บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ไม่จำเป็นต้องตามสังคมไปเสียทุกเรื่อง

ไม่จำเป็นต้องตามสังคมไปเสียทุกเรื่อง

………………………………………

ศึกษาคำว่า “พุทธภูมิ” เป็นตัวอย่าง

คำผิดกลายเป็นถูกและต่อไปคำถูกจะกลายเป็นผิด

………………………………………

คำว่า “พุทธภูมิ” ตามความหมายในคัมภีร์ หมายถึง การได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เช่นคำที่พูดว่า “ปรารถนาพุทธภูมิ” หมายถึงปรารถนาที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พุทฺธภูมิ” ว่า the ground of Buddhahood (ภูมิแห่งความเป็นพุทธะ)

ปัจจุบันเมื่อพูดว่า “พุทธภูมิ” จะไม่มีใครเข้าใจว่าอีกแล้วว่าหมายถึง “การได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า” เนื่องจากมีผู้ใช้คำว่า “พุทธภูมิ” ในความหมายว่า “แผ่นดินของพระพุทธเจ้า” หรือ “ดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา” และหมายถึงประเทศอินเดียอันเป็นดินแดนต้นกำเนิดพระพุทธศาสนา ดังที่นิยมพูดกันว่า “ท่องแดนพุทธภูมิ” ในความหมายว่าเที่ยวไปในประเทศอินเดีย

ผู้ใช้คำว่า “พุทธภูมิ” ในภาษาไทย อาจไม่ทันได้คิดหรืออาจจะไม่ทราบถึงความหมายเดิมของคำว่า “พุทธภูมิ” ในภาษาบาลี เห็นว่ารูปคำฟังดูดีและมีความหมายตรงตามที่ต้องการในภาษาไทย จึงใช้คำนี้

เมื่อคนติดความหมายของ “พุทธภูมิ” ว่าคือ “แผ่นดินของพระพุทธเจ้า” หรือ “ดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา” ซึ่งหมายถึงประเทศอินเดียอันเป็นดินแดนต้นกำเนิดพระพุทธศาสนากันมากเข้า ต่อไปถ้าใครใช้คำว่า “พุทธภูมิ” ในความหมายเดิม คือ “ภาวะแห่งพระพุทธเจ้า” หรือการได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ก็อาจจะถูกมองว่าใช้คำผิดความหมาย เพราะคนส่วนมากไม่เข้าใจความหมายเดิม

คำผิดกลายเป็นถูก และคำถูกกลายเป็นผิด จึงเกิดมีขึ้นได้ด้วยประการฉะนี้

ทั้งๆ ที่รู้แล้วอย่างนี้ เรายังจะพลอยเป็นไปกับเขาด้วยไหม?

ถ้าเราบอกว่า เมื่อสังคมนิยมกันอย่างนั้น เรายังอยู่ในสังคมก็ต้องนิยมตามเขา

ถ้าเช่นนั้น ต่อไปสังคมเขานิยมฆ่ากัน คดโกงกัน สำส่อนทางเพศกัน โกหกกัน ฯลฯ เราก็ต้องนิยมตามไปด้วย ใช่ไหม?

ถึงขั้นนี้ หลายคนคงจะมีข้อแม้ … มันก็ต้องดูด้วยว่าอะไรเป็นอะไร เราไม่จำเป็นต้องตามสังคมไปเสียทุกเรื่อง

ขึ้นอยู่กับว่า เรามีหลักของเราหรือเปล่า และหลักของเรานั้นถูกต้องเหมาะสมแค่ไหน

ถ้าเราจะเห็นตามสังคมว่า พุทธภูมิคือประเทศอินเดีย เราก็ต้องมีเหตุผลที่มากกว่า-เพราะสังคมเขานิยมกันอย่างนั้น

เห็นหรือไม่ว่า ในที่สุดแล้วเราก็สามารถตั้งข้อแม้หรือเงื่อนไขของเราเองได้ ไม่จำเป็นต้องตามสังคมไปเสียทุกเรื่อง

………………………………………

หมายเหตุ: ภาษาบาลีที่ประสงค์ตามภาพประกอบ คือข้อความดังนี้ –

ปฏิสมฺภิทา  วิโมกฺขา  จ

ยา  จ  สาวกปารมี

ปจฺเจกโพธิ  พุทฺธภูมิ

สพฺพเมเตน  ลพฺภติ ฯ

แปลเป็นไทยดังนี้ –

ปฏิสัมภิทา วิโมกข์ 

สาวกบารมี 

ปัจเจกโพธิ และพุทธภูมิ อันใด

อิฐผลทั้งหมดนั้นอันบุคคลย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้

ที่มา: นิธิกัณฑ์ ขุททกปาฐะ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๙

………………………………………

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๕ เมษายน ๒๕๖๕

๑๘:๔๕

………………………………………

ไม่จำเป็นต้องตามสังคมไปเสียทุกเรื่อง

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *