บาลีวันละคำ

ปฏิปัตติอันตรธาน (บาลีวันละคำ 3,601)

ปฏิปัตติอันตรธาน

อันตรธานที่ 2-ปฏิบัติธรรมสูญ

อ่านว่า ปะ-ติ-ปัด-ติ-อัน-ตะ-ระ-ทาน

ปฏิปัตติอันตรธาน” เป็น 1 ในอันตรธาน 5 คือ (1) อธิคมอันตรธาน (2) ปฏิปัตติอันตรธาน (3) ปริยัตติอันตรธาน (4) ลิงคอันตรธาน (5) ธาตุอันตรธาน 

ปฏิปัตติอันตรธาน” ประกอบด้วยคำว่า ปฏิปัตติ + อันตรธาน

(๑) “ปฏิปัตติ” 

เขียนแบบบาลีเป็น “ปฏิปตฺติ” อ่านว่า ปะ-ติ-ปัด-ติ รากศัพท์มาจาก ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + ปทฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, บรรลุ) + ติ ปัจจัย, แปลงที่สุดธาตุเป็น ตฺ (ปทฺ > ปตฺ

: ปฏิ + ปทฺ = ปฏิปทฺ + ติ = ปฏิปทฺติ > ปฏิปตฺติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความถึงเฉพาะ” “ที่ไปเฉพาะ” หมายถึง ทาง, วิธี, การปฏิบัติ, วิธีปฏิบัติ, การกระทำ, พฤติการณ์หรือความประพฤติ, ตัวอย่าง (way, method, conduct, practice, performance, behaviour, example)

ปฏิปตฺติ” ในภาษาไทยใช้ว่า “ปฏิบัติ” (ตัด ออกตัวหนึ่ง และแผลง ปลา เป็น ใบไม้) อ่านว่า ปะ-ติ-บัด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

ปฏิบัติ : (คำกริยา) ดําเนินการไปตามระเบียบแบบแผน เช่น ปฏิบัติราชการ, กระทําเพื่อให้เกิดความชํานาญ เช่น ภาคปฏิบัติ; กระทําตาม เช่น ปฏิบัติตามสัญญา; ประพฤติ เช่น ปฏิบัติสมณธรรม ปฏิบัติต่อกัน; ปรนนิบัติรับใช้ เช่น ปฏิบัติบิดามารดา ปฏิบัติครูบาอาจารย์. (ป. ปฏิปตฺติ).”

ในที่ใช้คงรูปเดิมเป็น “ปฏิปัตติ

…………..

เพื่อให้เข้าใจคำว่า “ปฏิปตฺติ” กว้างขวางขึ้น ขอนำคำว่า “ปฏิปตฺติธมฺม” (ปะ-ติ-ปัด-ติ-ทำ-มะ) ซึ่งแปลว่า “ธรรมคือการปฏิบัติ” มาอธิบายแทรกเพิ่มไว้ในที่นี้

หลักความเข้าใจในคำว่า “ปฏิปตฺติธมฺม” ก็คือ พระพุทธพจน์คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นเมื่อศึกษาเข้าใจดีแล้วต้องนำไปปฏิบัติให้เกิดผลจริง 

กล่าวสั้นว่า มิใช่เพียงแค่เรียนเพื่อรู้ แต่ต้องลงมือทำ

ในบาลี คำที่ใช้แทน “ปฏิปตฺติธมฺม” มีอีก 2 คำ คือ –

ปฏิปตฺติสทฺธมฺม” (ปะ-ติ-ปัด-ติ-สัด-ทำ-มะ) = ธรรมอันดีคือปฏิปทาอันจะต้องปฏิบัติ 

ปฏิปตฺติสาสน” (ปะ-ติ-ปัด-ติ-สา-สะ-นะ) = ศาสนาคือปฏิปทาอันจะต้องปฏิบัติ 

คำในชุดนี้มี 3 คำ คือ –

(ปริยัตติปฏิปัตติปฏิเวธ– สะกดตามบาลี)

(1) ปริยัตติธรรม (ปะ-ริ-ยัด-ติ-ทำ) คือคำสั่งสอนอันจะต้องเล่าเรียน ได้แก่ พุทธพจน์

(2) ปฏิปัตติธรรม (ปะ-ติ-ปัด-ติ-ทำ) คือปฏิปทาอันจะต้องปฏิบัติ ได้แก่ อัฏฐังคิกมรรค หรือ ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

(3) ปฏิเวธธรรม (ปะ-ติ-เว-ทะ-ทำ) คือผลอันจะพึงเข้าถึงหรือบรรลุด้วยการปฏิบัติ ได้แก่ มรรค ผล และนิพพาน

มักพูดกันสั้นๆ ว่า ปริยัติ (ปะ-ริ-ยัด) ปฏิบัติ (ปะ-ติ-บัด) ปฏิเวธ (ปะ-ติ-เวด)

ปฏิปตฺติสทฺธมฺม” > “ปฏิปตฺติธมฺม” เขียนแบบไทยเป็น “ปฏิปัตติธรรม” ถ้าตัด ออกตัวหนึ่งตามลักนิยมก็จะเป็น “ปฏิปัติธรรม” อ่านว่า ปะ-ติ-ปัด-ติ-ทำ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “ปฏิบัติธรรม” อ่านว่า ปะ-ติ-บัด-ทำ บอกความหมายไว้ว่า –

ปฏิบัติธรรม : (คำกริยา) ประพฤติตามธรรม; เจริญภาวนา.”

ปฏิบัติธรรม” กับ “ปฏิปัตติธรรม” ถ้าไม่สังเกตอาจเข้าใจว่าเป็นคำเดียวกัน แต่ความจริงเป็นคนละคำคนละความหมาย 

ปฏิบัติธรรม” เป็นคำประสมแบบไทย “ปฏิบัติ” เป็นกริยา “ธรรม” เป็นกรรม คือสิ่งที่ถูกปฏิบัติ แปลจากหน้าไปหลัง คือ ปฏิบัติ > ธรรม แบบเดียวกับคำว่า “ปฏิบัติราชการ”

ส่วน “ปฏิปัตติธรรม” เป็นคำนาม แปลจากหลังมาหน้า คือแปลว่า ธรรมคือปฏิปทาอันจะต้องปฏิบัติ หรือแปลสั้นว่า “ธรรมคือการปฏิบัติ

…………..

(๒) “อันตรธาน” 

เขียนแบบบาลีเป็น “อนฺตรธาน” อ่านว่า อัน-ตะ-ระ-ทา-นะ ประกอบด้วย อนฺตร + ธาน

(ก) “อนฺตร” บาลีอ่านว่า อัน-ตะ-ระ รากศัพท์มาจาก อติ (ธาตุ = ผูก) + อร ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (อติ > อต), ลงนิคหิตอาคมต้นธาตุแล้วแปลงเป็น (อติ > อํติ > อนฺติ

: อติ > อํติ > อนฺติ > อนฺต + อร = อนฺตร แปลตามศัพท์ว่า “จุดที่ผูกสองข้างไว้” คือ มีข้างหนึ่ง แล้วก็มีอีกข้างหนึ่ง จากข้างหนึ่งไปถึงอีกข้างหนึ่งนี้แหละมีสิ่งหนึ่งผูกเอาไว้ สิ่งนั้นเรียกว่า “อนฺตร” = ระหว่างสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง หมายถึง ภายใน, ระหว่าง, ช่องวางระหว่าง (inside, in between, a space between)

(ข) “ธาน” บาลีอ่านว่า ทา-นะ รากศัพท์มาจาก ธา (ธาตุ = ทรงไว้, ปิดกั้น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) 

: ธา + ยุ > อน = ธาน แปลตามศัพท์ว่า “การทรงไว้” “การปิดกั้น”หมายถึง ทรงไว้, ถือไว้, บรรจุไว้ (holding, containing) ถ้าเป็นคำนาม หมายถึง ภาชนะที่รองรับ, กระปุก (a receptacle) 

อนฺตร + ธาน = อนฺตรธาน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ทรงอยู่ในระหว่าง” (คือเข้ามาปิดกั้นไว้ทำให้มองไม่เห็น) หมายถึง การหาย หรือสูญหายไป (disappearance)

อนฺตรธาน” ในภาษาไทยเขียน “อันตรธาน” 

โปรดสังเกตและระวัง “-ธาน หนู สะกด ไม่ใช่ “-ธาร” ร เรือ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อันตรธาน : (คำกริยา) สูญหายไป, ลับไป. (ป., ส.).”

ปฏิปตฺติ + อนฺตรธาน = ปฏิปตฺติอนฺตรธาน บาลีอ่านว่า ปะ-ติ-ปัด-ติ-อัน-ตะ-ระ-ทา-นะ แปลว่า “การสูญหายไปแห่งการปฏิบัติธรรม” หมายถึง ไม่มีผู้ใดมีฉันทะอุตสาหะที่จะรักษาศีลปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุมรรคผลอีกต่อไป

ปฏิปตฺติอนฺตรธาน” เขียนแบบไทยเป็น “ปฏิปัตติอันตรธาน” อ่านว่า ปะ-ติ-ปัด-ติ-อัน-ตะ-ระ-ทาน (ระวังอย่าอ่านผิดเป็น ปะ-ติ-บัด-อัน-ตะ-ระ-ทาน, -ปัตติ- ป ปลา ไม่ใช่ -บัติ- บ ใบไม้)

ขยายความ :

ท่านว่า พระพุทธศาสนาของเรานี้ เมื่อกาลเวลาล่วงไปก็จะเกิดอันตรธาน คือเสื่อมสูญไปตามลำดับ กล่าวคือ (1) อธิคมอันตรธาน (2) ปฏิปัตติอันตรธาน (3) ปริยัตติอันตรธาน (4) ลิงคอันตรธาน (5) ธาตุอันตรธาน 

ปฏิปัตติอันตรธาน” หรือ “การสูญหายไปแห่งการปฏิบัติธรรม” คัมภีร์อรรถกถาบรรยายไว้ดังนี้ –

…………..

ปฏิปตฺติอนฺตรธานํ  นาม  ฌานวิปสฺสนามคฺคผลานิ  นิพฺพตฺเตตุํ  อสกฺโกนฺตา  จาตุปาริสุทฺธิสีลมตฺตํ  รกฺขนฺติ  ฯ

อันว่าปฏิปัตติอันตรธาน (จักเกิดขึ้นด้วยอาการดังนี้ คืออันดับแรก) ภิกษุไม่สามารถจะปฏิบัติธรรมให้บรรลุฌาน วิปัสสนา มรรค และผลได้ ก็จะรักษาเพียงจาตุปาริสุทธิศีล

…………………………………..

จาตุปาริสุทธิศีล : ความประพฤติบริสุทธิ์ที่จัดเป็นศีล มี ๔ อย่าง คือ 

๑. ปาติโมกขสังวรศีล ศีลคือความสำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นจากข้อห้ามทำตามข้ออนุญาต ประพฤติเคร่งครัดในสิกขาบททั้งหลาย 

๒. อินทรียสังวรศีล ศีลคือความสำรวมอินทรีย์ ระวังไม่ให้บาปอกุศลธรรมครอบงำ เมื่อรับรู้อารมณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง ๖ 

๓. อาชีวปาริสุทธิศีล ศีลคือความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะ เลี้ยงชีวิตโดยทางสุจริตชอบธรรม เช่น ไม่หลอกลวงเขาเลี้ยงชีพ 

๔. ปัจจยสันนิสิตศีล ศีลอันเนื่องด้วยปัจจัย ๔ ได้แก่ปัจจัยปัจจเวกขณ์ คือพิจารณาใช้สอยปัจจัยสี่ ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ตามความหมายของสิ่งนั้น ไม่บริโภคด้วยตัณหา

-พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต

…………………………………..

คจฺฉนฺเต  คจฺฉนฺเต  กาเล  สีลํ  ปริปุณฺณํ  กตฺวา  รกฺขาม  ปธานญฺจ  อนุยุญฺชาม  น  จ  มคฺคํ  วา  ผลํ  วา  สจฺฉิกาตุํ  สกฺโกม  นตฺถิ  อิทานิ  อริยธมฺมปฏิเวโธติ …

เมื่อกาลล่วงไปๆ ภิกษุทั้งหลายคิดว่า ถึงเราจะรักษาศีลให้บริบูรณ์และประกอบความเพียรเนืองๆ แต่ก็ไม่สามารถจะทำให้แจ้งมรรคผลได้ บัดนี้การรู้แจ้งแทงตลอดอริยธรรมเป็นอันไม่มีแล้ว …

โวสานํ  อาปชฺชิตฺวา  โกสชฺชพหุลา  อญฺญมญฺญํ  น  โจเทนฺติ  น  สาเรนฺติ  อกุกฺกุจฺจกา  โหนฺติ

เมื่อคิดดังนี้ ก็พากันท้อใจ มากไปด้วยความเกียจคร้าน ไม่ทักท้วงตักเตือนกันและกัน (ใครประพฤติบกพร่อง) ก็ไม่รังเกียจกัน

ตโต  ปฏฺฐาย  ขุทฺทานุขุทฺทกานิ  มทฺทนฺติ  ฯ

ตั้งแต่นั้นก็พากันย่ำยีสิกขาบทเล็กน้อย

(ดังที่นิยมอ้างกันในเวลานี้ว่า-อาบัติก็แค่ทุกกฎ!!)

คจฺฉนฺเต  คจฺฉนฺเต  กาเล  ปาจิตฺติยถุลฺลจฺจยานิ  อาปชฺชนฺติ

เมื่อกาลล่วงไปๆ (ก็ไม่หยุดแค่ทุกกฎ แต่เหยียบย่ำลุกลาม) ไปถึงอาบัติปาจิตตีย์และถุลลัจจัย

ตโต  ครุกาปตฺตึ  ฯ

ต่อแต่นั้นก็ลามไปถึงครุกาบัติ (คืออาบัติสังฆาทิเสสซึ่งหนักรองลงมาจากปาราชิก)

ปาราชิกมตฺตเมว  ติฏฺฐติ  ฯ

เพียงอาบัติปาราชิกเท่านั้นที่ยังคงรักษากันไว้ได้

จตฺตาริ  ปาราชิกานิ  รกฺขนฺตานํ  ภิกฺขูนํ  สเตปิ  สหสฺเสปิ  ธรมาเน  ปฏิปตฺติ  อนฺตรหิตา  นาม  น  โหติ  ฯ

ภิกษุผู้รักษาอาบัติปาราชิกไว้ได้ยังทรงชีพอยู่ จะเป็นร้อยรูปหรือพันรูปก็ตาม ปฏิปัตติธรรมชื่อว่ายังไม่อันตรธาน

ปจฺฉิมกสฺส  ปน  ภิกฺขุโน  สีลเภเทน  วา  ชีวิตกฺขเยน  วา  อนฺตรหิตา  โหตีติ

ต่อเมื่อภิกษุรูปสุดท้ายละเมิดศีลหรือสิ้นชีวิต ปฏิปัตติธรรมก็เป็นอันว่าอันตรธาน ด้วยประการฉะนี้

อิทํ  ปฏิปตฺติอนฺตรธานํ  นาม.

นี้ชื่อว่า ปฏิปัตติอันตรธาน

ที่มา: มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตรนิกาย ภาค 1 หน้า 117

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เพราะคิดว่า “อาบัติก็แค่ทุกกฏ”

: ในที่สุดก็เลยหมดทั้งสองร้อยยี่สิบเจ็ด

#บาลีวันละคำ (3,601)

22-4-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *