อธิคมอันตรธาน (บาลีวันละคำ 3,600)
อธิคมอันตรธาน
อันตรธานที่ 1-มรรคผลสูญ
อ่านแบบไทยว่า อะ-ทิ-คม-อัน-ตะ-ระ-ทาน
…………..
“อธิคมอันตรธาน” เป็น 1 ในอันตรธาน 5 คือ (1) อธิคมอันตรธาน (2) ปฏิปัตติอันตรธาน (3) ปริยัตติอันตรธาน (4) ลิงคอันตรธาน (5) ธาตุอันตรธาน
…………..
“อธิคมอันตรธาน” ประกอบด้วยคำว่า อธิคม + อันตรธาน
(๑) “อธิคม”
บาลีอ่านว่า อะ-ทิ-คะ-มะ รากศัพท์มาจาก อธิ (คำอุปสรรค = ยิ่ง, ใหญ่, ทับ) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + อ (อะ) ปัจจัย
: อธิ + คมฺ = อธิคมฺ + อ = อธิคม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การถึงทับ”
“อธิคม” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การบรรลุ, การได้มา (attainment, acquisition)
(2) ความรู้, สิ่งที่ได้รู้มา, การศึกษา (knowledge, information, study)
ในที่นี้ “อธิคม” ใช้ในความหมายว่า การบรรลุธรรม
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อธิคม : (คำนาม) การบรรลุ, ความสําเร็จ, การได้. (ป., ส.).”
(๒) “อันตรธาน”
เขียนแบบบาลีเป็น “อนฺตรธาน” อ่านว่า อัน-ตะ-ระ-ทา-นะ ประกอบด้วย อนฺตร + ธาน
(ก) “อนฺตร” บาลีอ่านว่า อัน-ตะ-ระ รากศัพท์มาจาก อติ (ธาตุ = ผูก) + อร ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (อติ > อต), ลงนิคหิตอาคมต้นธาตุแล้วแปลงเป็น น (อติ > อํติ > อนฺติ)
: อติ > อํติ > อนฺติ > อนฺต + อร = อนฺตร แปลตามศัพท์ว่า “จุดที่ผูกสองข้างไว้” คือ มีข้างหนึ่ง แล้วก็มีอีกข้างหนึ่ง จากข้างหนึ่งไปถึงอีกข้างหนึ่งนี้แหละมีสิ่งหนึ่งผูกเอาไว้ สิ่งนั้นเรียกว่า “อนฺตร” = ระหว่างสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง หมายถึง ภายใน, ระหว่าง, ช่องวางระหว่าง (inside, in between, a space between)
(ข) “ธาน” บาลีอ่านว่า ทา-นะ รากศัพท์มาจาก ธา (ธาตุ = ทรงไว้, ปิดกั้น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ธา + ยุ > อน = ธาน แปลตามศัพท์ว่า “การทรงไว้” “การปิดกั้น”หมายถึง ทรงไว้, ถือไว้, บรรจุไว้ (holding, containing) ถ้าเป็นคำนาม หมายถึง ภาชนะที่รองรับ, กระปุก (a receptacle)
อนฺตร + ธาน = อนฺตรธาน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ทรงอยู่ในระหว่าง” (คือเข้ามาปิดกั้นไว้ทำให้มองไม่เห็น) หมายถึง การหาย หรือสูญหายไป (disappearance)
“อนฺตรธาน” ในภาษาไทยเขียน “อันตรธาน”
โปรดสังเกตและระวัง “-ธาน” น หนู สะกด ไม่ใช่ “-ธาร” ร เรือ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อันตรธาน : (คำกริยา) สูญหายไป, ลับไป. (ป., ส.).”
อธิคม + อนฺตรธาน = อธิคมอนฺตรธาน บาลีอ่านว่า อะ-ทิ-คะ-มะ-อัน-ตะ-ระ-ทา-นะ แปลว่า “การสูญหายไปแห่งการบรรลุธรรม” หมายถึง ไม่มีผู้ใดสามารถบรรลุมรรคผลได้
ขยายความ :
ท่านว่า พระพุทธศาสนาของเรานี้ เมื่อกาลเวลาล่วงไปก็จะเกิดอันตรธาน คือเสื่อมสูญไปตามลำดับ กล่าวคือ (1) อธิคมอันตรธาน (2) ปฏิปัตติอันตรธาน (3) ปริยัตติอันตรธาน (4) ลิงคอันตรธาน (5) ธาตุอันตรธาน
“อธิคมอันตรธาน” หรือ “การสูญหายไปแห่งการบรรลุธรรม” คัมภีร์อรรถกถาบรรยายไว้ดังนี้ –
…………..
ตตฺถ อธิคโมติ จตฺตาโร มคฺคา จตฺตาริ ผลานิ จตสฺโส ปฏิสมฺภิทา ติสฺโส วิชฺชา ฉ อภิญฺญาติ ฯ
ในอันตรธาน 5 อย่างนั้น มรรค 4 ผล 4 ปฏิสัมภิทา 4 วิชชา 3 อภิญญา 6 ชื่อว่า อธิคม
โส ปริหายมาโน ปฏิสมฺภิทาโต ปฏฺฐาย ปริหายติ ฯ
อธิคมนั้น เมื่อจะเสื่อม (หมายถึงไม่มีใครสามารถบรรลุได้) ย่อมเสื่อมตั้งแต่ปฏิสัมภิทาเป็นต้นไป
พุทฺธานํ หิ ปรินิพฺพานโต วสฺสสหสฺสเมว ปฏิสมฺภิทา นิพฺพตฺเตตุํ น สกฺโกนฺติ
เป็นความจริง นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 1,000 ปีเท่านั้น ก็ไม่มีใครสามารถปฏิบัติธรรมจนบรรลุปฏิสัมภิทาได้
ตโต ปรํ ฉ อภิญฺญา
ต่อแต่นั้นก็อภิญญา 6
ตโต ตาปิ นิพฺพตฺเตตุํ อสกฺโกนฺตา ติสฺโส วิชฺชา นิพฺพตฺเตนฺติ ฯ
ต่อแต่นั้น เมื่อไม่สามารถบรรลุอภิญญาได้ ก็บรรลุแค่วิชชา 3
คจฺฉนฺเต คจฺฉนฺเต กาเล ตาปิ นิพฺพตฺเตตุํ อสกฺโกนฺตา สุกฺขวิปสฺสกา โหนฺติ ฯ
ครั้นกาลล่วงไป ๆ ก็ไม่สามารถบรรลุวิชชา 3 ได้ เป็นได้เพียงพระอรหันต์สุกขวิปัสสก (สุก-ขะ-วิ-ปัด-สก, ผู้หมดกิเลส แต่ไม่มีคุณวิเศษอื่นใด)
เอเตเนว อุปาเยน อนาคามิโน สกทาคามิโน โสตาปนฺนาติ ฯ
มรรคผลเสื่อมไปโดยทำนองนี้ (คือในที่สุดพระอรหันต์ก็หมด ค่อยลดลงไป) เหลือแต่พระอนาคามี พระสกทาคามี (จนในที่สุด) ก็เหลือแต่พระโสดาบัน
เตสุ ธรมาเนสุ อธิคโม อนฺตรหิโต นาม น โหติ ฯ
ท่านผู้เป็นโสดาบันยังทรงชีพอยู่ อธิคมก็ยังไม่อันตรธาน
ปจฺฉิมกสฺส โสตาปนฺนสฺส ชีวิตกฺขเยน อธิคโม อนฺตรหิโต นาม โหตีติ ฯ
ต่อท่านผู้เป็นโสดาบันคนสุดท้ายสิ้นชีพ อธิคมก็เป็นอันว่าอันตรธาน ด้วยประการฉะนี้
อิทํ อธิคมอนฺตรธานํ นาม.
นี้ชื่อว่า อธิคมอันตรธาน
ที่มา: มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตรนิกาย ภาค 1 หน้า 116-117
…………..
ดูก่อนภราดา!
: น่าอนาถใจ
: ถ้าเราปล่อยให้มรรคผลเสื่อมสูญไปทั้งๆ ที่รู้ทั้งๆ ที่เห็น
#บาลีวันละคำ (3,600)
21-4-65
…………………………….
…………………………….