บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๒-กรุณา

แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๒-กรุณา

———————————–

๒ แผ่กรุณา

แผ่เมตตาข้อที่ ๒ หมายถึงแผ่ “กรุณา” อันเป็นพรหมวิหารธรรมข้อที่ ๒ 

………………………………………

ขอทบทวนนิดหนึ่ง – ความเป็นไปของ “สัพเพ สัตตา” หรือเพื่อนร่วมโลก เมื่อประมวลแล้วก็มีอยู่ ๔ ลักษณะ คือ –

๑ เป็นปกติ

๒ เป็นทุกข์

๓ เป็นสุข

๔ เป็นไปตามสภาวะ 

………………………………………

ท่านให้แผ่กรุณาเมื่อเห็นเพื่อนร่วมโลกตกอยู่ในสภาพเป็นทุกข์

คำว่า “ทุกข์” แปลตามศัพท์ว่า “ทนได้ยาก” นักเรียนนักธรรมแปลกันว่า ความไม่สบายกายไม่สบายใจ นักอธิบายธรรมะรุ่นใหม่บอกว่า ทุกข์คือปัญหา 

เมื่อเพื่อนร่วมโลกเกิดปัญหา เผชิญปัญหา ประสบปัญหา ซึ่งตามปกติในชีวิตประจำวันไม่เคยมีปัญหาแบบนั้น ก็เกิดมามีขึ้น นั่นแหละคือ “เป็นทุกข์”

รายละเอียดของทุกข์มีเป็นอเนกอนันต์ คงนึกเอาเองได้ ไมต้องพรรณนา

ไม่ว่าทุกข์หรือปัญหานั้นจะมากหรือน้อย จะหนักหรือเบา จะเกิดขึ้นชั่วครู่ชั่วคราวหรือเกิดอยู่นานวัน เมื่อเราได้รู้ได้เห็น ท่านสอนให้แผ่เมตตาด้วยวิธี “แผ่กรุณา”

กรุณา” แปลตามศัพท์ว่า –

๑ “ธรรมชาติที่สร้างความสะเทือนใจแก่คนดีเมื่อผู้อื่นมีทุกข์

๒ “ธรรมชาติที่กั้นความสุขไว้” (คือห้ามความสุขตัวเองเพื่อช่วยคนอื่น)

๓ “ธรรมชาติเป็นเครื่องทำตนให้เป็นที่พึ่งอาศัยของคนอื่น

๔ “ธรรมชาติที่กำจัด” (คือกำจัดทุกข์ของผู้อื่น)

๕ “ธรรมชาติที่เบียดเบียน” (คือเบียดเบียนความเห็นแก่ตัวออกไป)

๖ “ธรรมชาติที่กระจาย” (คือแบ่งปันความสุขแก่ผู้อื่น)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กรุณา” ว่า pity, compassion (ความกรุณา, ความสงสาร)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

กรุณา : ความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์, ความหวั่นใจ เมื่อเห็นผู้อื่นมีทุกข์ คิดหาทางช่วยเหลือปลดเปลื้องทุกข์ของเขา.”

ข้อควรเข้าใจ :

(๑) “กรุณา” เป็นคุณธรรมที่สำเร็จได้ด้วยใจเช่นเดียวกับพรหมวิหารธรรมข้ออื่น 

การจะตัดสินว่ามีกรุณาหรือไม่ ต้องพิสูจน์ด้วยใจมีความปรารถนาจะช่วยเปลื้องทุกข์ ไม่ตัดสินกันที่การลงมือทำ

ถ้าใจมีกรุณาที่แท้จริงด้วย และลงมือทำด้วย ก็นับว่าเป็นความดีสองชั้น คือชั้นมีกรุณา และชั้นลงมือทำ

การลงมือทำ (เช่นลงมือช่วยเหลือ) ไม่เป็นเครื่องรับรองที่แท้จริงว่ามีกรุณา อาจทำเพื่อหวังผลตอบแทน หรือทำไปตามหน้าที่ก็ได้ 

(๒) ความแตกต่างระหว่าง “เมตตา” กับ “กรุณา” ก็คือ :

เมตตา : หิตสุขูปนยกามตา = ความปรารถนาที่จะนำสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูลและความสุขเข้าไปให้ (the desire of bringing [to one’s fellowmen] that which is welfare and good)

กรุณา : อหิตทุกฺขาปนยกามตา = ความปรารถนาที่จะกำจัดสิ่งที่มิใช่ประโยชน์เกื้อกูลและความทุกข์ยากจากเพื่อนมนุษย์ (the desire of removing bane and sorrow from one’s fellowmen)

ตรงกับคำที่สังคมไทยคุ้นกัน นั่นคือ “บำบัดทุกข์บำรุงสุข

กรุณา = บำบัดทุกข์

เมตตา = บำรุงสุข

……………

เมื่อจะแผ่กรุณาตามรูปแบบ มีคำบาลีที่กำหนดไว้ดังนี้ –

……………

สพฺเพ  สตฺตา

สพฺพทุกฺขา  ปมุจฺจนฺตุ

……………

เขียนแบบคำอ่านเป็นดังนี้ –

……………

สัพเพ  สัตตา

สัพพะทุกขา  ปะมุจจันตุ

…………..

คำบาลีสลับคำแปลที่นิยมแปลกันเป็นดังนี้ –

……………

สัพเพ  สัตตา = สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น 

สัพพะทุกขา  ปะมุจจันตุ = จงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงเถิด

…………..

เมื่อเห็นเพื่อนร่วมโลกมีปัญหา ก็ตั้งอารมณ์ว่า ขอให้เขาพ้นจากปัญหาทั้งปวงเถิด – นี่คือ “แผ่กรุณา”

อุปสรรคที่ทำให้แผ่ “กรุณา” ได้ไม่เต็มที่หรือแผ่ได้ยากก็คือ “วิหิงสาวิตก” คือความคิดที่จะทำให้เขาทุกข์หนักขึ้นไปอีก เห็นเพื่อนมนุษย์ตกทุกข์แค่นี้ยังไม่สะใจ อยากจะให้มันผู้นั้นลำบากเดือดร้อนหรือวิบัติฉิบหายหนักหนาสาหัสขึ้นไปอีกร้อยเท่าพันเท่า

ใครมีพื้นอารมณ์เป็นอย่างนี้ละก็ แผ่กรุณาได้ยาก

ความคิดจะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่เกิด

สามารถช่วยได้แท้ๆ แต่ไม่ช่วย ใครจะทำไม

ทางแก้ก็คือ ต้องถอยอารมณ์ไปตั้งหลักกันที่-หัดแผ่เมตตาไปก่อน

เริ่มด้วย-หัดวางอารมณ์เป็นกลางๆ ต่อเพื่อนร่วมโลก ใครสุขใครทุกข์ เราทำใจเป็นกลางไว้ก่อน

พอคุ้นกับความเป็นกลางแล้ว ก็เริ่มก้าวแรก-ตั้งอารมณ์ขอให้เขามีสุขตามปกติของเขาต่อไป-นี่คือเมตตา

ครั้นอารมณ์เมตตามั่นคงดี คราวนี้พอเห็นเขามีปัญหามีทุกข์ ก็จะค่อยๆ ก้าวหน้าต่อไป-ตั้งอารมณ์ขอให้เขาพ้นจากทุกข์ จะเริ่มทำได้ง่ายขึ้น-นี่คือกรุณา

…………..

ถ้าจะว่ากันจริงๆ แล้ว แผ่กรุณาเป็นกิจที่ควรทำยิ่งกว่าแผ่เมตตาด้วยซ้ำไป แผ่เมตตาเราใช้เมื่อเห็นเพื่อนมนุษย์มีความสุขอยู่ตามปกติของเขา ซึ่งในยามนั้นแม้ไม่มีใครระลึกถึง เขาก็อยู่เป็นปกติสุขของเขาได้อยู่แล้ว 

แต่ในยามที่เพื่อนมนุษย์มีความทุกข์ มีปัญหาจะต้องแก้ ยามนั้นเขาย่อมต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องการคนเห็นใจ รับรู้ในความทุกข์ของเขา และยามนั้นแหละที่การแผ่กรุณาเป็นกิจที่ควรทำและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่เพื่อนมนุษย์ผู้มีทุกข์มีปัญหาต้องการมากที่สุด

ถ้าเข้าใจได้อย่างนี้ แทนที่จะแผ่เมตตาอย่างเดียว หรือแนะนำสั่งสอนกันให้แผ่แต่เมตตา ก็ควรสนใจที่จะแผ่กรุณาให้แก่กันด้วย และช่วยกันทำให้มากขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็อย่าให้น้อยไปกว่าที่แผ่เมตตา

การแผ่กรุณาเป็นกิจทางใจ และเป็นบุรพภาคแห่งการลงมือช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เพราะเมื่อใจมีกรุณาแล้ว ความกรุณาจะผลักดันให้คิดหาทางช่วยเหลือต่อไป ถ้าช่วยด้วยตัวเองได้ก็จะลงมือช่วย ถ้าตนเองไม่สามารถ ก็จะคิดหาทางบอกกล่าวขอร้องผู้มีความสามารถต่อไปอีก 

สมดังภาษิตที่ผู้รู้กล่าวไว้ว่า –

มหาปุริสภาวสฺส

ลกฺขณํ  กรุณาสโห.

อัชฌาสัยที่ทนไม่ได้เพราะกรุณา

เป็นลักษณะของมหาบุรุษ

ที่มา: สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

พุทธศาสนสุภาษิตเล่ม ๑ ข้อ ๒๐๖

……………………………………..

ตอนต่อไป: 

แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๓-มุทิตา

……………………………………..

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๗ เมษายน ๒๕๖๕

๑๓:๕๘

……………………………………….

ภาพประกอบ: จาก google

……………………………………….

แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๓-มุทิตา

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………………….

แผ่เมตตาให้ถูกวิธี ตอนที่ ๑-เมตตา

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *