling, equanimity; feeling which is neither pain nor pleasure 

(“มองเฉย”, ความไม่ยินดียินร้าย หรือการวางอารมณ์เป็นกลาง, จุดศูนย์ระหว่างความสุขกับความทุกข์; การวางเฉย, ความรู้สึกเป็นกลาง, ความสงบ; ความรู้สึกมิใช่ทุกข์มิใช่สุข)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “อุเบกขา” ไว้ดังนี้ –

(๑) ความวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยชอบหรือชัง, ความวางใจเฉยได้ ไม่ยินดียินร้าย เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้นโดยสมควรแก่เหตุ และรู้ว่าพึงปฏิบัติต่อไปตามธรรม หรือตามควรแก่เหตุนั้น, ความรู้จักวางใจเฉยดู เมื่อเห็นเขารับผิดชอบตนเองได้ หรือในเมื่อเขาควรต้องได้รับผลอันสมควรแก่ความรับผิดชอบของเขาเอง, ความวางทีเฉยคอยดูอยู่ในเมื่อคนนั้นๆ สิ่งนั้นๆ ดำรงอยู่หรือดำเนินไปตามควรของเขาตามควรของมัน ไม่เข้าข้างไม่ตกเป็นฝักฝ่าย ไม่สอดแส่ ไม่จู้จี้สาระแน ไม่ก้าวก่ายแทรกแซง (ข้อ ๔ ในพรหมวิหาร ๔) 

(๒) ความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ เรียกเต็มว่า อุเบกขาเวทนา ( = อทุกขมสุข); (ข้อ ๓ ในเวทนา ๓)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า –

อุเบกขา : (คำนาม) ความเที่ยงธรรม, ความวางตัวเป็นกลาง, ความวางใจเฉยอยู่, เป็นข้อ ๑ ในพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา. (ป. อุเปกฺขา).”

……………

เมื่อจะแผ่อุเบกขาตามรูปแบบ มีคำบาลีที่กำหนดไว้ดังนี้ –

…………..

สพฺเพ  สตฺตา 

กมฺมสฺสกา 

กมฺมทายาทา 

กมฺมโยนี 

กมฺมพนฺธู 

กมฺมปฏิสรณา 

ยํ  กมฺมํ  กริสฺสนฺติ 

กลฺยาณํ  วา  ปาปกํ วา 

ตสฺส  ทายาทา  ภวิสฺสนฺติ. 

…………..

เขียนแบบคำอ่านเป็นดังนี้ –

…………..

สัพเพ  สัตตา 

กัมมัสสะกา 

กัมมะทายาทา 

กัมมะโยนี 

กัมมะพันธู 

กัมมะปะฏิสะระณา 

ยัง  กัมมัง  กะริสสันติ 

กัล๎ยาณัง  วา  ปาปะกัง วา 

ตัสสะ  ทายาทา  ภะวิสสันติ. 

…………..

คำบาลีสลับคำแปลที่นิยมแปลกันเป็นดังนี้ –

……………

สัพเพ  สัตตา = สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น 

กัมมัสสะกา = เป็นผู้มีกรรมเป็นของตน 

กัมมะทายาทา = เป็นผู้รับผลของกรรม 

กัมมะโยนี = เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด 

กัมมะพันธู = เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ 

กัมมะปะฏิสะระณา = เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย 

ยัง  กัมมัง  กะริสสันติ = จักทำกรรมอันใดไว้ 

กัล๎ยาณัง  วา  ปาปะกัง วา = ดีหรือชั่ว 

ตัสสะ  ทายาทา  ภะวิสสันติ. = จักเป็นผู้รับผลของกรรมอันนั้น.

…………..

ปรับความเข้าใจให้ถูกต้อง :

(๑) คำว่า “อุเบกขา” มักแปลกันว่า “ความวางเฉย” แต่อุเบกขาไม่ได้หมายความว่าวางเฉยแบบไม่ดูดำดูดี หรือแบบไม่รับผิดชอบ อย่างที่มักเข้าใจกัน

(๒) อุเบกขา หมายถึง :

(ก) ไม่ตกอยู่ในอำนาจของสุขหรือทุกข์ ชอบหรือชัง 

สุขมาถึง ก็ไม่มัวเมา ฟุ้งเฟ้อ ไขว่คว้า ยึดมั่น หลงติด 

ทุกข์มากระทบ ก็ไม่โวยวาย ดิ้นพล่าน เดือดร้อน หรือทอดถอนนอนสยบ

แต่มีสติ มองเห็นเหตุที่มาของสุขหรือทุกข์นั้น แล้วกำหนดท่าทีของตนว่าควรทำอะไร ทำอย่างไรจึงจะเกิดผลดี

ชอบหรือชังมากระทบ ก็ทำนองเดียวกัน

(ข) ไม่ตกอยู่ในอำนาจของความลำเอียงเพราะรัก ชัง เขลา ขลาด อันเป็นเหตุให้กระทำการต่อเรื่องนั้นหรือบุคคลนั้นคลาดเคลื่อนไปจากที่ควรทำควรเป็น หรือผิดธรรมผิดทาง 

เช่นผู้มีอำนาจ รักบุคคลนี้ก็อุ้มชูสนับสนุนทั้งที่อ่อนด้อยบกพร่อง ชังบุคคลนั้นก็กดข่มปิดกั้นทั้งที่มีคุณสมบัติดีงาม การกระทำที่คลาดเคลื่อนเช่นนี้แหละที่เกิดขึ้นเพราะขาดอุเบกขา

(ค) ความมีปัญญาเข้าใจเข้าถึงสภาวะต่างๆ ตามความเป็นจริงและวางทีท่าอารมณ์ต่อเรื่องนั้นๆ ได้ถูกต้อง 

เช่น ความแก่เป็นสัจธรรมความจริง เมื่ออาการของความแก่ปรากฏ ถ้าขาดอุเบกขา ก็จะเดือดร้อน หาทางถ่วงรั้งยุดยื้อ ถูกใครเรียกว่าลุงว่าป้าว่ายาย ก็จะรู้สึกขุ่นข้องขัดเคืองเป็นต้น แต่ถ้ามีอุเบกขากำกับใจ เมื่อความแก่ ความเจ็บ หรือแม้ความตายมากระทบตนหรือคนรอบข้าง ก็จะดำรงตนอยู่ได้ตามปกติ พร้อมทั้งเห็นทางเห็นวิธีที่จะปฏิบัติต่อความเป็นจริงนั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง

(๓) อุเบกขา เป็นงานทางใจล้วนๆ (แต่ส่งผลออกมาเป็นท่าทีการกระทำ) แม้จะอ่าน หรือท่อง หรือจำความหมายของคำว่า “อุเบกขา” ได้แม่นยำ ก็ยังไม่ใช่เครื่องรับรองว่ามีอุเบกขา 

ต่อเมื่อใด จิตใจเข้าถึงความหมายดังกล่าวมา พิจารณาเห็นประจักษ์ถึงความจริงเช่นนี้ นั่นคือ “อุเบกขา”

ทีนี้ก็มาถึงปัญหาสำคัญ-เมื่อไรหรือกรณีอย่างไรที่ควรแผ่อุเบกขา?

เมื่อเพื่อนมนุษย์มีชีวิตอยู่เป็นปกติสุข ให้แผ่เมตตา

เมื่อเพื่อนมนุษย์ประสบปัญหา ให้แผ่กรุณา

เมื่อเพื่อนมนุษย์ประสบความสำเร็จ ให้แผ่มุทิตา

เมื่อไม่อยู่ในวิสัยที่จะแผ่เมตตา แผ่กรุณา หรือแผ่มุทิตาได้ ให้แผ่อุเบกขา

ตัวอย่างเช่น เห็นนักโทษถูกตัดสินประหารชีวิต 

กรณีเช่นนี้จะแผ่เมตตาก็ไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้มีชีวิตอยู่เป็นปกติสุข 

แผ่กรุณาก็ไม่ได้ เพราะไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะช่วยอะไรเขาได้ 

แผ่มุทิตาเป็นอันไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่ใช่โอกาสอันควรจะยินดีกับเขา

ถ้าไม่มีหลักหรือไม่มีวิธีคิดที่ถูกต้อง เราก็จะเป็นทุกข์ วุ่นวายใจไปด้วยประการต่างๆ รวมลงอยู่ในคำว่า-เขาไม่ควรจะต้องถูกประหารเลย

กรณีเช่นนี้แหละที่ท่านแนะให้แผ่อุเบกขา

ลองเอาสาระของคำแผ่อุเบกขามาจับดูก็จะเห็นชัด

…………………………..

สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน 

ทำกรรมอะไรไว้ ไม่ว่าดีหรือชั่ว 

ต้องรับผลของกรรมนั้น

…………………………..

นี่ก็คือที่เราพูดกันอยู่บ่อยๆ – กรรมของสัตว์ กรรมใครกรรมมัน

แต่เรามักพูดกันเพลินไป ไม่ได้เฉลียวใจว่า-ที่แท้นี่คือการแผ่อุเบกขา

เมื่อเรื่องนั้นๆ อยู่นอกเหนือวิสัยของเราที่เข้าไปทำอะไร ก็ต้องพิจารณาแบบนี้

การพิจารณาแบบนี้ไม่ใช่ไร้น้ำใจ ไม่ใช่ไม่ดูดำดูดี ไม่ใช่ไม่รับผิดชอบ แต่เป็นการพิจารณาตรงไปที่จุดกลางของความเป็นจริง-ความเป็นจริงของสรรพชีพย่อมเป็นดังนั้น-กรรมใครกรรมมัน

พิจารณาเห็นประจักษ์เช่นนี้ แม้ไม่ได้สวด ไม่ได้ท่องถ้อยคำอะไรเลย แต่นั่นแหละคือ “แผ่อุเบกขา” สำเร็จแล้ว

ผลที่ตามมาก็คือ เมื่อประจักษ์ถึงความเป็นจริงเช่นนี้ได้แล้ว อารมณ์ก็จะสงบ ครั้นแล้วก็จะมองเห็นหนทางปฏิบัติว่า ควรทำอะไร หรือไม่ควรทำอะไรกับกรณีนั้นๆ 

เมื่อมีกรณีใดๆ เกิดขึ้น เราไปทำสิ่งที่ไม่ควรทำเข้า หรือสิ่งที่ควรทำกลับละเลยเพิกเฉย ไม่ทำ สาเหตุใหญ่ที่สุดก็มาจาก-ไม่ได้พิจารณาให้เห็นประจักษ์ถึงจุดกลางของความเป็นจริงนี่แหละ ซึ่งอาการเช่นนั้นก็คือการขาดอุเบกขา คือไม่ได้แผ่อุเบกขานั่นเอง

…………..

อุปสรรคที่ทำให้แผ่ “อุเบกขา” ได้ไม่เต็มที่หรือแผ่ได้ยาก ที่เป็นตัวหลักๆ ก็คือ –

“อโยนิโสมนสิการ” = ไม่รู้จักฝึกคิดไปให้ถึงต้นเหตุ

“อุปาทาน” = ความยึดติด วางไม่ลง ปลงไม่หลุด

มี “โมหะ” = เข้าใจผิดไปจากความเป็นจริง เป็นฐานใหญ่ 

อุปสรรคเหล่านี้มีอาการซึมลึก อำพรางตัว นิ่มนวลแต่ติดแน่นเป็นเนื้อเดียวกับจิต 

ทางแก้ก็คือ ต้องเริ่มต้นเรียนรู้ศึกษา หัดพิจารณาแยกแยะเหตุผล 

แนะนำได้แค่นี้ ตอนทำ ต้องลงมือเอง 

ข้อสำคัญที่สุด ถ้าตัวเองไม่ทำ ไม่คิดจะทำ หรือไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องคิดทำ พระพุทธเจ้ากี่พระองค์ก็ช่วยไม่ได้

……………………………………..

ตอนต่อไป: 

แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๕-หมายเหตุอุเบกขา

……………………………………..

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๙ เมษายน ๒๕๖๕

๑๗:๒๔

……………………………………….

ภาพประกอบ: จาก google

……………………………………….

แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๕-หมายเหตุอุเบกขา

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………………….

แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๓-มุทิตา

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *