นันทนาการ (บาลีวันละคำ 3,584)
นันทนาการ
เลิกใช้ “สันทนาการ” ไปตั้งนานแล้ว
อ่านว่า นัน-ทะ-นา-กาน
ประกอบด้วยคำว่า นันทน + อาการ
(๑) “นันทน”
เขียนแบบบาลีเป็น “นนฺทน” อ่านว่า นัน-ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก นนฺทฺ (ธาตุ = ยินดี) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: นนฺทฺ + ยุ > อน = นนฺทน แปลตามศัพท์ว่า “การยินดี” “ที่ที่น่ายินดี” หมายถึง ความรื่นเริง, ความยินดี, ความรื่นรมย์ (rejoicing, delight, pleasure)
บาลี “นนฺทน” สันสกฤตก็เป็น “นนฺทน”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้-
(สะกดตามต้นฉบับ)
“นนฺทน : (คำนาม) น. การทำให้ปรีติยินดีหรือเปนสุข, การทำให้รื่นรมย์; บุตร; กบ; พระวิษณุ; เกลิกานนหรือกรีโฑทยานของพระอินทร์; ธฤติฉันท์อยางหนึ่ง; บุตรี; making pleased or happy, delighting; a son; a flog; Vishṇu; Indra’s pleasure-ground; a species of the Dhṛiti metre; a daughter.
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “นนท์” และ “นันทน์” บอกไว้ดังนี้-
“นนท์, นันทน์ : (คำนาม) ความสนุก, ความยินดี, ความรื่นเริง. (ป., ส.).”
(๒) “อาการ”
บาลีอ่านว่า อา-กา-ระ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีหธ อะ ที่ ก-(รฺ) เป็น อา (กร > การ)
: อา + กรฺ = อากรฺ + ณ = อากรณ > อากร > อาการ แปลตามศัพท์ว่า “การทำทั่วไป” “ผู้ทำทั่วไป”
“อาการ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ภาวะ, สภาพ (state, condition)
(2) คุณสมบัติ, คุณภาพ, ลักษณะประจำตัว (property, quality, attribute)
(3) ลักษณะ, รูปร่างหน้าตา, รูป (sign, appearance, form)
(4) วิธี, รูปลักษณะ, อาการ (way, mode, manner)
(5) เหตุผล, หลักฐาน, เรื่องราว (reason, ground, account)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “อาการ” ในภาษาสันสกฤตไว้ว่า –
“อาการ : (คำนาม) การกล่าวท้วง; ลักษณะ; รูป; a hint; a sign or token; form.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “อาการ” ไว้ว่า –
(1) ความเป็นอยู่, ความเป็นไป, สภาพ, เช่น อาการไข้.
(2) กิริยาท่าทาง เช่น อาการพิรุธ.
(3) ลักษณะเดียวกัน เช่น โดยอาการนั้น.
(4) ส่วนของร่างกายซึ่งนิยมว่ามี 32 อย่าง เรียกว่า อาการ 32 มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น.
นันทน + อาการ = นันทนาการ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นันทนาการ : (คำนาม) กิจกรรมที่ทําตามสมัครใจในยามว่าง เพื่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินและผ่อนคลายความตึงเครียด, การสราญใจ. (อ. recreation).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “นันทนาการ” บัญญัติจากคำอังกฤษว่า recreation
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล recreation เป็นบาลีดังนี้ –
(1) vissamana วิสฺสมน (วิด-สะ-มะ-นะ) = การพักผ่อน, การหยุดพัก
(2) balāharaṇa พลาหรณ (พะ-ลา-หะ-ระ-นะ) = การออกกำลัง, การเพิ่มกำลัง
(3) vinoda วิโนท (วิ-โน-ทะ) = การผ่อนคลาย, การบรรเทา
ถ้าตั้งหลักด้วยคำอังกฤษว่า recreation บัญญัติเป็นคำไทยว่า “นันทนาการ”
ตามไปดูคำบาลี “นนฺทน” แปลเป็นคำอังกฤษว่า rejoicing, delight, pleasure
ไม่มีคำว่า recreation
ตามไปดู recreation แปลเป็นบาลีว่า “วิสฺสมน” “พลาหรณ” “วิโนท”
ไม่มีคำว่า “นนฺทน”
เราก็จะเห็นวิธีคิดคำ วิธีหาความหมาย วิธีบัญญัติศัพท์ในแต่ละภาษา และยืดยาวไปถึงจินตนาการของมนุษย์
ถ้าคนไทยคุ้นกับคำว่า “วิสฺสมน” เหมือนที่คุ้นกับคำว่า “นนฺทน” เราอาจจะบัญญัติ recreation เป็นคำไทยว่า “วิสมนาการ”
แต่ตอนนี้ถ้าใครคิดคำว่า “วิสมนาการ” ก็จะถูกมองว่าพิลึก คำอะไร ไม่เห็นมีใครรู้จัก
ดังนี้ จะเห็นได้ว่า ถ้าคนของเราศึกษาเรียนรู้ภาษาให้กว้างขวาง-เช่นรู้คำบาลีมากขึ้น-ภาษาของเราก็จะมีคำงามๆ เพราะๆ เพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมาก
ขยายความ :
“นันทนาการ” เป็นศัพท์บัญญัติจากคำอังกฤษว่า recreation
หน้า “คลังความรู้” ของราชบัณฑิตยสภา มีคำว่า “นันทนาการ” เผยแพร่เมื่อ 8 มีนาคม 2556 (ตอนนั้นยังเป็น “ราชบัณฑิตยสถาน”) ขอยกมาเสนอไว้ในที่นี้ตามต้นฉบับ ดังนี้
…………..
นันทนาการ
คำถามหนึ่งที่ราชบัณฑิตยสถานได้รับซึ่งติดอันดับคำถามบ่อย คือ คำถามเกี่ยวกับคำ สันทนาการ กับ นันทนาการ เช่น เดิมเคยใช้ สันทนาการ เหตุใดจีงเปลี่ยนมาใช้ นันทนาการ สันทนาการ กับ นันทนาการ มีความหมายเหมือนกันหรือไม่ คำว่า recreation ใช้ภาษาไทยว่าอะไร
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ เก็บคำว่า นันทนาการ ไว้ แต่ไม่เก็บคำว่า สันทนาการ นันทนาการ หมายถึง กิจกรรมที่ทำตามสมัครใจในยามว่าง เพื่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินและผ่อนคลายความตึงเครียด การสราญใจ นันทนาการ ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า recreation ในส่วนของคำว่า สันทนาการ นั้น มีผู้ใช้แทนคำว่า recreation เช่นกัน สันทนาการ เป็นคำที่คณะกรรมการพิจารณาศัพท์วิชาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้บัญญัติขึ้นใช้ก่อน คณะกรรมการชุดนี้ มีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๕ แล้ว แต่ใช้ชื่อว่า คณะกรรมการพิจารณาบัญญัติศัพท์ภาษาไทยที่เกี่ยวกับการศึกษา ต่อมา ได้ระงับการประชุมไป ใน พ.ศ. ๒๕๐๔ กระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาศัพท์วิชาการศึกษาให้มีหน้าที่พิจารณาเสนอศัพท์วิชาการศึกษาไปยังคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยของราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งศัพท์คำหนึ่ง คือ สันทนาการ บัญญัติมาจากคำว่า recreation คณะกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยพิจารณาแล้วเห็นควรให้ใช้ว่า นันทนาการ แทน และกำหนดให้ใช้อีกคำหนึ่งว่า การสราญใจ นันทนาการ ประกอบด้วย นันทน แปลว่า เพลิดเพลินใจ กับ อาการ คำว่า นันทนาการ จึงแปลว่า อาการที่เพลิดเพลินใจ ซึ่งตรงกับความหมายของคำว่า recreation ส่วนคำว่า สันทนะ พจนานุกรมฯ ให้ความหมายว่า รถ หรือ รถศึก
การที่ยังมีผู้ใช้คำว่า สันทนาการ อยู่ อาจจะเนื่องมาจากไม่ทราบว่ามีการบัญญัติศัพท์ นันทนาการ ใช้แทน สันทนาการ แล้ว ดังนั้น คำที่ถูกต้องคือ กิจกรรมนันทนาการ อาคารนันทนาการ ห้องนันทนาการ
…………..
ผู้เขียนบาลีวันละคำนึกถึงคำว่า “สังสรรค์” ที่หมายถึง พบปะวิสาสะกันเป็นครั้งคราวด้วยความสนิทสนม คำนี้เคยมีคนพยายามสะกดเป็น “สังสันทน์” และมีคนใช้ตามกันอยู่พักหนึ่ง เวลานี้ก็น่าจะยังมีคนหลงใช้แบบนี้อยู่บ้าง
“สังสันทน์” ตัดพยางค์ “สัง-” ออก ก็จะเป็น “-สันทน์” หรือ “สันทน” + อาการ ก็จะเป็น “สันทนาการ” สันนิษฐานว่า ผู้ที่คิดบัญญัติคำนี้ในตอนแรกน่าจะคิดแบบนี้ จึงเกิดคำ “สันทนาการ” ขึ้นมา
โปรดทราบว่า คำว่า “สันทนาการ” ไม่ได้มีความหมายตรงกับคำอังกฤษว่า recreation แต่ประการใดทั้งสิ้น
ใครที่ยังใช้ว่า “สันทนาการ” โปรดทราบว่าคำนี้เลิกใช้แล้ว
เป็นเรื่องน่าสังเกตอย่างหนึ่ง คำที่เลิกใช้แล้ว มีคำใหม่ใช้แทนแล้ว แต่คนเป็นอันมากก็ยังยึดอยู่กับคำเดิมไม่ยอมปล่อย “สันทนาการ” เป็นคำหนึ่งที่เป็นตัวอย่าง เขาให้ใช้ว่า “นันทนาการ” กันมาตั้งนานแล้ว แต่คนเป็นอันมาก-แม้แต่คนรุ่นใหม่แท้ๆ ก็ยังหลงใช้ “สันทนาการ” อยู่นั่นแล้ว
ในขณะที่วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตแบบเดิมเป็นอันมากที่เป็นเรื่องดีงาม คนเป็นอันมากกลับละทิ้ง พากันประพฤติตัวทำตนแบบใหม่ห่างไกลวัฒนธรรมไทยไปทุกที
คงมีคนอยากบอกว่า คำอะไร หรืออะไรก็ตามที่คนนิยมกันมากๆ ก็ควรจะใช้คำนั้นหรือทำตามที่สังคมนิยมเช่นนั้น
แนวคิดนี้น่าจะมีผู้เห็นด้วยอยู่มาก แต่พึงระลึกเถิดว่า แนวคิดเช่นนี้ก็เท่ากับส่งเสริมให้คนของเราไม่ต้องศึกษาเรียนรู้อะไร ให้ใช้แต่ความพอใจหรือความชอบใจของตนเองเป็นเกณฑ์เท่านั้นพอ
ถ้าสังคมของเรามีแต่สมาชิกที่มีนิสัยเช่นนี้ – ไม่เรียนรู้ ไม่รับรู้กฎเกณฑ์ ทำอะไรก็ใช้ความพอใจส่วนตัวเป็นเกณฑ์
บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เจอคนเคารพกฎ หมดปัญหา
: เจอคนแหกกฎ หมดปัญญา
#บาลีวันละคำ (3,584)
5-4-65
…………………………….
…………………………….